ไปยังหน้า : |
อัญญสมานเจตสิก หมายถึง เจตสิกที่เหมือนธรรมอื่น หรือ มีสภาพเสมอด้วยธรรมอื่น ได้แก่ กุศลธรรม อกุศลธรรม อัพยากตธรรม หมายความว่า อัญญสมานเจตสิกนี้ สามารถประกอบกับจิตและเจตสิกได้ทุกประเภท คือ ประกอบกับโสภณจิตก็ได้ อโสภณจิตก็ได้ หรือ ประกอบกับอกุศลจิตก็ได้ ประกอบกับกุศลจิตก็ได้ ประกอบกับวิบากจิตก็ได้ ประกอบกับกิริยาจิตก็ได้ ตามสมควรแก่สภาวธรรมที่จะประกอบได้ แบ่งเป็น ๒ จำพวก
๑. สัพพจิตตสาธารณเจตสิก หมายถึง เจตสิกที่สามารถประกอบกับจิตได้ทุกดวง ไม่มียกเว้น หมายความว่า สัพพจิตตสาธารณเจตสิก ย่อมเกิดขึ้นพร้อมกับจิตได้ทุกดวง ไม่ว่าจะเป็นจิตประเภทใดก็ตาม คือ จะเป็นอกุศลจิตก็ตาม กุศลจิตก็ตาม วิบากจิตก็ตาม หรือกิริยาจิตก็ตาม เมื่อจิตดวงใดดวงหนึ่งเกิดขึ้น ย่อมมีสัพพจิตตสาธารณเจตสิกเหล่านี้เกิดพร้อมด้วยเสมอ ขาดเสียดวงใดดวงหนึ่งไม่ได้ เพราะสัพพจิตตสาธารณเจตสิกเหล่านี้ เป็นสภาวธรรมที่เป็นพื้นฐานให้จิตรับรู้อารมณ์ได้ ถ้าไม่มีสัพพจิตตสาธารณเจตสิกเหล่านี้เกิดร่วมด้วย จิตย่อมไม่สามารถรับรู้อารมณ์ได้ เพราะฉะนั้น เจตสิกกลุ่มนี้ จึงได้ชื่อว่า สัพพจิตตสาธารณเจตสิก แปลว่า เจตสิกที่ประกอบได้ทั่วไปในจิตทั้งหมด
๒. ปกิณณกเจตสิก หมายถึง กลุ่มเจตสิกที่ประกอบเรี่ยรายกระจัดกระจายไปในจิตทุกประเภท ทั้งกุศลจิต อกุศลจิต วิบากจิต และกิริยาจิต หรือประกอบทั่วไปทั้งในกลุ่มของอโสภณจิตและโสภณจิต แต่ประกอบไม่ได้ทุกดวง เหมือนอย่างกลุ่มของสัพพจิตตสาธารณเจตสิก หมายความว่า กลุ่มปกิณณกเจตสิกเหล่านี้ ย่อมประกอบกับจิตได้เป็นบางดวง ตามสมควรแก่สภาพของเจตสิกนั้น ๆ ที่สามารถจะประกอบกับจิตแต่ละประเภทแต่ละดวงได้ ถ้าสภาวะไม่ตรงกัน หรือไม่เหมาะสมกัน เจตสิกที่อยู่ในกลุ่มของปกิณณกเจตสิกนี้ ย่อมไม่เข้าประกอบ ด้วยเหตุนี้ เจตสิกกลุ่มนี้ จึงได้ชื่อว่า ปกิณณกเจตสิก แปลว่า เจตสิกที่ประกอบเรี่ยรายกระจัดกระจายทั่วไปในจิตประเภทต่าง ๆ แต่ไม่ได้ประกอบกับจิตทุกดวง ประกอบได้เป็นบางดวงเท่านั้น