| |
เหตุให้เกิดมหากุศลญาณสัมปยุตตจิต ๗ ประการ [อีกนัยหนึ่ง]   |  

อีกนัยหนึ่ง มหากุศลจิตที่เป็นญาณสัมปยุตต์ ๔ ดวงนั้น ย่อมเกิดขึ้นด้วยเหตุปัจจัย ๗ ประการ อย่างใดอย่างหนึ่ง ดังต่อไปนี้

๑. ปะริปุจฉะกะตา ชอบไต่สวนทวนถามข้ออรรถข้อธรรมให้เกิดความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องอยู่เสมอ หมายความว่า บุคคลนั้น เป็นผู้ที่ไม่นิ่งดูดาย มีความใฝ่ใจในการขวนขวายศึกษาหาความรู้อยู่เสมอ และชอบสังเกตจดจำพิจารณา และตั้งสมมติฐาน ในสิ่งที่ได้พบได้เห็น ได้ยินได้ฟัง ได้สัมผัส แล้วค้นหาเหตุผลของสิ่งนั้น ๆ ให้เข้าใจอย่างถ่องแท้ เมื่อไม่สามารถจะทำความเข้าใจด้วยสติปัญญาของตนเองได้ ก็แสวงหาผู้รู้ เข้าไปสนทนาแลกเปลี่ยนความรู้ สอบถามให้ได้ความเข้าใจที่ถูกต้องกระจ่างชัด โดยไม่เก็บความสงสัยไว้ในใจแต่ผู้เดียว เมื่อเป็นเช่นนี้ ย่อมทำให้เกิดองค์ความรู้เพิ่มพูนขึ้นเรื่อย ๆ แม้บุคคลนั้น จะไม่ได้เกิดมาพร้อมด้วยปัญญา ที่เรียกว่า สชาติกปัญญา ก็ตาม แต่ถ้าเป็นบุคคลที่ขวนขวายและใส่ใจในการศึกษา การท่องบ่นสาธยาย การสอบสวนทวนถามข้ออรรถข้อธรรมอยู่เสมอ ย่อมสามารถทำให้เกิดองค์ความรู้ขึ้นใหม่ในปัจจุบันชาตินี้ได้ ทำให้มีประสบการณ์ในชีวิตมากขึ้น ฉะนั้น เมื่อขณะที่ทำกุศลต่าง ๆ ซึ่งตนเองมีความรู้ความเข้าใจในเหตุผลของกุศลนั้น ๆ เป็นอย่างดี มหากุศลจิตที่เกิดแก่บุคคลนั้น สามารถเกิดพร้อมด้วยปัญญาได้

๒. วัตถุวิสุทธะก๎ริยะตา เป็นผู้ที่ชอบทำความสะอาดทั้งกายและใจตลอดจนวัตถุสิ่งของเครื่องใช้สอยต่าง ๆ อยู่เสมอ หมายความว่า เป็นคนที่ชอบความสะอาด มีระเบียบวินัย สามารถจัดระบบของชีวิตได้เป็นอย่างดี และดำเนินชีวิตไปตามแนววิถีทางที่วางไว้ได้อย่างสมบูรณ์ การงานต่าง ๆ ย่อมไม่อากูลคั่งค้าง สามารถจัดการให้สำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดี วัตถุสิ่งของในสถานที่อยู่ที่อาศัยที่ทำงาน ย่อมขวนขวายจัดให้เป็นระเบียบเรียบร้อยและสะอาดสะอ้านอยู่เสมอ มองดูแล้วทำให้โล่งตาโล่งใจ ไม่ทำให้เกะกะสายตาและขัดเคืองใจ จะหยิบจะใช้สอยหรือจะค้นหาสิ่งใด ก็สามารถหยิบใช้สอยได้สะดวก ค้นหาได้ง่าย ไม่ทำให้เกิดความหงุดหงิดรำคาญใจแต่อย่างใด จึงทำให้ไม่มีความเก็บกดทางด้านจิตใจ เป็นคนมีความโปร่งเบา มีจิตใจที่ประณีตขึ้นตามลำดับ ทำให้มีสติปัญญาคิดอ่านสิ่งต่าง ๆ ได้อย่างละเอียดลึกซึ้ง ฉะนั้น เมื่อบุคคลนั้นจะทำบุญกุศลใดๆ ที่ตนมีความรู้ความเข้าใจในเหตุผลของกุศลนั้นๆ เป็นอย่างดี มหากุศลจิตที่เกิดแก่บุคคลนั้น สามารถเกิดพร้อมด้วยปัญญาได้

