| |
ประเภทของอากาศ   |  

อากาศ มี ๔ ประเภท

พระอาจารย์สัทธัมมโชติกะ ธัมมาจริยะ และอาจารย์วรรณสิทธิ ไวทยะเสวีรุ.๓๔๗ ได้แสดงประเภทของปริจเฉทรูป ซึ่งเป็นอากาศที่ใช้ในความหมายต่าง ๆ ไว้ ๔ ประเภท ดังต่อไปนี้

๑. อัชฏากาส ได้แก่ ความว่างเปล่า คือ ท้องฟ้าทั่วไป เบื้องล่างนับตั้งแต่น้ำที่รองรับพื้นแผ่นดินอยู่ลงไป เบื้องบนนับตั้งแต่ภวัคคภูมิ คือ อรูปภูมิชั้นสูงสุด ได้แก่ เนวสัญญานาสัญญายตนภูมิขึ้นไป

๒. ปริจฉินนากาส ได้แก่ อากาศที่ถูกกำหนดขอบเขต เช่น ปากหม้อ ช่องประตู ช่องหน้าต่าง เป็นต้น หรือ อากาศในช่องโปร่ง เช่น ช่องหู ช่องจมูก ขวด โอ่ง ไห เป็นต้น เรียกว่า วิวรากาส และอากาศในสิ่งที่โพรงทึบ เช่น ช่องว่างในปล้องไม้ไผ่ ในตู้ทึบ ในหีบไม้ ในกำปั่น เป็นต้น เรียกว่า สุสิรากาส

๓. กสิณุฆาฏิมากาส ได้แก่ อากาศกสิณที่เพิกกสิณทั้ง ๙ ออกแล้ว เหลือแต่ความว่างเปล่าที่อยู่ในวงรอบ พระโยคีบุคคลเพ่งบริกรรมเฉพาะความว่างนั้นเป็นอารมณ์ โดยภาวนาว่า อากาโส อนันโต ๆ หรือ อากาศไม่มีที่สิ้นสุด ๆ เช่นนี้เรื่อยไป จนได้บรรลุถึงอากาสานัญจายตนฌาน

๔. ปริจเฉทากาส ได้แก่ อากาศที่คั่นระหว่างรูปกลาปต่อรูปกลาปเพื่อมิให้รูปกลาปติดกัน ทำให้วิปัสสนาญาณสามารถพิจารณาโดยความเป็นอนัตตา ทำลายฆนสัญญาได้ ซึ่งได้แก่ ปริจเฉทรูป นั้นเอง

อัชฎากาสก็ดี ปริจฉินนากาสก็ดี กสิณุคฆาฎิมากาสก็ดี เหล่านี้ย่อมมีปริจเฉทากาส คือ ปริจเฉทรูปอยู่ด้วยเสมอ จะปรากฏโดยปราศจากปริจเฉทากาสไม่ได้

อนึ่ง บางตำราแสดงการจำแนกประเภทของอากาศไว้ ๕ ประการ โดยแยก ปริจฉินนากาสออกเป็น ๒ อย่าง คือ

[๑] วิวรากาส ได้แก่ อากาศในช่องโปร่ง เช่น ช่องหู ช่องจมูก ช่องปาก ขวด โอ่ง ไห เป็นต้น

[๒] สุสิรากาส ได้แก่ อากาศในสิ่งโพรงทึบ เช่น ช่องว่างในปล้องไม้ไผ่ ในตู้ทึบ ในหีบไม้ ในกำปั่น เป็นต้นรุ.๓๔๘

ทั้ง ๒ อย่างนี้ รวมเรียกว่า ปริจฉินนากาส คือ อากาศในช่องว่างที่มีขอบเขตกำหนดไว้นั่นเอง


เกี่ยวกับตำราอภิธรรม ออนไลน์ (Disclaimer)
ตำราอภิธรรมออนไลน์ พัฒนาขึ้นโดยความร่วมมือของอภิธรรมมหาวิทยาลัย วัดระฆังฯ วัดญาณเวศกวัน และ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ เพื่อนำเสนอสื่อธรรมสำหรับการศึกษาค้นคว้า โดยได้รับอนุญาต และเอกสารต้นฉบับจากผู้เขียน ดังนี้
(๑) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๒), จิตปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๑, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๒) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๖), เจตสิกปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๒, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๓) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๖๓), รูปปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๖, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
ผู้สนใจศึกษาสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับหนังสือ และหลักสูตรการศึกษาได้ที่ สำนักงานอภิธรรมมหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย วัดระฆังโฆษิตารามวรมหาวิหาร (คณะ ๗) แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ ๑๐๗๐๐ โทร ๐๒ ๔๑๑ ๔๕๔๖, ๑๒ ๔๑๒ ๑๐๘๔, ๐๘๖ ๐๓๘ ๒๙๓๓


  |