ไปยังหน้า : |
จตุธาตุววัตถาน หมายถึง การกำหนดพิจารณาสังขารทั้งปวงโดยความเป็นแต่เพียงธาตุ ๔ ดังแสดงวจนัตถะว่า “สพฺเพสุ สงฺขาเรสุ จตุธาตุโต ววฏฺฐาตีติ = จตุธาตุววตฺถานํ” แปลว่า การกำหนดพิจารณาในสังขารทั้งปวงโดยความเป็นธาตุ ๔ ชื่อว่า จตุธาตุววัตถาน ได้แก่ การพิจารณาสังขารทั้งปวงให้เห็นเป็นแต่เพียงธาตุ ๔ คือ ดิน น้ำ ลม ไฟ ไม่ใช่สัตว์บุคคล ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา เป็นแต่เพียงธาตุทั้ง ๔ เกาะกุมกันเข้าโดยอาศัยกรรมในอดีตเป็นตัวจัดสรรให้สมส่วนกัน และมีความเป็นไปตามเหตุปัจจัยของธาตุนั้น ๆ อยู่เนืองนิตย์ โดยการกำหนดเพ่งบริกรรมเรื่อยไป จนจิตมีความสงบประณีตยิ่งขึ้นตามลำดับ ตั้งแต่ขณิกสมาธิจนถึงอุปจารสมาธิ
หมายเหตุ... อาหาเรปฏิกูลสัญญาและจตุธาตุววัตถาน อารมณ์กรรมฐาน ๒ อย่างนี้ ย่อมให้บรรลุถึงเพียงอุปจารสมาธิเท่านั้นเป็นอย่างสูง ไม่สามารถให้ถึงฌานได้ เนื่องจากสภาพของอารมณ์มีความละเอียดอ่อนและมีสภาพเป็นปรมัตถ์ กล่าวคือ เป็นสภาพของรูปนามที่มีความเปลี่ยนแปลงไป สลายไป และดับไปอยู่เนืองนิตย์ ฉะนั้น อารมณ์ ๒ อย่างนี้ พระโยคีบุคคลสามารถกำหนดพิจารณาให้เกิดวิปัสสนาญาณได้ โดยกำหนดพิจารณาเป็นสภาพของรูปธรรมนามธรรม ที่มีความเปลี่ยนแปลงไป สลายไป และดับไป เพราะเหตุปัจจัยต่าง ๆ เข้ามากระทบและปรุงแต่ง เป็นสภาพที่ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ไม่มีสาระแก่นสารแต่อย่างใด โดยกำหนดพิจารณาดังนี้เรื่อยไป จนวิปัสสนาญาณเกิดขึ้นโดยลำดับ ตั้งแต่นามรูปปริจเฉทญาณ เป็นต้นไป จนถึงมรรคญาณ ผลญาณเกิด และปัจจเวกขณญาณวิถีเกิดขึ้นพิจารณาสภาพของมรรค ผล นิพพาน กิเลสที่ละแล้ว และกิเลสที่ยังเหลืออยู่ ดังกล่าวแล้ว ในวิธีการเจริญวิปัสสนา