| |
องค์คุณแห่งการเจริญวิปัสสนา ๓ ประการ   |  

เหตุปัจจัยที่ทำให้เกิดวิปัสสนา ได้แก่ การเจริญวิปัสสนา โดยอาศัยองค์คุณของวิปัสสนา ๓ ประการ คือ

๑. อาตาปี คือ ความเพียร เป็นเครื่องเผากิเลสทั้งหลายให้เร่าร้อน ทนอยู่ไม่ได้ และความบากบั่นในการเพ่งพิจารณาอารมณ์รูปนามในวิปัสสนาภูมิโดยมิให้เกิดความท้อแท้เบื่อหน่าย

๒. สติมา คือ ความมีสติระลึกรู้สึกรู้เท่าทันสภาพของอารมณ์วิปัสสนาภูมินั้น มิให้หลุดไปจากปัจจุบันอารมณ์ และมิให้กิเลสเข้าครอบงำได้

๓. สัมปชาโน คือ ปัญญาความรู้ตัวทั่วพร้อมในสภาพของอารมณ์ที่เป็นวิปัสสนาภูมินั้น โดยความเป็นเหตุเป็นผล และเป็นแต่สภาพรูปธรรมนามธรรม มิใช่สัตว์บุคคล ตัวตน เราเขา แต่อย่างใด

การเจริญวิปัสสนานั้น ต้องทำการพิจารณาวิปัสสนาภูมิ ๖ อันเป็นสภาวะของรูปนามเป็นอารมณ์ จนมีความเห็นแจ้งในสภาพแห่งรูปนาม ที่มีความเป็นไปตามกฎแห่งไตรลักษณ์ คือ ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา มีการเกิดขึ้น มีการเปลี่ยนแปลงไปอยู่เสมอ ทนอยู่ในสภาพเดิมไม่ได้ และไม่สามารถบังคับบัญชาให้อยู่ในอำนาจได้ หรือไม่อยู่ในความบงการของใครหรือสิ่งใด ๆ ย่อมเป็นไปตามเหตุตามปัจจัย เมื่อเห็นแจ้งอย่างนี้แล้ว จึงเกิดความเบื่อหน่าย เมื่อเบื่อหน่ายแล้ว ย่อมคลายความกำหนัดยินดีในรูปนามนั้น เมื่อคลายกำหนัดได้แล้ว ย่อมปรารถนาความหลุดพ้นจากสภาพของรูปนามนั้น ย่อมแสวงหาและฝึกฝนพัฒนาสติปัญญาให้แก่กล้าขึ้นตามลำดับ ซึ่งวิปัสสนาภูมิ ๖ หมวดนั้น เมื่อย่อลงแล้ว ก็ได้แก่ รูป กับ นาม เท่านั้น ในเบื้องต้นต้องพิจารณาแยกให้เห็นโดยความเป็นรูปนามก่อนแล้ว จึงกำหนดพิจารณาดูอาการเป็นไปของรูปนามนั้น จนเห็นปัจจัยที่ทำให้เกิดรูปนามขึ้น ต่อจากนั้น จึงกำหนดพิจารณารูปนามนั้นให้เห็นโดยความเป็นไตรลักษณ์ว่า รูปนามมีลักษณะที่ไม่เที่ยง ทนอยู่ในสภาพเดิมไม่ได้ บังคับบัญชาให้เป็นไปตามใจปรารถนาก็ไม่ได้ เมื่อพิจารณาเห็นรูปนามโดยความเป็นไตรลักษณ์อย่างนี้แล้ว สามารถละความเห็นผิด ความเข้าใจผิด ความสำคัญมั่นหมายผิดว่า รูปนามเป็นของเที่ยง เป็นสุข เป็นตัวตน ตลอดจนเห็นว่า เป็นสิ่งที่สวยงาม การเห็นผิด การเข้าใจผิด และการสำคัญผิด นี้เรียกว่า วิปลาสธรรม คือ เป็นสิ่งที่คลาดเคลื่อนไปจากความเป็นจริง


เกี่ยวกับตำราอภิธรรม ออนไลน์ (Disclaimer)
ตำราอภิธรรมออนไลน์ พัฒนาขึ้นโดยความร่วมมือของอภิธรรมมหาวิทยาลัย วัดระฆังฯ วัดญาณเวศกวัน และ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ เพื่อนำเสนอสื่อธรรมสำหรับการศึกษาค้นคว้า โดยได้รับอนุญาต และเอกสารต้นฉบับจากผู้เขียน ดังนี้
(๑) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๒), จิตปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๑, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๒) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๖), เจตสิกปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๒, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๓) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๖๓), รูปปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๖, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
ผู้สนใจศึกษาสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับหนังสือ และหลักสูตรการศึกษาได้ที่ สำนักงานอภิธรรมมหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย วัดระฆังโฆษิตารามวรมหาวิหาร (คณะ ๗) แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ ๑๐๗๐๐ โทร ๐๒ ๔๑๑ ๔๕๔๖, ๑๒ ๔๑๒ ๑๐๘๔, ๐๘๖ ๐๓๘ ๒๙๓๓


  |