๓. อินท๎ริยะสะมัตตะปะฏิปาทะนะตา เป็นผู้ที่ชอบรักษาอินทรีย์ทั้ง ๕ ให้มีความเสมอภาคเท่าเทียมกันอยู่เสมอ หมายความว่า บุคคลนั้น เป็นผู้ที่ไม่เมินเฉย หรือไม่มองข้ามคุณธรรมจริยธรรมในจิตใจของตนเอง พยายามอบรมบ่มเพาะและพอกพูนอินทรีย์ทั้ง ๕ คือ ธรรมที่เป็นใหญ่เป็นผู้ปกครองในหน้าที่ของตนเอง ได้แก่ ๑] ศรัทธา สภาพธรรมที่เป็นใหญ่ในความเชื่อความเลื่อมใสในสิ่งที่ควรเชื่อถือ ๒] วิริยะ สภาพธรรมที่เป็นใหญ่ในความเพียรพยายามในทางที่ชอบประกอบด้วยคุณธรรม ๓] สติ สภาพธรรมที่เป็นใหญ่ในความระลึกรู้ในธรรมที่ควรระลึกรู้ หรือในการสร้างจิตสำนึกที่ดีให้กับตนเอง ๔] สมาธิ สภาพธรรมที่เป็นใหญ่ในความตั้งมั่นและความเข้มแข็งทางด้านจิตใจ ๕] ปัญญา สภาพธรรมที่เป็นใหญ่ในความรอบรู้สิ่งทั้งปวงตามความเป็นจริง เมื่อบุคคลหมั่นบ่มเพาะอินทรีย์เหล่านี้ให้เกิดขึ้นและให้ทรงอยู่ ตลอดทั้งเพิ่มพูนให้แก่กล้ายิ่งขึ้นอย่างสม่ำเสมอ โดยไม่ให้เสื่อมสูญหรือหดหายไป ด้วยการหมั่นปรับสภาพให้มีความเสมอภาคกันอยู่เสมอ คือ ปรับศรัทธากับปัญญาให้สม่ำเสมอกัน ปรับวิริยะกับสมาธิให้สม่ำเสมอกัน ส่วนสตินั้นมีมากเท่าไรยิ่งดี เพราะเป็นสภาพธรรมที่มีอุปการะต่ออินทรีย์ทั้ง ๔ ที่เหลือ เมื่อบุคคลปฏิบัติได้เช่นนี้แล้ว ย่อมเป็นผู้เพียบพร้อมด้วยคุณธรรมจริยธรรม และเป็นผู้มีสติปัญญาที่ปราดเปรื่อง สามารถคิดอ่านสิ่งต่าง ๆ ได้ถูกต้องตามสภาพที่เป็นจริง โดยไม่หลงงมงายไปตามกระแสกิเลสกระแสโลกกระแสสังคมแต่อย่างใด ฉะนั้น ในเวลาที่บุคคลนั้นกระทำบุญกุศลต่าง ๆ ที่ตนมีความรู้ความเข้าใจเป็นอย่างดี มหากุศลจิตที่เกิดขึ้นแก่บุคคลนั้น ย่อมเกิดพร้อมด้วยปัญญาได้

