| |
โทษที่เกิดจากความโกรธ ๘ ประการ   |  

๑. ปิสุณวาจา คือ การกล่าววาจาส่อเสียด ใส่ร้ายป้ายสีบุคคลอื่นหรือสิ่งอื่นที่ตนเองไม่ชอบใจ ทำให้บุคคลอื่นเกิดความเสียหาย หรือทำให้หมู่คณะแตกแยกสามัคคีกัน และบุคคลนั้นย่อมประสบความทุกข์นานัปประการ เช่น ไม่เป็นที่ไว้วางใจของบุคคลทั้งหลาย ไม่มีใครรักใคร่นับถือ ไม่มีใครจงรักภักดีด้วยใจบริสุทธิ์ ตายแล้วย่อมตกนรกหมกไหม้และเวียนว่ายอยู่ในอบายภูมินับภพชาติไม่ถ้วน ถ้ากลับมาเกิดในสุคติภูมิ ย่อมเกิดในตระกูลต่ำต้อย เป็นที่ดูถูกดูหมิ่นของบุคคลทั้งหลาย หรือถูกใส่ร้ายป้ายสีด้วยเรื่องที่ไม่เป็นจริง ไม่มีใครคบหาสมาคมเป็นมิตรอย่างแท้จริง ไม่มีใครจงรักภักดีด้วยใจอันบริสุทธิ์ และทำให้บุคคลนั้นต้องกล่าววาจาส่อเสียดอยู่เสมอ หรือหาเรื่องใส่ร้ายป้ายสีบุคคลอื่นอยู่เสมอ เป็นสันดานติดตัวไปอีก

๒. ทรยศ คือ บุคคลผู้เจ้าโทสะ มีใจประทุษร้ายบุคคลอื่นอยู่เสมอ ย่อมแสดงอาการทรยศบุคคลผู้มีคุณ หรือผู้เป็นมิตรสหายของตน ไม่อนุโมทนาในทรัพย์สมบัติหรือคุณความดีของบุคคลอื่น มีความทะเยอทะยานให้ได้ดีเหมือนบุคคลอื่น เรียกว่า ตีตัวเสมอท่าน มีความมักใหญ่ใฝ่สูงเหนือบุคคลอื่น เรียกว่า ยกตนข่มท่าน บุคคลเช่นนี้ ย่อมได้รับแต่ความทุกข์ความเดือดร้อนอยู่เสมอ อยู่เป็นสุขไม่ได้ มักหาเรื่องใส่ตัว หาชั่วใส่บุคคลอื่นอยู่เสมอ จนไม่มีใครอยากคบหาสมาคมด้วยใจจริง สุดท้ายย่อมกลายเป็นคนไร้ยศหมดตำแหน่ง ไร้ที่พึ่งพิง อยู่เป็นทุกข์ในที่ทุกสถานในกาลทุกเมื่อ ทั้งในโลกนี้ เมื่อตายไปแล้ว ย่อมทุกข์ในอบายหาประมาณมิได้ และสั่งสมนิสัยสันดานแห่งความทรยศต่อไปอีก

๓. ความมุทะลุดุดัน คือ บุคคลผู้มากด้วยโทสะ มีจิตใจหยาบกระด้าง ไม่อ่อนน้อม ย่อมแสดงอาการมุทะลุดุดัน โดยไร้เหตุผล ขาดปัญญาในการพิจารณาเหตุผลให้ถี่ถ้วน จึงมักกระทำสิ่งต่าง ๆ ลงไปโดยพละการ อันทำให้เกิดความเสื่อมเสียและความทุกข์ร้อนตามมาอยู่เสมอ บางคนถึงกับพลาดพลั้งกระทำความผิดอันร้ายแรงจนยากที่จะแก้ไขเยียวยาได้ หรือบางคนก็พลาดโอกาสที่จะได้รับสิ่งที่ดีงามไปอย่างน่าเสียดาย

๔. ริษยา คือ ความอิจฉาริษยาในทรัพย์สมบัติหรือคุณความดีของบุคคลอื่น ด้วยอำนาจความไม่พอใจ ไม่ต้องการเห็นบุคคลอื่นได้ดีมีความสุขเหมือนตนเองหรือเหนือกว่าตนเอง ย่อมทำให้บุคคลนั้นมีใจตกไปในฝักฝ่ายแห่งโทสาคติ มักลำเอียงต่อบุคคลอื่นด้วยอำนาจความโกรธ ความไม่ชอบใจ มักแสดงอาการริษยาบุคคลอื่นอยู่เสมอ แม้จะได้รับความอุปถัมภ์ค้ำชูช่วยเหลือเกื้อกูลจากบุคคลอื่นมากมายก็ตาม แต่นิสัยความริษยาย่อมไม่หดหายไป สุดท้ายก็ไม่มีใครเชื่อถือไว้วางใจ และไม่มีใครคบหาสมาคมด้วยใจบริสุทธิ์ บุคคลนั้นย่อมไร้อำนาจหมดวาสนาลง

