| |
ความหมายของกามาวจรจิต ๓ ประการ   |  

กามาวจรจิต เมื่อสรุปแล้ว มีความหมายเป็น ๓ ประการ กล่าวคือ

๑. จิตที่รับกามอารมณ์โดยมาก หมายความว่า เป็นจิตที่สามารถรับกามอารมณ์ คือ อารมณ์อันน่าใคร่น่าปรารถนาน่าชอบใจของกามตัณหาได้ทั้ง ๖ อารมณ์ ได้แก่ รูป [สี] เสียง กลิ่น รส สัมผัส และความรู้สึกนึกคิดที่เป็นไปในกามโลกโดยมาก แต่สามารถรับอารมณ์อย่างอื่นได้บ้าง คือ

๑] อกุศลจิต สามารถรับพวกบัญญัติอารมณ์ มหัคคตอารมณ์ อันได้แก่ อารมณ์สมถะ รูปฌาน อรูปฌาน หรือโลกียอารมณ์ทั้งปวง อันได้แก่ โลกียจิต ๘๑ เจตสิก ๕๒ รูป ๒๘ และบัญญัติอารมณ์ต่าง ๆ ได้ตามสมควร

๒] มหากุศลจิต มหากิริยาจิต สามารถรับบัญญัติอารมณ์และมหัคคตอารมณ์ อันได้แก่ อารมณ์สมถะ มหัคคตจิต และเจตสิกที่ประกอบ อนึ่ง มหากุศลจิต มหากิริยาจิต ที่เป็นญาณสัมปยุตต์ สามารถรับโลกุตตรอารมณ์ อันได้แก่ มรรคจิต ผลจิต นิพพาน ได้ตามสมควร

๓] มโนทวาราวัชชนจิต สามารถรับอารมณ์ได้ทั่วไปทั้งหมด ไม่มีเหลือ หมายความว่า มโนทวาวัชชนจิตนี้ เมื่อเกิดทางปัญจทวารย่อมทำหน้าที่โวฏฐัพพนะ คือ ตัดสินอารมณ์ ซึ่งสามารถรับปัญจารมณ์ ได้แก่ อารมณ์ ๕ คือ รูป [สี] เสียง กลิ่น รส สัมผัสได้ทั้งหมด และเมื่อเกิดทางมโนทวาร ย่อมทำหน้าที่อาวัชชนะ คือ หน่วงเหนี่ยวหรือพิจารณาอารมณ์เป็นครั้งแรก ซึ่งสามารถรับอารมณ์ ๖ ได้แก่ รูป [สี] เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะทั้งหมดที่ปรากฏทางมโนทวารโดยสภาพเป็นธัมมารมณ์ คือ สภาพอารมณ์เหล่านั้นที่รับรู้ทางใจนั่นเอง

แต่ว่าจิตเหล่านี้ รับได้ไม่เสมอไป หรือไม่ใช่จะรับได้ทั่วไปทุกคน รับได้เป็นบางครั้งบางคราว หรือรับได้เฉพาะบางบุคคลเท่านั้น แต่โดยปกติแล้วจะรับกามอารมณ์ ฉะนั้น จึงชื่อว่า เป็นจิตที่รับกามอารมณ์โดยมาก

๒. จิตที่เกิดอยู่ในกามภูมิ ๑๑ โดยมาก หมายความว่า จิตเหล่านี้ เกิดอยู่กับบุคคลที่เกิดอยู่ในกามภูมิ คือ อบายสัตว์ ๔ มนุษย์ ๑ เทวดา ๖ ชั้นเป็นประจำ นอกจากบุคคลนั้น ได้ฌาน อภิญญา มรรค ผล จึงจะมีจิตประเภทอื่นเกิดแทรกขึ้นมาบ้าง ถ้าไม่ได้คุณวิเศษอย่างอื่น ก็จะมีแต่กามาวจรจิตเท่านั้นเกิด อนึ่ง จิตเหล่านี้ ย่อมสามารถเกิดกับบุคคลที่เกิดในรูปภูมิและอรูปภูมิได้ตามสมควร คือ

๑] โลภมูลจิต ๘ โมหมูลจิต ๒ สามารถเกิดได้กับรูปพรหม และอรูปพรหมที่ยังเป็นปุถุชนอยู่

