| |
จำแนกรูป ๑๗ ที่เกิดในอสัญญสัตตภูมิโดยสมุฏฐาน ๒   |  

รูปที่เกิดในอสัญญสัตตภูมิจำนวน ๑๗ รูปนั้น เมื่อจำแนกโดยสมุฏฐานแล้ว ย่อมได้เพียง ๒ สมุฏฐาน คือ กัมมสมุฏฐานและอุตุสมุฏฐาน เพราะอสัญญสัตตพรหมเป็นพรหมที่ไม่มีจิตและเจตสิก เพราะฉะนั้น รูปที่เกิดจากจิตเป็นสมุฏฐานจึงไม่มี และรูปที่เกิดจากอาหารเป็นสมุฏฐานก็ไม่มี เป็นธรรมดาสำหรับพวกพรหมอยู่แล้ว ด้วยเหตุนี้ จิตตสมุฏฐานิกรูปและอาหารสมุฏฐานิกรูปจึงไม่มีแก่พวกอสัญญสัตตพรหม

ในจำนวนรูปที่เกิดจากสมุฏฐานทั้ง ๒ ของพวกอสัญญสัตตพรหมนั้น กัมมชรูป ย่อมเกิดได้ ๑๐ รูป ได้แก่ อวินิพโภครูป ๘ ปริจเฉทรูป ๑ ชีวิตรูป ๑ รวมเป็น ๑๐ รูป อุตุชรูปย่อมเกิดได้ ๑๒ รูป [เว้นสัททรูป] รวมเป็นรูปที่เกิดได้โดยพิสดารมีจำนวน ๒๒ รูป และเมื่อรวมกับลักขณรูปของทั้ง ๒ สมุฏฐานอีก ๘ รูปแล้ว จึงเป็นจำนวนรูปที่เกิดได้ในอสัญญสัตตภูมิโดยพิสดาร ๓๐ รูป แต่ถ้านับอย่างธรรมดาสามัญแล้ว ก็คงได้จำนวนรูป ๑๗ นั่นเอง

ข้อสังเกต... การที่นับลักขณรูป ๔ รวมเข้ากับรูปที่เกิดจากสมุฏฐานทั้ง ๔ ดังกล่าวมาแล้วนั้น เป็นการนับโดยรวม กล่าวคือ กัมมชรูป ๑๘ รวมกับลักขณรูป ๔ รวมเป็น ๒๒ รูป จิตตชรูป ๑๕ รวมกับลักขณรูป ๔ รวมเป็น ๑๙ รูป ดังนี้เป็นต้น แต่ถ้าจะนับลักขณรูป ๔ ของนิปผันนรูปแต่ละรูปโดยเฉพาะ ๆ แล้ว ย่อมได้จำนวนรูปโดยพิสดาร ดังต่อไปนี้

ในกัมมชรูป ๑๘ นั้น มีนิปผันนรูปอยู่ ๑๗ รูป [เว้นปริจเฉทรูป] และในนิปผันนรูป ๑๗ นั้น รูปหนึ่ง ๆ ย่อมมีลักขณรูป ๔ เกิดรวมอยู่ด้วย เพราะฉะนั้น จึงรวมเป็นลักขณรูป ๖๘ และเมื่อรวมกับกัมมชรูป ๑๘ แล้ว จึงเป็นกัมมชรูปโดยพิสดาร ๘๖ รูป

ในจิตตชรูป ๑๕ นั้น มีนิปผันนรูปอยู่ ๙ รูป คือ อวินิพโภครูป ๘ สัททรูป ๑ และในนิปผันนรูปทั้ง ๙ นี้ รูปหนึ่ง ๆ ย่อมมีลักขณรูป ๔ เกิดรวมอยู่ด้วย เพราะฉะนั้น จึงรวมเป็นลักขณรูป ๓๖ เมื่อรวมกับจิตตชรูป ๑๕ แล้ว จึงเป็นจิตตชรูปโดยพิสดาร ๕๑ รูป

ในอุตุชรูป ๑๓ นั้น มีนิปผันนรูปอยู่ ๙ รูปเช่นเดียวกันกับจิตตชรูป เพราะฉะนั้น จึงรวมเป็นลักขณรูป ๓๖ เมื่อรวมกับอุตุชรูป ๑๓ แล้วจึงเป็นอุตุชรูปโดยพิสดาร ๔๙ รูป

ในอาหารชรูป ๑๒ นั้น มีนิปผันนรูปอยู่ ๘ รูป คือ อวินิพโภครูป ๘ ในนิปผันนรูป ๘ นั้น รูปหนึ่ง ๆ ย่อมมีลักขณรูป ๔ เกิดรวมอยู่ด้วย เพราะฉะนั้น จึงรวมเป็นลักขณรูป ๓๒ เมื่อรวมกับอาหารชรูป ๑๒ แล้ว จึงเป็นอาหารชรูปโดยพิสดาร ๔๔ รูป


เกี่ยวกับตำราอภิธรรม ออนไลน์ (Disclaimer)
ตำราอภิธรรมออนไลน์ พัฒนาขึ้นโดยความร่วมมือของอภิธรรมมหาวิทยาลัย วัดระฆังฯ วัดญาณเวศกวัน และ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ เพื่อนำเสนอสื่อธรรมสำหรับการศึกษาค้นคว้า โดยได้รับอนุญาต และเอกสารต้นฉบับจากผู้เขียน ดังนี้
(๑) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๒), จิตปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๑, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๒) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๖), เจตสิกปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๒, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๓) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๖๓), รูปปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๖, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
ผู้สนใจศึกษาสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับหนังสือ และหลักสูตรการศึกษาได้ที่ สำนักงานอภิธรรมมหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย วัดระฆังโฆษิตารามวรมหาวิหาร (คณะ ๗) แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ ๑๐๗๐๐ โทร ๐๒ ๔๑๑ ๔๕๔๖, ๑๒ ๔๑๒ ๑๐๘๔, ๐๘๖ ๐๓๘ ๒๙๓๓


  |