| |
คุณสมบัติพิเศษของปริจเฉทรูป   |  

อาจารย์วรรณสิทธิ ไวทยะเสวี อดีตประธานมูลนิธิแนบ มหานีรานนท์รุ.๓๔๖ ได้แสดงคุณลักษณะพิเศษของปริจเฉทรูปไว้ดังต่อไปนี้

[๑] กลาปรูปปริจฺเฉทลกฺขโณ มีการกั้นไว้ซึ่งรูปกลาป เป็นลักษณะ

[๒] รูปปริยนฺตปฺปกาสนรโส มีการแสดงสัดส่วนของรูปกลาป เป็นกิจ

[๓] รูปมาริยาทปจฺจุปฏฺาโน มีการจำแนกรูปกลาปออกจากกัน เป็นผลปรากฏ

[๔] ปริจฺฉินฺนปทฏฺาโน มีรูปที่จะพึงคั่นไว้ เป็นเหตุใกล้ให้เกิด

คำอธิบายเพิ่มเติมของผู้เขียน :

จากลักษณะพิเศษทั้ง ๔ ประการของปริจเฉทรูปที่ท่านได้แสดงไปแล้วนั้น ผู้เขียนจักอธิบายขยายความหมายเพิ่มเติ่มเพื่อความเข้าใจรายละเอียดของคุณสมบัติแต่ละอย่างเหล่านั้นให้ยิ่งขึ้น ดังต่อไปนี้

[๑] กลาปรูปปริจฺเฉทลกฺขโณ มีการกั้นไว้ซึ่งรูปกลาป เป็นลักษณะ หมายความว่า คุณสมบัติอันเป็นลักษณะพิเศษเฉพาะตนของปริจเฉทรูปนี้ ก็คือ สภาพอากาศที่เป็นความว่างเปล่า เหมือนกับช่องว่าง เป็นรูปที่คั่นรูปกลาปหนึ่งกับรูปกลาปอื่น ๆ ไว้ไม่ให้ติดเป็นอันเดียวกัน ทำให้รูปปรากฏเป็นกลุ่มก้อน เป็นจำนวน และมีขอบเขตที่สามารถกำหนดรูปร่างสัณฐานของรูปเหล่านั้นได้

[๒] รูปปริยนฺตปฺปกาสนรโส มีการแสดงสัดส่วนของรูปกลาป เป็นกิจ หมายความว่า ปริจเฉทรูปนี้มีหน้าที่อันสำเร็จด้วยอำนาจแห่งคุณสมบัติของตน ที่เรียกว่า สัมปัตติรส คือ การแสดงสัดส่วนรูปร่างสัณฐานแห่งรูปทั้งหลายให้ปรากฏได้ เพราะอาศัยมีปริจเฉทรูปนี้ปรากฏตรงกลางระหว่างรูปกลาปหนึ่งกับอีกรูปกลาปหนึ่ง หรือระหว่างรูปอย่างหนึ่งกับรูปอีกอย่างหนึ่ง ทำให้รูปนั้นแยกกันได้เป็นส่วน ๆ ปรากฏรูปร่างสัณฐานได้ ทำให้บุคคลกำหนดเรียกชื่อได้ว่า สิ่งนั้น สิ่งนี้ เป็นต้น

[๓] รูปมาริยาทปจฺจุปฏฺาโน มีการจำแนกรูปกลาปออกจากกัน เป็นผลปรากฏ หมายความว่า สภาพปรากฏอันเป็นผลสำเร็จของปริจเฉทรูป ก็คือ การที่อากาศธาตุ คือ ความว่างเปล่านั้นปรากฏคั่นระหว่างทำให้รูปแยกออกจากกันได้นั่นเอง เป็นเครื่องมือให้บุคคลสามารถกำหนดวินิจฉัยรูปได้ว่า รูปนั้นมีรูปร่างสัณฐานอย่างนั้น รูปนี้มีรูปร่างสัณฐานอย่างนี้ เป็นต้น

[๔] ปริจฺฉินฺนปทฏฺาโน มีรูปที่จะพึงคั่นไว้ เป็นเหตุใกล้ให้เกิด หมายความว่า ปริจเฉทรูปนี้จะปรากฏคั่นระหว่างได้นั้น จะต้องมีรูปปรากฏเกิดขึ้น ถ้าไม่มีรูปใด ๆ ปรากฏเกิดขึ้นเลย ความเป็นปริจเฉทรูปนี้ย่อมสำเร็จไม่ได้เช่นเดียวกัน เช่น ในอรูปภูมิ ซึ่งเป็นภูมิที่ไม่มีรูปใด ๆ เกิดขึ้นเลย เพราะเหตุนั้น ในอรูปภูมินั้นจึงไม่มีแม้แต่ปริจเฉทรูปเกิดขึ้น [แม้จะมีอากาศที่ว่างเปล่าอยู่ก็ตาม แต่ก็ไม่เรียกว่า ปริจเฉทรูป เพราะไม่ได้แสดงคุณสมบัติและหน้าที่ของตน กล่าวคือ การคั่นระหว่างรูปกลาปหนึ่งกับรูปกลาปหนึ่งนั่นเอง]


เกี่ยวกับตำราอภิธรรม ออนไลน์ (Disclaimer)
ตำราอภิธรรมออนไลน์ พัฒนาขึ้นโดยความร่วมมือของอภิธรรมมหาวิทยาลัย วัดระฆังฯ วัดญาณเวศกวัน และ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ เพื่อนำเสนอสื่อธรรมสำหรับการศึกษาค้นคว้า โดยได้รับอนุญาต และเอกสารต้นฉบับจากผู้เขียน ดังนี้
(๑) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๒), จิตปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๑, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๒) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๖), เจตสิกปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๒, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๓) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๖๓), รูปปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๖, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
ผู้สนใจศึกษาสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับหนังสือ และหลักสูตรการศึกษาได้ที่ สำนักงานอภิธรรมมหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย วัดระฆังโฆษิตารามวรมหาวิหาร (คณะ ๗) แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ ๑๐๗๐๐ โทร ๐๒ ๔๑๑ ๔๕๔๖, ๑๒ ๔๑๒ ๑๐๘๔, ๐๘๖ ๐๓๘ ๒๙๓๓


  |