๒] ทิฏฐิคตวิปปยุตตจิต ๔ อุทธัจจสัมปยุตตจิต ๑ สามารถเกิดได้กับรูปพรหมและอรูปพรหม ที่เป็นพระโสดาบัน พระสกิทาคามี และพระอนาคามี

๓] จักขุวิญญาณจิต ๒ โสตวิญญาณจิต ๒ สัมปฏิจฉนจิต ๒ สันตีรณจิต ๓ ปัญจทวาราวัชชนจิต ๑ สามารถเกิดได้กับพวกรูปพรหม ๑๕ ภูมิ ทุกจำพวก [ยกเว้นอสัญญสัตตพรหม ซึ่งไม่มีจิตเกิดเลย]

๔] มหากุศลจิต ๘ สามารถเกิดได้กับรูปพรหมและอรูปพรหม ที่เป็นปุถุชน พระโสดาบัน พระสกิทาคามี และพระอนาคามี

๕] มหากิริยาจิต ๘ สามารถเกิดได้กับรูปพรหมและอรูปพรหมที่เป็นพระอรหันต์

๖] หสิตุปปาทจิต ๑ สามารถเกิดกับพระอรหันต์ที่เป็นรูปพรหมได้

๗] มโนทวาราวัชชนจิต ๑ สามารถเกิดได้กับรูปพรหมและอรูปพรหมทั้งหมด [เพราะเป็นจิตที่เกิดได้กับบุคคลที่มีจิตเกิดได้ทั้งหมด]

แต่เนื่องจากจิตเหล่านี้ เกิดอยู่กับบุคคลที่เกิดอยู่ในกามภูมิเป็นปกติ ฉะนั้น จึงชื่อว่า เป็นจิตที่เกิดอยู่ในกามภูมิ ๑๑ โดยมาก

๓. จิตที่ข้องอยู่ในอำนาจแห่งกามตัณหาโดยมาก หมายความว่า จิตเหล่านี้ มีความเกี่ยวเนื่องอยู่ในกามคุณอารมณ์และถูกกิเลสกามทั้งหลายยึดหน่วงเป็นอารมณ์โดยมาก กล่าวคือ

๑] มีสภาพเกี่ยวเนื่องและแปดเปื้อนด้วยกามตัณหาโดยมาก คือ ความยินดี พอใจ ติดใจและพัวพันอยู่ในกามคุณอารมณ์โดยมาก ได้แก่ อกุศลจิต ๑๒ และเจตสิกที่ประกอบ ๒๗ ดวงตามสมควร

๒] รับกามอารมณ์ หรือ เป็นอารมณ์ของกิเลสกามโดยมาก ได้แก่ อเหตุกจิต ๑๘ กามาวจรโสภณจิต ๒๔ และเจตสิกที่ประกอบ ๓๘ ดวงตามสมควร

๓] อเหตุกจิต ๑๗ [เว้นมโนทวาราวัชชนจิต ๑] มหาวิปากจิต ๘ รวม ๒๕ ดวงนี้ เป็นจิตที่รับกามอารมณ์อย่างเดียว และเป็นอารมณ์ของกิเลสกามอย่างเดียว เรียกว่า ปริตตารัมมณธรรม โดยส่วนเดียว

ส่วนมหากุศลจิต ๘ มหากิริยาจิต ๘ นั้น ถึงแม้จะสามารถรับอารมณ์อื่นได้บ้าง แต่ไม่เสมอไป รับได้เป็นบางครั้งบางคราวและเป็นบางบุคคลเท่านั้น กล่าวคือ

บุคคลใดมีประสบการณ์ในการเสพคุ้นในอารมณ์ใด มหากุศลจิต [ของปุถุชนและพระเสกขบุคคล ๓] หรือมหากิริยาจิต [ของพระอรหันต์] นั้น สามารถตอบสนองต่ออารมณ์นั้นได้ตามสมควรแก่ความถนัดเจนจัดหรือชำนาญ

