| |
ประเภทของลหุตารูป   |  

ผู้เขียนได้ประมวลสรุปประเภทของลหุตารูปไว้ดังต่อไปนี้

ลหุตารูป เป็นรูปที่เกิดจากสมุฏฐาน ๓ คือ จิต อุตุ อาหาร ทั้งภายในร่างกายสัตว์ และภายนอกร่างกายสัตว์ เป็นรูปที่ปรากฏเป็นเพียงอาการเบาของนิปผันนรูป ซึ่งมีสภาพเป็นธัมมารมณ์ สามารถรับรู้ได้ทางมโนทวารเท่านั้น มี ๓ ประเภท ตามสมุฏฐาน คือ

๑. จิตตชลหุตา ได้แก่ ความเบาของนิปผันนรูปที่เกิดจากจิตเป็นสมุฏฐาน

๒. อุตุชลหุตา ได้แก่ ความเบาของนิปผันนรูปที่เกิดจากอุตุเป็นสมุฏฐาน

๓. อาหารชลหุตา ได้แก่ ความเบาของนิปผันนรูปที่เกิดจากอาหารเป็นสมุฏฐาน

มีอธิบายดังต่อไปนี้

๑. จิตตชลหุตา คือ ความเบาของนิปผันนรูปที่เกิดจากจิตเป็นสมุฏฐานนั้น หมายความว่า บางครั้งร่างกายของคนหรือสัตว์อาจมีความหนักหน่วงหรืออึดอัดด้วยการตรากตรำทำงานหนัก หรือถูกสภาพอากาศหรือสภาพแวดล้อมกรากกรำ แต่ถ้าบุคคลนั้นมีใจหึกเหิมต่อสู้กับการงานหรือทนต่อการกรากกรำของสภาพแวดล้อมได้ โดยไม่อนาทรร้อนใจกับสิ่งเหล่านั้น หรือมีความเบิกบานใจหรือมีความหวังในเรื่องใดเรื่องหนึ่งหล่อเลี้ยงอยู่ ด้วยจิตที่เบิกบานหรือมีความหวังอยู่นั้นย่อมทำให้อาการอึดอัดหนักหน่วงของร่างกายนั้นผ่อนคลายลงหรือไม่มีความรู้สึกต่ออาการนั้นเลย อีกนัยหนึ่ง อาการอึดอัดของร่างกายบางครั้งเกิดจากความหนักของจิตใจที่เก็บกดหรือสะสมความเครียดไว้อย่างต่อเนื่อง จนรู้สึกว่าร่างกายอึดอัดหนักหน่วงหรือหมดเรี่ยวแรงที่จะต่อสู้การงานหรือหมดกำลังใจที่จะต่อสู้ชีวิต บางคนถึงกับเกิดอาการเจ็บป่วยล้มหมอนนอนเสื่อ รับประทานยาขนานไหนก็ไม่หาย หมอดีขนานไหนก็รักษาไม่หาย แต่เมื่อเรื่องที่หนักอกหนักใจหรือความเครียดนั้นถูกคลี่คลายลง อาการอึดอัดหนักหน่วงหรือหมดเรี่ยวแรงถึงกับล้มป่วยนั้น ก็หายไปเป็นปลิดทิ้ง ทำให้ร่างกายเบาพร้อมเป็นปกติ โดยไม่ต้องรับประทานยา หรือไม่ต้องให้หมอรักษาเลยก็มี ดังนี้เป็นตัวอย่าง

๒. อุตุชลหุตา คือความเบาของนิปผันนรูปที่เกิดจากอุตุเป็นสมุฏฐาน หมายความว่า ความอึดอัดหนักหน่วงของร่างกายดังกล่าวแล้วในข้อที่ ๑ นั้น อาจเกิดจากการตรากตรำทำงานหนัก หรือเกิดจากการถูกกรากกรำจากสภาพแวดล้อม หรือเกิดจากสภาพจิตใจที่อึดอัดตึงเครียด เป็นต้น ตามที่กล่าวแล้วในข้อที่ ๑ อาการเหล่านี้บางครั้งสามารถรักษาได้ด้วยอุตุชรูป ทั้งจิตตปัจจยอุตุชรูป อุตุปัจจยอุตุชรูป และอาหารปัจจยอุตุชรูป เช่น ดมยาดม ทายาม่องหรือนวดด้วยน้ำมัน การรักษาด้วยแพทย์แผนไทยหรือแพทย์แผนปัจจุบัน การรับประทานยาสมุนไพรหรือยาสามัญประจำบ้านทั่วไป การให้น้ำเกลือ หรือได้ทานข้าวร้อน ๆ ซดน้ำแกงร้อน ๆ หรือแม้แต่การดื่มเครื่องดื่มชูกำลัง การดื่มเครื่องดื่มประเภทแอลกอฮอ เป็นต้น เมื่อได้ทำการรักษาหรือบำบัดด้วยวิธีการเหล่านี้แล้ว อาการอึดอัดหนักหน่วงเป็นต้นเหล่านั้นก็สามารถจางคลายหายไป ทำให้ร่างกายมีความเบาพร้อมเป็นปกติได้

๓. อาหารชลหุตา คือ ความเบาของนิปผันนรูปที่เกิดจากอาหารเป็นสมุฏฐาน หมายความว่า อาการอึดอัดหนักหน่วงของร่างกายที่เกิดจากสาเหตุต่าง ๆ ตามที่กล่าวแล้วในข้อที่ ๑ นั้น อาการเหล่านี้บางครั้งสามารถรักษาได้ด้วยอาหารรูป เช่น การรับประทานยา ไม่ว่าจะเป็นยาแพทย์แผนไทยหรือยาแพทย์แผนปัจจุบันก็ตาม หรือรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ หรือยาบำรุงสุขภาพ อาหารเสริมสุขภาพ เป็นต้นเข้าไป เมื่ออาหารหรือยานั้นได้รับการย่อยสลาย โอชาในอาหารหรือยานั้นซึมซาบไปหล่อเหลี้ยงร่างกายแล้ว อาการอาพาธของร่างกายเหล่านั้นก็สามารถจางคลายหายไป ทำให้ร่างกายมีความเบาพร้อมเป็นปกติได้ เหล่านี้ล้วนแต่เป็นลหุตารูปที่เกิดจากอาหารรูปคือโอชาที่อยู่ในยาหรืออาหารนั้นทั้งสิ้น


เกี่ยวกับตำราอภิธรรม ออนไลน์ (Disclaimer)
ตำราอภิธรรมออนไลน์ พัฒนาขึ้นโดยความร่วมมือของอภิธรรมมหาวิทยาลัย วัดระฆังฯ วัดญาณเวศกวัน และ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ เพื่อนำเสนอสื่อธรรมสำหรับการศึกษาค้นคว้า โดยได้รับอนุญาต และเอกสารต้นฉบับจากผู้เขียน ดังนี้
(๑) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๒), จิตปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๑, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๒) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๖), เจตสิกปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๒, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๓) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๖๓), รูปปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๖, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
ผู้สนใจศึกษาสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับหนังสือ และหลักสูตรการศึกษาได้ที่ สำนักงานอภิธรรมมหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย วัดระฆังโฆษิตารามวรมหาวิหาร (คณะ ๗) แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ ๑๐๗๐๐ โทร ๐๒ ๔๑๑ ๔๕๔๖, ๑๒ ๔๑๒ ๑๐๘๔, ๐๘๖ ๐๓๘ ๒๙๓๓


  |