ไปยังหน้า : |
๑. วิปากจิตไม่ใช่จิตที่ต้องทำให้เกิดขึ้นใหม่ หมายความว่า ถ้ามีกุศลกรรมหรืออกุศลกรรมอันเป็นตัวเหตุแล้ว วิปากจิตที่เป็นตัวผล ย่อมต้องมีแน่นอน
๒. วิปากจิตเป็นจิตที่มีสภาพสงบนิ่ง ไม่ปรากฏอาการเด่นชัดอย่างใดอย่างหนึ่ง หมายความว่า เป็นจิตที่ไม่มีความขวนขวายหรือปรุงแต่งให้เกิดผลอย่างใดอย่างหนึ่งขึ้นมาใหม่แต่อย่างใด เช่น ไม้ผลที่ออกลูกมาแล้ว ก็ไม่สามารถจะไปปรุงแต่งหรือดัดแปลงให้ลูกไม้นั้นมีขนาดใหญ่หรือเล็กกว่าขนาดที่ต้นไม้นั้นสามารถจะผลิตผลมาให้ได้อีก นอกจากจะได้ทำการบำรุงหรือปรุงดินใส่ปุ๋ยดูแลต้นไม้นั้นให้ดีขึ้น เพื่อให้ออกลูกที่ดีกว่า มีขนาดใหญ่กว่า ในฤดูกาลต่อไปเท่านั้น อนึ่ง วิปากจิตนี้ เป็นจิตที่วิริยะอุตสาหะที่ประกอบร่วมด้วยนั้นมีกำลังอ่อน ซึ่งต่างกันกับกุศล อกุศลและกิริยาจิต ที่วิริยะอุตสาหะมีกำลังแก่กล้ามากกว่า
๓. วิปากจิต เป็นจิตที่มีสภาพไม่ปรากฏชัด หมายความว่า วิปากจิตทั้งหลายจะมีสภาพปรากฏชัด เฉพาะในขณะหลับสนิท คือ ในขณะที่เป็นภวังคจิตเท่านั้น ซึ่งในเวลานั้นสัตว์ทั้งหลายย่อมไม่สามารถรับรู้ได้ว่าภวังคจิตของตนมีสภาพเป็นอย่างไรและรับรู้อารมณ์อะไรอยู่ เนื่องจากหลับสนิทแล้วนั่นเอง ส่วนในขณะตื่นนั้น จิตที่ขึ้นสู่วิถี ซึ่งเป็นกุศลบ้าง อกุศลบ้าง กิริยาบ้าง ตามสมควรแก่บุคคล ย่อมปรากฏเด่นชัดมากกว่าวิปากจิตทั้งหลาย
๔. วิปากจิตเป็นจิตที่มีกำลังอ่อนและสภาพธรรมที่เกิดพร้อมกับวิปากจิตนั้นจึงมีกำลังอ่อนตามไปด้วย หมายความว่า เจตสิกที่ประกอบกับวิปากจิตนั้น ย่อมเป็นสภาพที่มีกำลังอ่อนไปตามสภาพของจิตด้วย เพราะเจตสิกทั้งหลายมีจิตเป็นใหญ่มีใจเป็นประธาน เมื่อจิตซึ่งเป็นประธานนั้นมีกำลังอ่อนแล้ว เจตสิกที่ประกอบก็พลอยมีกำลังอ่อนตามไปด้วยเช่นกัน อนึ่ง ปฏิสนธิกัมมชรูปที่เกิดพร้อมกับวิปากจิตนั้นก็ดี และจิตตชรูปที่เกิดจากวิปากจิตนั้นก็ดี จึงไม่ปรากฏสภาพที่เด่นชัดมากนัก เป็นแต่เพียงจิตตชรูปสามัญที่เป็นอาการปกติเท่านั้น ซึ่งต่างจากจิตตชรูปที่เกิดจากกุศลจิต อกุศลจิต และกิริยาจิต ที่มีกำลังและปรากฏเด่นชัดมากกว่า ฉะนั้น วิปากจิตและสภาพธรรมที่เกิดพร้อมกับวิปากจิตนั้น จึงเป็นสภาพที่มีกำลังอ่อนและไม่ปรากฏให้เห็นได้ชัดเจนนัก เช่น ความชรา ย่อมเกิดแก่บุคคลทุกคน เมื่อความเกิดมีแล้วความชรา ย่อมต้องมีแน่นอน แต่กว่าบุคคลจะรู้ว่าชราปรากฏชัด ก็ต่อเมื่อเห็นความแก่ชรามากแล้วนั่นเอง
อนึ่ง วิปากจิตที่มีกำลังและปรากฏเด่นชัด ก็มีแต่ผลจิตเท่านั้น ที่พระอริยบุคคลสามารถรับรู้ได้อย่างชัดเจน แต่ผลจิตก็ทำหน้าที่ต่างไปจากวิปากจิตทั่วไป คือ ทำหน้าที่ชวนะ เป็นการเสพอารมณ์พระนิพพานเหมือนกันกับมรรคจิตที่เป็นตัวเหตุ ฉะนั้น จึงปรากฏเด่นชัด เพราะเจตนามีกำลังแก่กล้าเป็นพิเศษนั่นเอง