อนึ่ง บุคคลใดได้ทำการฝึกฝนพัฒนาสภาพของจิตให้ประณีตยิ่งขึ้นโดยลำดับ มหากุศลจิต [ของปุถุชนและพระเสกขบุคคล ๓] นั้นก็สามารถรับรู้อารมณ์ที่เป็นโลกุตตรธรรมได้ กล่าวคือ มหากุศลญาณสัมปยุตตจิตที่เกิดในมัคควิถี สามารถรับพระนิพพานเป็นอารมณ์ได้ และที่เกิดในปัจจเวกขณวิถี สามารถรับมรรคญาณ ผลญาณ [ของบุคคลนั้น ๆ] และนิพพานเป็นอารมณ์ได้ หรือมหากิริยาญาณสัมปยุตตจิต [ของพระอรหันต์] ในปัจจเวกขณวิถี ย่อมสามารถรับอรหัตตมรรค อรหัตตผลและนิพพานเป็นอารมณ์ได้

สรุปความแล้ว

มหากุศลญาณวิปปยุตตจิต ๔ และมหากิริยาญาณวิปปยุตตจิต ๔ สามารถรับได้ทั้งกามอารมณ์ มหัคคตอารมณ์และบัญญัติอารมณ์ ตามสมควรแก่ความสามารถของบุคคลนั้น ๆ ที่จะรับได้

มหากุศลญาณสัมปยุตตจิต ๔ สามารถรับได้ทั้งกามอารมณ์ มหัคคตอารมณ์ โลกุตตรอารมณ์ [ยกเว้นอรหัตตมรรคอรหัตตผล] และบัญญัติอารมณ์ ตามสมควรแก่ความสามารถของบุคคลนั้น ๆ ที่จะรับได้

มหากิริยาญาณสัมปยุตตจิต สามารถรับได้ทั้งกามอารมณ์ มหัคคตอารมณ์ โลกุตตรอารมณ์และบัญญัติอารมณ์ทั้งหมด ตามสมควรแก่ความสามารถของพระอรหันต์นั้น ๆ ที่จะรับได้

แต่ที่กล่าวมานี้ ย่อมเป็นไปเฉพาะบางบุคคลและบางโอกาสเท่านั้น ไม่ทั่วไปแก่บุคคลและโอกาสทั้งปวง ซึ่งนอกจากบุคคลและโอกาสเหล่านี้แล้ว มหากุศลจิต [ของปุถุชนทั่วไป] ก็รับกามอารมณ์อยู่เป็นปกตินั่นเอง ฉะนั้น จึงจัดอยู่ในจำพวกกามาวจรจิต

สรุปความว่า กามาวจรจิตเหล่านี้ สามารถเกิดได้กับบุคคลที่เกิดอยู่ในรูปภูมิและอรูปภูมิก็ได้บ้าง แต่เป็นบางดวงเท่านั้นไม่ทั่วไปทั้งหมด อนึ่ง กามาวจรจิตบางดวง ก็สามารถรับอารมณ์อื่น ๆ ได้บ้าง แต่เป็นไปโดยส่วนน้อยและจำกัดเฉพาะบางคนเท่านั้น โดยทั่วไปแล้ว มีความเป็นไปเกี่ยวเนื่องกับกามอารมณ์ ฉะนั้น จึงกล่าวว่า เป็นจิตที่เกิดได้กับกามบุคคลและรับกามอารมณ์โดยมาก [ใช้คำว่า โดยมาก]


เกี่ยวกับตำราอภิธรรม ออนไลน์ (Disclaimer)
ตำราอภิธรรมออนไลน์ พัฒนาขึ้นโดยความร่วมมือของอภิธรรมมหาวิทยาลัย วัดระฆังฯ วัดญาณเวศกวัน และ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ เพื่อนำเสนอสื่อธรรมสำหรับการศึกษาค้นคว้า โดยได้รับอนุญาต และเอกสารต้นฉบับจากผู้เขียน ดังนี้
(๑) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๒), จิตปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๑, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๒) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๖), เจตสิกปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๒, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๓) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๖๓), รูปปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๖, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
ผู้สนใจศึกษาสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับหนังสือ และหลักสูตรการศึกษาได้ที่ สำนักงานอภิธรรมมหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย วัดระฆังโฆษิตารามวรมหาวิหาร (คณะ ๗) แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ ๑๐๗๐๐ โทร ๐๒ ๔๑๑ ๔๕๔๖, ๑๒ ๔๑๒ ๑๐๘๔, ๐๘๖ ๐๓๘ ๒๙๓๓


  |