| |
อรรถของปรมัตถธรรม ๓ ประการ

ปรมัตถธรรม แปลว่า เนื้อความอันประเสริฐ หมายความว่า เป็นธรรมที่มีเนื้อความอันประเสริฐยอดเยี่ยม โดยความหมาย ๓ ประการ คือ

๑. ประเสริฐเพราะไม่วิปริตผันแปรไปเป็นอย่างอื่น หมายความว่า เป็นธรรมที่ไม่วิปริตผันแปรเปลี่ยนแปลงสภาวะของตนไปเป็นอย่างอื่น ถึงโลกและสังคมจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร หรือ แต่ละสังคมจะเรียกขานต่างกัน หรือสมมติเรียกขานแตกต่างกันออกไปประการใดก็ตาม แต่ว่า สภาวะของธรรมนั้น ย่อมยังคงสภาพอยู่เหมือนเดิม เช่น สภาพของจิต คือ มีการรับรู้อารมณ์ ไม่ว่าจิตของใคร จะเป็นของมนุษย์ เทวดา มาร พรหม หรือ สัตว์เดรัจฉาน เป็นต้น ก็ตาม จะมีลักษณะรู้อารมณ์เหมือนกันหมด ถึงแม้ว่า จะมีความรู้วิจิตรพิสดารออกไปมากมายประการใดก็ตาม แต่ก็ชื่อว่า มีสภาพรู้อารมณ์อยู่นั่นเอง ดังนี้เป็นต้น สภาพของเจตสิก รูป นิพพาน ก็เช่นเดียวกัน ฉะนั้น จึงชื่อว่า ประเสริฐ เพราะไม่มีการวิปริตเปลี่ยนแปลงสภาวะของตนไปเป็นอย่างอื่น

๒. ประเสริฐเพราะเป็นที่โคจรแห่งญาณอันประเสริฐ หมายความว่า ปรมัตถธรรมนั้น เป็นธรรมที่มีสภาวะละเอียดลึกซึ้งมาก ผู้ไม่มีปัญญาอันประเสริฐนั้น ย่อมไม่สามารถเข้าใจสภาวะของปรมัตถธรรมนี้โดยละเอียดลึกซึ้งได้ ผู้ที่จะรู้ได้และเข้าใจได้นั้น จะต้องเป็นผู้ที่มีอุดมญาณ คือ มีปัญญาอันละเอียดลึกซึ้ง และต้องเป็นติเหตุกบุคคล เป็นต้น จนถึงพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นที่สุดเท่านั้น จึงจะสามารถรู้แจ่มแจ้งในปรมัตถธรรมนั้น ๆ ได้ [ตามสมควรแก่ปัญญาของตน ๆ] และทำให้บรรลุถึงปรมัตถะประโยชน์ กล่าวคือ นิพพานได้ในที่สุด

๓. ประเสริฐเพราะเป็นธรรมที่เป็นประธานแห่งบัญญัติธรรมทั้งหลาย หมายความว่า บรรดาสัตว์และสิ่งไม่มีชีวิตทั้งหลายในโลกทั้ง ๓ คือ กามโลก รูปโลก อรูปโลก นั้นมีอยู่มากมายหลายประเภทจนนับประมาณไม่ได้ แต่ถ้ากำหนดเอาหลักความจริงแท้มายืนยันกันแล้ว ย่อมมีแต่สภาวะของปรมัตถธรรม ๓ อย่าง คือ จิต เจตสิก รูป อันเป็นสภาพของนามธรรมและรูปธรรมของสัตว์และสิ่งของเหล่านั้นเท่านั้น ส่วนที่เรียกชื่อออกไปต่าง ๆ นานา เพื่อหมายรู้ร่วมกันนั้น ซึ่งเป็นแต่เพียงบัญญัติเท่านั้น แต่เมื่อว่าโดยสภาวะที่จริงแท้แล้วไม่มี และการสมมติเรียกขาน หรือหมายรู้ร่วมกันของแต่ละสังคมนั้น ก็ไม่เหมือนกัน ในสิ่งเดียวกัน สังคมหนึ่งย่อมเรียกไปชื่อหนึ่ง อีกสังคมหนึ่งย่อมเรียกไปอีกชื่อหนึ่ง หรือคำ ๆ หนึ่ง สังคมหนึ่งอาจหมายถึงสิ่งหนึ่ง แต่อีกสังคมหนึ่งอาจหมายถึงอีกสิ่งหนึ่ง ดังนี้เป็นต้น แต่เมื่อว่าโดยสภาวะปรมัตถ์ของสิ่งนั้น ๆ ย่อมไม่มีสิ่งที่นอกเหนือไปจากสภาพของรูปธรรมนามธรรม กล่าวคือ จิต เจตสิก รูป เหล่านี้แต่อย่างใด ส่วนนิพพานนั้น เป็นสภาพที่นอกจากจิต เจตสิก รูป หรือนอกเหนือจากสิ่งทั้งหลายที่มีอยู่ในโลกทั้งปวง แต่เป็นสภาวะที่มีอยู่จริง เป็นสันติลักษณะคือ มีสภาพสงบจากกิเลสและขันธ์ ๕ ฉะนั้น ปรมัตถธรรม ๔ คือ จิต เจตสิก รูป นิพพาน จึงชื่อว่า เป็นประธาน หรือเป็นต้นเดิมของบัญญัติธรรมทั้งปวง ฉะนั้น จึงชื่อว่า ประเสริฐ


เกี่ยวกับตำราอภิธรรม ออนไลน์ (Disclaimer)
ตำราอภิธรรมออนไลน์ พัฒนาขึ้นโดยความร่วมมือของอภิธรรมมหาวิทยาลัย วัดระฆังฯ วัดญาณเวศกวัน และ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ เพื่อนำเสนอสื่อธรรมสำหรับการศึกษาค้นคว้า โดยได้รับอนุญาต และเอกสารต้นฉบับจากผู้เขียน ดังนี้
(๑) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๒), จิตปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๑, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๒) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๖), เจตสิกปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๒, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๓) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๖๓), รูปปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๖, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
ผู้สนใจศึกษาสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับหนังสือ และหลักสูตรการศึกษาได้ที่ สำนักงานอภิธรรมมหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย วัดระฆังโฆษิตารามวรมหาวิหาร (คณะ ๗) แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ ๑๐๗๐๐ โทร ๐๒ ๔๑๑ ๔๕๔๖, ๑๒ ๔๑๒ ๑๐๘๔, ๐๘๖ ๐๓๘ ๒๙๓๓


  |