ไปยังหน้า : |
นิมิต หมายถึง เครื่องหมายของสิ่งต่าง ๆ ที่ใช้กำหนดพิจารณารับรู้ ในที่นี้ หมายเอาเครื่องหมายของอารมณ์ที่ใช้กำหนดในการเจริญสมถภาวนาหรือวิปัสสนาภาวนา มี ๓ อย่าง คือ
๑. บริกรรมนิมิต หมายถึง นิมิตที่ใช้ในการบริกรรมเริ่มต้น โดยการเพ่งบริกรรมทางทวารต่าง ๆ ตามสมควรแก่สภาพของนิมิตนั้น เช่น กสิณและอสุภะต้องเพ่งบริกรรมด้วยตาดู ปากว่า ใจนึก อนุสติ ต้องเพ่งบริกรรมด้วยปากว่า ใจนึก ดังนี้เป็นต้น หรือนึกหน่วงเอานิมิตนั้นให้มาปรากฏที่ใจ เช่น อรูปกรรมฐาน ๔ เป็นต้น เพื่อให้นิมิตนั้นปรากฏทางใจต่อไป นิมิตนี้ย่อมปรากฏขึ้นในขณะแห่งบริกรรมภาวนาและขณิกสมาธิ
๒. อุคคหนิมิต หมายถึง นิมิตติดตา หลังจากพระโยคีบุคคลหมั่นเพ่งบริกรรมในบริกรรมนิมิตนั้นไปโดยไม่ยอมละความพยายาม นิมิตนั้นเริ่มปรากฏชัดทางใจ แม้จะหลับตาหรือลืมตา นิมิตนั้นก็ยังปรากฏชัดอยู่ในใจ เหมือนกับลืมตาเพ่งดูอยู่นั่นเอง เรียกว่า นิมิตขึ้นใจหรือนิมิตติดตา และเป็นนิมิตที่มีสภาพผ่องใสขึ้นกว่าของเดิม นิมิตนี้ย่อมปรากฏขึ้นในขณะแห่งบริกรรมภาวนาและขณิกสมาธิ
๓. ปฏิภาคนิมิต หมายถึง นิมิตที่เพิกใจจากอารมณ์ที่ใช้เพ่งบริกรรมออกเสีย หมายความว่า ไม่ต้องทำการเพ่งบริกรรมในนิมิตนั้นอีกต่อไป เพราะนิมิตนั้นได้ปรากฏติดแนบแน่นอยู่ที่ใจแล้ว และมีสภาพผ่องใสเปล่งปลั่งต่างจากสภาพนิมิตเดิมโดยสิ้นเชิง ทั้งสามารถที่จะทำการย่อและขยายได้ตามที่ต้องการ เรียกว่า นิมิตเทียบเคียง [กับของจริง] นิมิตนี้ย่อมปรากฏขึ้นในขณะแห่งอุปจารภาวนาและอุปจารสมาธิ จนถึงอัปปภาวนาและอัปปนาสมาธิโดยลำดับ