| |
ความหมายของปสาทรูป   |  

ในคัมภีร์อภิธัมมัตถสังคหะและอภิธัมมัตถวิภาวินีรุ.๑๒๘ ท่านได้แสดงความหมายของปสาทรูปไว้เพียงสั้น ๆ ดังต่อไปนี้

ชื่อว่า ปสาทรูป เพราะมีลักษณะเป็นเหตุแห่งความผ่องใสของมหาภูตรูปทั้ง ๔ ฯ ก็ปสาทรูปนั้น มีลักษณะทำให้มหาภูตรูปที่มีกรรมเป็นสมุฏฐาน อันมีความประสงค์เพื่อจะดู จะฟัง จะดม จะลิ้ม และจะสัมผัส เป็นเหตุ ให้ผ่องใสตามลำดับ

อาจารย์วรรณสิทธิ ไวทยะเสวี อดีตประธานมูลนิธิแนบ มหานีรานนท์, และมูลนิธิสถานที่ไม่ตั้งอยู่ในความประมาทรุ.๑๒๙ ได้แสดงความหมายของปสาทรูปไว้ดังต่อไปนี้

คำว่า ปสาท แปลว่า ความใส, ปสาทรูป หมายถึง รูปที่มีความใส มีความสามารถในการรับอารมณ์ได้ คล้ายกระจกเงาที่มีความใส ย่อมสามารถรับภาพต่าง ๆ ภายนอกได้ ถ้ากระจกเงาขุ่นมัวเสียแล้ว ย่อมไม่สามารถรับภาพเหล่านั้นได้เลย

ปสาทรูป คือ รูปที่มีความใสนี้มีอยู่ ๕ อย่าง ต่าง ๆ กัน ได้แก่ จักขุปสาทรูป โสตปสาทรูป ฆานปสาทรูป ชิวหาปสาทรูป และกายปสาทรูป

ปสาทรูป คือ รูปที่เป็นความใสซึ่งเกิดจากกรรม มีความสามารถในการรับอารมณ์ได้ มี ๕ รูป ได้แก่

๑. จักขุปสาทรูป ได้แก่ ประสาทตา

๒. โสตปสาทรูป ได้แก่ ประสาทหู

๓. ฆานปสาทรูป ได้แก่ ประสาทจมูก

๔. ชิวหาปสาทรูป ได้แก่ ประสาทลิ้น

๕. กายปสาทรูป ได้แก่ ประสาทกาย

ปสาทรูปทั้ง ๕ นี้มีสภาพเป็นความใส อันเกิดจากกรรมเป็นสมุฏฐานอย่างเดียว สามารถรับอารมณ์ได้ และยังผลให้สำเร็จกิจเป็นกุศลหรืออกุศลได้

บทสรุปของผู้เขียน :

คำว่า ปสาท แปลว่า ความใส, ปสาทรูป จึงหมายถึง รูปที่มีความใส สามารถรับกระทบกับอารมณ์ได้ คล้ายกระจกเงาที่มีความใส ย่อมสามารถรับภาพต่าง ๆ ภายนอกได้ ถ้ากระจกเงาขุ่นมัวหรือหมดสภาพแห่งความใสเสียแล้ว ย่อมไม่สามารถรับภาพเหล่านั้นได้เลย


เกี่ยวกับตำราอภิธรรม ออนไลน์ (Disclaimer)
ตำราอภิธรรมออนไลน์ พัฒนาขึ้นโดยความร่วมมือของอภิธรรมมหาวิทยาลัย วัดระฆังฯ วัดญาณเวศกวัน และ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ เพื่อนำเสนอสื่อธรรมสำหรับการศึกษาค้นคว้า โดยได้รับอนุญาต และเอกสารต้นฉบับจากผู้เขียน ดังนี้
(๑) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๒), จิตปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๑, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๒) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๖), เจตสิกปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๒, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๓) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๖๓), รูปปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๖, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
ผู้สนใจศึกษาสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับหนังสือ และหลักสูตรการศึกษาได้ที่ สำนักงานอภิธรรมมหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย วัดระฆังโฆษิตารามวรมหาวิหาร (คณะ ๗) แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ ๑๐๗๐๐ โทร ๐๒ ๔๑๑ ๔๕๔๖, ๑๒ ๔๑๒ ๑๐๘๔, ๐๘๖ ๐๓๘ ๒๙๓๓


  |