๔. ทุปปัญญะปุคคะละปะริวัชชะนะตา เป็นผู้หลีกเลี่ยงให้พ้นจากบุคคลผู้ไม่มีปัญญา หมายความว่า บุคคลนั้นเป็นผู้ที่ตั้งตนไว้ชอบ มีความคิดความเห็นเป็นของตนเองและประกอบด้วยเหตุผล รู้ว่าใครควรคบ ใครไม่ควรคบ ใครควรเข้าไปหา ควรเข้าไปนั่งใกล้เพื่อสนทนาสอบถามข้ออรรถข้อธรรมด้วย ใครไม่ควรเข้าไปผูกพันเช่นนั้น เป็นผู้ที่ไม่ชอบคบหาสมาคมกับบุคคลผู้ไม่มีปัญญา ย่อมหลีกเว้นให้ห่างไกลจากบุคคลผู้มีปัญญาทราม ที่จะชักนำไปในทางที่ไม่ดีไม่งามไม่ถูกต้องเสีย จึงทำให้ไม่ได้เสพคุ้นในข้อมูลข่าวสารเรื่องราวที่ไม่ดีไม่งาม หรือไม่ได้พบเห็นและเสพคุ้นกิริยามารยาทที่ไม่เหมาะสมต่าง ๆ อันจะทำให้เกิดพฤติกรรมการเลียนแบบที่ไม่ดีติดตัวมา ด้วยเหตุนี้ จึงทำให้บุคคลนั้น เป็นผู้ที่สามารถรักษาอุปนิสัยสันดานที่ดีของตนไว้ได้ สติปัญญาที่เคยมีมาก็ไม่เสื่อมสูญ สติปัญญาใหม่ก็สามารถเกิดขึ้นและเจริญงอกงามขึ้นได้อยู่เสมอ ฉะนั้น ในเวลาที่บุคคลนั้นกระทำบุญกุศลใด ๆ ที่ตนเองมีความรู้ความเข้าใจเป็นอย่างดีแล้ว มหากุศลจิตที่เกิดขึ้นย่อมเกิดพร้อมด้วยปัญญาได้

๕. ปัญญาวันตะปุคคะละเสวะนะตา เป็นผู้ที่ชอบคบหาสมาคมกับบุคคลผู้มีปัญญา หมายความว่า บุคคลนั้น เป็นผู้ตั้งตนไว้ในทางที่ชอบประกอบด้วยสัมมาทิฏฐิ มีความคิดอ่านไปในแนวทางที่ดีที่ถูกต้อง มีความสนใจในธรรมของสัตบุรุษ รู้ว่าใครเป็นบัณฑิตคือผู้ดำเนินชีวิตด้วยปัญญา และใครเป็นคนพาลคือผู้ดำเนินชีวิตด้วยอวิชชา แล้วย่อมแสวงหาบัณฑิตและเข้าไปคบหาสมาคมกับบัณฑิตอยู่เสมอ เลือกคบหาสมาคมเฉพาะกัลยาณชนบุคคลผู้มีอัธยาศัยดีงาม ย่อมเว้นห่างจากบุคคลผู้เป็นอันธพาลเสีย เมื่อเป็นเช่นนี้ บุคคลนั้น ย่อมสามารถรักษาคุณงามความดีและสติปัญญาของตนไว้ได้ สติปัญญาที่มีอยู่แล้วก็ยังคงมีอยู่ และสติปัญญาที่ยังไม่เกิดก็ย่อมเกิดขึ้นได้ สติปัญญาที่เกิดขึ้นแล้ว ย่อมสามารถเจริญงอกงามไพบูลย์ยิ่งขึ้นไปได้ ฉะนั้น เมื่อบุคคลนั้นกระทำกุศลใด ๆ ที่ตนมีความรู้ความเข้าใจเป็นอย่างดีแล้ว มหากุศลจิตที่เกิดขึ้นแก่บุคคลนั้น ย่อมเกิดพร้อมด้วยปัญญาได้