๕. อิจฉา คือ ความปรารถนาลามก มีความปรารถนาให้บุคคลทั้งหลายมาจงรักภักดีสวามิภักดิ์ต่อตนคนเดียว ไม่ต้องการให้ไปสนใจบุคคลอื่น เมื่อไม่ได้ดังใจปรารถนา หรือบุคคลทั้งหลายไม่กระทำตามที่ตนปรารถนา ย่อมเกิดความไม่พอใจและอาฆาตพยาบาทจองเวร หาทางทำลายให้บุคคลเหล่านั้นเสียชื่อเสียง พังพินาศย่อยยับไป บุคคลไหนแสดงอาการจงรักภักดีหรือสวามิภักดิ์รักใคร่เคารพยำเกรง ก็เห็นเป็นความดีงามไปหมด แม้บุคคลนั้นจะไม่มีดีอยู่เลยก็ตาม บุคคลประเภทนี้ เรียกว่า อิจฉาปกตบุคคล แปลว่า บุคคลผู้ตกอยู่ในอำนาจความอิจฉา มีความปรารถนาลามก ตกอยู่ใต้อำนาจความอยาก ย่อมหาบุคคลที่จงรักภักดีหรือสวามิภักดิ์ด้วยใจบริสุทธิ์ได้ยาก เมื่อหมดอำนาจวาสนาลง ย่อมไม่มีใครสนใจเหลียวแล

๖. ชิงดีชิงเด่น คือ ความทะยานอยากที่ไม่รู้จักพอ เมื่อมีช่องทางหรือโอกาสก็หาวิธีการชิงดีชิงเด่น แม้กับบุคคลผู้มีคุณูปการะต่อตนเองมาก่อน ก็ไม่คำนึงถึงบุญคุณนั้น ย่อมหาทางประทุษร้ายทำลายช่องทางเจริญของบุคคลนั้นเสีย เพื่อให้ตนเองได้โอกาสในการมีชื่อเสียงเกียรติยศ ด้วยอำนาจความลบหลู่บุญคุณท่าน การตีตนเสมอท่าน และความปรารถนาลามก ทำให้เกิดความวุ่นวายเดือดร้อนในสังคม สุดท้ายบุคคลเหล่านี้ย่อมตกทุกข์ได้ยาก ถึงความตกอับคับแค้นใจ และอยู่อย่างเป็นทุกข์ ไม่มีใครไว้วางใจ หรือไม่มีใครประสงค์จะช่วยเหลือเกื้อกูล ย่อมเป็นทุกข์ทั้งในโลกนี้และโลกหน้า

๗. ด่าทอ คือ ความเป็นคนมีใจชั่วปากร้าย สั่งสมความเก็บกดทางจิตใจ ด้วยความทะเยอทะยานมักใหญ่ใฝ่สูง มองคนอื่นผิดไปหมดหรือต่ำต้อยไปหมด จนกลายเป็นคนมีนิสัยที่หยาบกระด้าง ใครทำให้ไม่ถูกใจนิดหน่อย ก็ด่าทอให้เกิดความเสียหาย เกิดความเจ็บใจ กลายเป็นคนนิสัยต่ำทราม และไร้ยศไร้เกียรติศักดิ์ศรี ไม่มีใครคบหาสมาคมหรือจงรักภักดีด้วยใจบริสุทธิ์ ย่อมอยู่เป็นทุกข์ทั้งในชาตินี้และชาติหน้า

๘. ผรุสวาจา คือ กล่าววาจาหยาบคาย บุคคลผู้เจ้าโทสะนั้น จิตใจย่อมหยาบกระด้าง ไม่อ่อนโยน คำพูดที่แสดงออกมาโดยมากมักกล่าวคำหยาบคาย จนติดเป็นนิสัย เป็นคนพูดคำอ่อนหวานไม่ได้ และฝึกหัดดัดนิสัยได้ยาก กลายเป็นคนที่ไร้คุณค่า คนดีไม่อยากเข้าใกล้ ไม่อยากคบหาสมาคมด้วย ย่อมมีแต่เหล่าคนพาลสันดานหยาบประเภทเดียวกันคบหาเป็นพวก เพราะเห็นแก่ประโยชน์ที่จะพึงมีพึงได้ ถ้าไม่มีประโยชน์ให้เขาแล้ว แม้แต่เหล่าคนพาลด้วยกันก็ไม่คบหาสมาคมด้วย ย่อมเป็นคนไร้ญาติขาดมิตรที่จะมาเป็นบริวารแวดล้อม จึงต้องอยู่อย่างโดดเดี่ยวเป็นทุกข์ลำบากเดือดร้อน จิตใจย่อมเศร้าหมอง ตายไปย่อมไปสู่ทุคติ วินิบาต นรก


เกี่ยวกับตำราอภิธรรม ออนไลน์ (Disclaimer)
ตำราอภิธรรมออนไลน์ พัฒนาขึ้นโดยความร่วมมือของอภิธรรมมหาวิทยาลัย วัดระฆังฯ วัดญาณเวศกวัน และ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ เพื่อนำเสนอสื่อธรรมสำหรับการศึกษาค้นคว้า โดยได้รับอนุญาต และเอกสารต้นฉบับจากผู้เขียน ดังนี้
(๑) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๒), จิตปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๑, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๒) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๖), เจตสิกปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๒, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๓) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๖๓), รูปปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๖, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
ผู้สนใจศึกษาสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับหนังสือ และหลักสูตรการศึกษาได้ที่ สำนักงานอภิธรรมมหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย วัดระฆังโฆษิตารามวรมหาวิหาร (คณะ ๗) แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ ๑๐๗๐๐ โทร ๐๒ ๔๑๑ ๔๕๔๖, ๑๒ ๔๑๒ ๑๐๘๔, ๐๘๖ ๐๓๘ ๒๙๓๓


  |