ไปยังหน้า : |
อักโกสกสูตร
ครั้งหนึ่ง พระพุทธเจ้าประทับอยู่ในพระวิหารเวฬุวัน อันเป็นที่พระราชทานเหยื่อแก่กระแต เขตพระนครราชคฤห์ เมืองหลวงแห่งแคว้นมคธ อักโกสกภารทวาชพราหมณ์ได้สดับมาว่า พราหมณ์ภารทวาชโคตรผู้เป็นพี่ชายออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต ในสำนักของพระสมณโคดม จึงโกรธ ขัดใจ เข้าไปเฝ้าพระพุทธเจ้าถึงที่ประทับ ครั้นแล้ว ได้ด่าบริภาษพระพุทธเจ้าด้วยวาจาอันหยาบคาย มิใช่ของสัตบุรุษ
เมื่ออักโกสกภารทวาชพราหมณ์ด่าบริภาษอยู่อย่างนี้แล้ว พระพุทธเจ้าได้ตรัสกับอักโกสกภารทวาชพราหมณ์ว่า ดูกรพราหมณ์ ท่านจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน มิตรและอำมาตย์ ญาติสาโลหิต ผู้เป็นแขกของท่าน ย่อมมาสู่บ้านของท่านบ้างไหม
อักโกสกภารทวาชพราหมณ์ตอบว่า พระโคดมผู้เจริญ มิตรและอำมาตย์ ญาติสาโลหิต ผู้เป็นแขกของข้าพระองค์ย่อมมาบ้านของข้าพระองค์เป็นบางคราว
พระพุทธเจ้าตรัสว่า ดูกรพราหมณ์ ท่านย่อมสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน ท่านจัดของเคี้ยวของบริโภคหรือของดื่มต้อนรับมิตรและอำมาตย์ญาติสาโลหิต ผู้เป็นแขกเหล่านั้นบ้างหรือ
[อักโกสกภารทวาชพราหมณ์] พระโคดมผู้เจริญ ข้าพระองค์จัดของเคี้ยวของบริโภคหรือของดื่ม ต้อนรับมิตรและอำมาตย์ญาติสาโลหิตผู้เป็นแขกเหล่านั้นบ้างในบางคราว
[พระพุทธเจ้า] ดูกรพราหมณ์ ก็ถ้ามิตรและอำมาตย์ญาติสาโลหิตผู้เป็นแขกเหล่านั้นไม่รับ ของเคี้ยวของบริโภคหรือของดื่มนั้นจะเป็นของใคร
[อักโกสกภารทวาชพราหมณ์] พระโคดมผู้เจริญ ถ้ามิตรและอำมาตย์ญาติสาโลหิตผู้เป็นแขกเหล่านั้นไม่รับ ของเคี้ยวของบริโภคหรือของดื่มนั้น ก็เป็นของข้าพระองค์อย่างเดิม
[พระพุทธเจ้า] ดูกรพราหมณ์ ข้อนี้ก็อย่างเดียวกัน ท่านด่าเราผู้ไม่ด่าอยู่ ท่านโกรธเราผู้ไม่โกรธอยู่ ท่านหมายมั่นเรา ผู้ไม่หมายมั่นอยู่ [จ้องหาโทษ] เราไม่รับเรื่องมีการด่าเป็นต้นของท่านนั้น ดูกรพราหมณ์ เรื่องมีการด่าเป็นต้นนั้นก็เป็นของท่านผู้เดียว แล้วตรัสต่อไปว่า ดูกรพราหมณ์ ผู้ใดด่าตอบบุคคลผู้ด่าอยู่ โกรธตอบบุคคลผู้โกรธอยู่ หมายมั่นตอบบุคคลผู้หมายมั่นอยู่ ดูกรพราหมณ์ ผู้นี้เรากล่าวว่า ย่อมบริโภคด้วยกัน ย่อมกระทำตอบกัน เรานั้นย่อมไม่บริโภคร่วม ไม่กระทำตอบด้วยท่านเป็นอันขาด ดูกรพราหมณ์ เรื่องมีการด่าเป็นต้นนั้นเป็นของท่านผู้เดียว
