ไปยังหน้า : |
ความหมายของลหุตารูป
ในคัมภีร์อภิธัมมัตถสังคหะและปรมัตถทีปนีฎีการุ.๓๙๙ ได้แสดงสรุปเนื้อหาของลหุตารูปไว้ดังต่อไปนี้
ลหุตา หมายถึง ความเบา
ลหุตารูป หมายถึง รูปเบา ได้แก่ รูปที่ทำอาการร่างกายให้เบา เกิดความคล่องแคล่วในเวลาใช้อิริยาบถ หรือการพูดจาต่าง ๆ ได้แก่ อาการเบาของนิปผันนรูป
ในคัมภีร์อภิธัมมัตถสังคหะและอภิธัมมัตถวิภาวินีฎีการุ.๔๐๐ ท่านได้แสดงความหมายของลหุตารูปไว้เพียงสั้น ๆ ดังต่อไปนี้
รูปวิการมีปัจจัยที่เป็นข้าศึกแก่ความกำเริบแห่งธาตุ อันทำความชักช้าเป็นสมุฏฐาน ชื่อว่า ลหุตา
วจนัตถะ [คำจำกัดความ] ของลหุตารูป
พระอาจารย์สัทธัมมโชติกะ ธัมมาจริยะ และอาจารย์วรรณสิทธิ ไวทยะเสวีรุ.๔๐๑ ได้แสดงความหมายและวจนัตถะของลหุตารูปไว้ดังต่อไปนี้
ลหุตารูป เป็นรูปที่แสดงอาการเบาของนิปผันนรูป ดังมีวจนัตถะแสดงว่า
“ลหุโน ภาโว = ลหุตา” แปลความว่า อาการที่เบา ชื่อว่า ลหุตา
“รูปสฺส ลหุตา = รูปลหุตา” แปลความว่า อาการเบาของนิปผันนรูป ชื่อว่า รูปลหุตา
คุณสมบัติพิเศษของลหุตารูป
อาจารย์วรรณสิทธิ ไวทยะเสวี อดีตประธานมูลนิธิแนบ มหานีรานนท์ ได้แสดงคุณลักษณะพิเศษของลหุตารูปไว้ดังต่อไปนี้
๑. อทนฺธลกฺขณา มีความไม่อืดอาดชักช้า เป็นลักษณะ
๒. รูปานํ ครุภาววิโนทนรสา มีการบรรเทาความหนักของรูป เป็นกิจ
๓. ลหุปริวตฺติตาปจฺจุปฏฺานา มีความเป็นไปคล่องแคล่ว เป็นอาการปรากฏ หมายความว่า เป็นรูปที่ทำความคล่องแคล่วว่องไวให้เกิดขึ้นแก่นิปผันนรูปทั้งหลาย
๔. ลหุรูปปทฏฺานา มีรูปที่เบา เป็นเหตุใกล้ให้เกิด
คำอธิบายเพิ่มเติมของผู้เขียน :
จากคุณสมบัติพิเศษทั้ง ๔ ประการของลหุตารูปที่ท่านได้แสดงไปแล้วนั้น ผู้เขียนขออธิบายขยายความหมายเพิ่มเติ่ม เพื่อความเข้าใจรายละเอียดของคุณสมบัติแต่ละอย่างเหล่านั้นให้ยิ่งขึ้น ดังต่อไปนี้
๑. อทนฺธลกฺขณา มีความไม่อืดอาด ชักช้า เป็นลักษณะ หมายความว่า ลหุตารูปนี้ เมื่อปรากฏเกิดขึ้นในร่างกายส่วนใดแล้ว ย่อมทำให้ร่างกายส่วนนั้นมีความเบาพร้อม และทำให้เกิดความคล่องแคล่วในการผลัดเปลี่ยนอิริยาบถต่าง ๆ ได้โดยสะดวก ไม่มีอาการเชื่องช้าอืดอาดยืดยาด สามารถผลัดเปลี่ยนอิริยาบถต่าง ๆ ได้อย่างคล่องแคล่วว่องไว
๒. รูปานํ ครุภาววิโนทนรสา มีการบรรเทาความหนักของรูป เป็นกิจ หมายความว่า ลหุตารูปนี้เมื่อปรากฏเกิดขึ้นในร่างกายส่วนใดแล้ว ย่อมทำให้ร่างกายส่วนนั้นเกิดอาการเบาพร้อม บรรเทาจากความหนักอึดอัดได้ เปรียบเหมือนบุคคลใช้ยานวดตรงที่มีอาการบวม เมื่อยาออกฤทธิ์แล้ว อาการบวมที่อึดอัดหนักหน่วงนั้น ก็ค่อย ๆ คลายออก กลายเป็นอาการเบา สามารถขยับเขยื้อนได้คล่องแคล่วตามปกติ ข้อนี้ฉันใด ลหุตารูปนี้ก็ฉันนั้นเหมือนกัน เมื่อปรากฏเกิดขึ้นแล้วย่อมทำให้อวัยวะส่วนนั้น มีความเบาสามารถขยับเขยื้อนเคลื่อนไหวได้คล่องแคล่ว
๓. ลหุปริวตฺติตาปจฺจุปฏฺานา มีความเป็นไปคล่องแคล่ว เป็นอาการปรากฏ หมายความว่า ลหุตารูปนี้เป็นรูปที่ทำความคล่องแคล่วว่องไวให้เกิดขึ้นแก่นิปผันนรูปทั้งหลาย เพราะฉะนั้น เมื่อปรากฏเกิดขึ้นแล้ว ย่อมทำให้รูปร่างกายมีสภาพเบาพร้อม และขยับเขยื้อนเคลื่อนไหวไปมาได้โดยสะดวก
๔. ลหุรูปปทฏฺานา มีรูปที่เบา เป็นเหตุใกล้ให้เกิด หมายความว่า ลหุตารูปจะปรากฏเกิดขึ้นได้ ต้องมีรูปที่พร้อมที่จะเบาเป็นเหตุใกล้ให้เกิดขึ้น ถ้ารูปนั้นยังมีเหตุปัจจัยแห่งความหนักอยู่ ลหุตารูปย่อมเกิดขึ้นไม่ได้ เช่น ร่างกายที่มีอาการบวมตึงอยู่ด้วยพิษความบอบช้ำภายในเป็นอย่างมาก แม้จะใช้ยานวดยาทาเท่าไร ก็ไม่สามารถทำให้อาการบวมนั้นหายไปโดยรวดเร็วทันทีได้ จึงต้องรอให้อาการบวมนั้นลดลง หรืออาการช้ำในนั้นทุเลาบรรเทาลงก่อน ยานวดยาทานั้นจึงจะสามารถทำให้ร่างกายส่วนนั้นเกิดอาการเบาพร้อมได้ แต่ถ้าร่างกายไม่มีอาการบวมช้ำ เมื่อใช้ยานวดเพียงครั้งสองครั้งก็สามารถทำให้หายเป็นปกติได้ เพราะฉะนั้น ยานวดที่ทำให้อาการบวมยุบลงและหายเป็นปกติ ก็เปรียบเหมือนกับลหุตารูปที่ทำให้รูปที่หนักอืดอาดนั้นกลับมีสภาพเบาพร้อมขึ้นมาฉันนั้น