๖. คัมภีระญาณะจะริยะปัจจะเวกขะณะตา เป็นผู้ที่ชอบพิจารณาข้ออรรถข้อธรรมที่ลึกซึ้งอยู่เสมอ หมายความว่า บุคคลนั้น เป็นผู้มีความสุขุมคัมภีรภาพ ชอบศึกษาเล่าเรียน ชอบคิดอ่านและพิจารณาวิชาความรู้หรือข้ออรรถข้อธรรมที่มีเนื้อความอันละเอียดลึกซึ้งมีเหตุมีผลอยู่เสมอ ทำให้เป็นผู้มีความรู้ความเข้าใจในสิ่งต่าง ๆ ที่ละเอียดลึกซึ้งยิ่งขึ้นไปตามลำดับ ไม่เป็นผู้หลงงมงายปล่อยใจไปตามกระแสกิเลสกระแสโลกกระแสสังคมแต่อย่างใด สามารถหยุดยั้งชั่งใจคิดพิจารณาสิ่งต่าง ๆ ที่ได้ประสบพบเห็นได้ยินได้ฟังได้สัมผัสในชีวิตประจำวันนั้นให้เข้าใจเหตุผลอย่างถ่องแท้เสียก่อนแล้วจึงค่อยเชื่อถือหรือตัดสินใจทำอะไรลงไป ฉะนั้น เมื่อบุคคลนั้นกระทำกุศลใด ๆ ที่ตนเองมีความรู้ความเข้าใจเป็นอย่างดีแล้ว มหากุศลจิตที่เกิดขึ้นแก่บุคคลนั้น จึงสามารถเกิดพร้อมด้วยปัญญาได้

๗. ตะทะธิมุตติกะตา เป็นผู้มักน้อมจิตไปในการแสวงหารสแห่งธรรมที่ต้องอาศัยการตรึกตรองทำให้เกิดปัญญาอยู่เสมอ หมายความว่า บุคคลนั้น เป็นผู้ที่ได้สั่งสมประสบการณ์ในชีวิตมาพอสมควรแล้ว ได้เคยผ่านพ้นอุปสรรคปัญหา ผ่านความยากลำบากมามาก สามารถใช้ประสบการณ์ความรู้ความเข้าใจในการพินิจพิจารณาเหตุผลของสิ่งต่าง ๆ ที่ได้ประสบพบเห็นนั้นให้เกิดความรู้ความเข้าใจได้อย่างรอบคอบและละเอียดลึกซึ้งตามสมควรแก่สติปัญญาของตน ทำให้มีความเข้าใจในเหตุผลของกุศลต่าง ๆ ที่ตนกระทำอยู่นั้นได้เป็นอย่างดี และมักน้อมจิตไปในการแสวงหารสแห่งธรรม ไม่สนใจในการแสวงหารสแห่งกาม ทำให้เป็นผู้มีจิตใจปลอดโปร่งโล่งสบาย สามารถคิดอ่านสิ่งต่าง ๆ ให้เกิดความรู้ความเข้าใจได้อย่างละเอียดลึกซึ้ง ฉะนั้น เมื่อบุคคลนั้นกระทำกุศลใด ๆ ที่ตนเองมีความรู้ความเข้าใจเป็นอย่างดีแล้ว มหากุศลจิตที่เกิดขึ้นแก่บุคคลนั้น จึงสามารถเกิดพร้อมด้วยปัญญาได้


เกี่ยวกับตำราอภิธรรม ออนไลน์ (Disclaimer)
ตำราอภิธรรมออนไลน์ พัฒนาขึ้นโดยความร่วมมือของอภิธรรมมหาวิทยาลัย วัดระฆังฯ วัดญาณเวศกวัน และ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ เพื่อนำเสนอสื่อธรรมสำหรับการศึกษาค้นคว้า โดยได้รับอนุญาต และเอกสารต้นฉบับจากผู้เขียน ดังนี้
(๑) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๒), จิตปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๑, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๒) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๖), เจตสิกปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๒, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๓) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๖๓), รูปปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๖, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
ผู้สนใจศึกษาสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับหนังสือ และหลักสูตรการศึกษาได้ที่ สำนักงานอภิธรรมมหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย วัดระฆังโฆษิตารามวรมหาวิหาร (คณะ ๗) แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ ๑๐๗๐๐ โทร ๐๒ ๔๑๑ ๔๕๔๖, ๑๒ ๔๑๒ ๑๐๘๔, ๐๘๖ ๐๓๘ ๒๙๓๓


  |