[อักโกสกภารทวาชพราหมณ์] บริษัทพร้อมด้วยพระราชา ย่อมทราบพระโคดมผู้เจริญ อย่างนี้ว่า พระสมณโคดมเป็นพระอรหันต์ ก็เมื่อเป็นเช่นนั้น ไฉนพระโคดมผู้เจริญ จึงยังโกรธอยู่เล่า
พระพุทธเจ้าตรัสว่า
ผู้ไม่โกรธ ฝึกฝนตนเองแล้ว มีความเป็นอยู่สม่ำเสมอ หลุดพ้นแล้ว เพราะรู้ชอบ สงบ คงที่อยู่ ความโกรธจักมีมาแต่ที่ไหน ผู้ใดโกรธตอบบุคคลผู้โกรธแล้ว ผู้นั้นเป็นผู้ลามกกว่าบุคคลนั้นแหละ เพราะการโกรธตอบนั้น บุคคลไม่โกรธตอบบุคคลผู้โกรธแล้ว ชื่อว่าย่อมชนะสงครามอันบุคคลชนะได้โดยยาก ผู้ใดรู้ว่าผู้อื่นโกรธแล้ว เป็นผู้มีสติ สงบระงับเสียได้ ผู้นั้นชื่อว่า ย่อมประพฤติประโยชน์แก่ทั้งสองฝ่าย คือ แก่ตนเองและแก่บุคคลอื่น เมื่อผู้นั้นรักษาประโยชน์ทั้งสองฝ่าย คือ ของตนและของบุคคลอื่นอยู่ ชนทั้งหลายผู้ไม่ฉลาดในธรรมย่อมสำคัญบุคคลนั้นว่า เป็นคนเขลา
เมื่อพระพุทธเจ้าตรัสอย่างนี้แล้ว อักโกสกภารทวาชพราหมณ์ได้กราบทูลพระพุทธเจ้าว่า ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ภาษิตของพระองค์แจ่มแจ้งยิ่งนัก พระโคดมผู้เจริญทรงประกาศพระธรรมโดยปริยายเป็นอันมาก เปรียบเหมือนบุคคลหงายของที่คว่ำ เปิดของที่ปิด บอกทางแก่คนหลงทาง หรือส่องประทีปในที่มืด ด้วยคิดว่า คนมีจักษุย่อมเห็นรูปได้ฉันนั้น ข้าพระองค์ขอถึงพระโคดมผู้เจริญ พระธรรม และพระภิกษุสงฆ์ว่าเป็นสรณะ ขอข้าพระองค์พึงได้บรรพชาอุปสมบทในสำนักของพระโคดมผู้เจริญเถิด
อักโกสกภารทวาชพราหมณ์ได้บรรพชาอุปสมบทแล้วในสำนักของพระพุทธเจ้า ก็ท่านอักโกสกภารทวาชครั้นอุปสมบทแล้วไม่นาน หลีกไปอยู่ผู้เดียว ไม่ประมาท มีความเพียร มีตนส่งไปอยู่ ไม่นานเท่าไรนัก ก็กระทำให้แจ้งซึ่งคุณวิเศษอันยอดเยี่ยมเป็นที่สุดแห่งพรหมจรรย์ซึ่งกุลบุตรทั้งหลายออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตโดยชอบมีความต้องการ ด้วยปัญญาเป็นเครื่องรู้ยิ่งเองในปัจจุบันนี้เข้าถึงอยู่ ได้ทราบว่าชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่จะต้องทำได้ทำเสร็จแล้ว กิจอื่นอีกเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มี ก็แหละท่านพระอักโกสกภารทวาชะได้เป็นพระอรหันต์รูปหนึ่ง ในบรรดาพระอรหันต์ทั้งหลาย ดังนี้แล