| |
มานะ   |  

มานะ หมายถึง ความถือตัว หรือความเย่อหยิ่ง โดยการเปรียบเทียบระหว่างตนเองกับบุคคลอื่นหรือสิ่งอื่น แบ่งเป็น ๒ อย่าง คือจิ.๕

๑. ยาถาวมานะ การถือตัวตามเหตุที่เป็นจริง มีอยู่จริง เช่น ตนดีกว่าเขา ถือตัวว่าดีกว่าเขา เป็นต้น

๒. อยาถาวมานะ การถือตัวในสิ่งที่ไม่เป็นจริง ไม่มีอยู่จริง เช่น ตนเสมอเขา ถือตัวว่าดีกว่าเขา เป็นต้น

ฉะนั้น แม้จะมีการถือตัวตามเหตุที่เป็นจริง เช่น ตนดีกว่าเขา ถือตัวว่าดีกว่าเขา ตนเสมอเขาถือตัวว่าเสมอเขา ตนเลวกว่าเขาถือว่าเลวกว่าเขา ดังนี้ย่อมจัดเป็นมานะเช่นเดียวกัน เพราะหลักสำคัญของมานะ คือ ต้องมีการเปรียบเทียบระหว่างตนเองกับบุคคลอื่นแล้วเกิดความเย่อหยิ่งยึดถือตัวตนขึ้น

มานะนี้เมื่อแยกประเภทโดยฐานะและคุณธรรมแล้ว มี ๙ อย่าง คือ

๑. ตนดีกว่าเขา ถือตัวว่า ดีกว่าเขา หมายความว่า ตนเองมีฐานะ มีการศึกษา และมีคุณธรรม เป็นต้น ดีกว่าบุคคลอื่น แล้วเกิดการเปรียบเทียบระหว่างตนเองกับบุคคลอื่นขึ้นว่า “เราดีกว่าเขา” หรือว่า “เรามันเหนือกว่าคนอื่น ไม่มีใครสู้ได้” ดังนี้เป็นต้น ย่อมจัดเป็นมานะ

๒. ตนดีกว่าเขา ถือตัวว่า เสมอเขา หมายความว่า ตนเองมีฐานะ มีการศึกษา และมีคุณธรรม เป็นต้น ดีกว่าบุคคลอื่น แล้วเกิดการเปรียบเทียบระหว่างตนเองกับบุคคลอื่นขึ้นว่า “เรากับเขาก็เหมือนกัน ไม่มีอะไรแตกต่างกันเลย” ดังนี้เป็นต้น ย่อมจัดเป็นมานะ

๓. ตนดีกว่าเขา ถือตัวว่า ด้อยกว่าเขา หมายความว่า ตนเองมีฐานะ มีการศึกษา และมีคุณธรรม เป็นต้น ดีกว่าบุคคลอื่น แล้วเกิดการเปรียบเทียบระหว่างตนเองกับบุคคลอื่นขึ้นว่า “เรามันต่ำต้อยด้อยกว่าเขา หรือเลวทรามยิ่งกว่าเขาเสียอีก คงเทียบกันไม่ได้หรอก” ดังนี้เป็นต้น ย่อมจัดเป็นมานะ

๔. ตนเสมอเขา ถือตัวว่า ดีกว่าเขา หมายความว่า ตนเองมีฐานะ มีการศึกษา และมีคุณธรรม เป็นต้น เท่าเทียมกับบุคคลอื่น แล้วเกิดการเปรียบเทียบระหว่างตนเองกับบุคคลอื่นขึ้นว่า “เราดีกว่าเขา เรามันแน่กว่าใคร ในกลุ่มเดียวกันนี้ไม่มีใครสู้เราได้” ดังนี้เป็นต้น ย่อมจัดเป็นมานะ

๕. ตนเสมอเขา ถือตัวว่า เสมอเขา หมายความว่า ตนเองมีฐานะ มีการศึกษา และมีคุณธรรม เป็นต้น เท่าเทียมกับบุคคลอื่น แล้วเกิดการเปรียบเทียบระหว่างตนเองกับบุคคลอื่นขึ้นว่า “เราก็ไม่ต่างอะไรจากเขา มีสองมือสองเท้าเหมือนกัน ไม่มีใครดีไปกว่าใคร หรือไม่มีใครเลวไปกว่าใคร” ดังนี้เป็นต้น ย่อมจัดเป็นมานะ

๖. ตนเสมอเขา ถือตัวว่า ด้อยกว่าเขา หมายความว่า ตนเองมีฐานะ มีการศึกษา และมีคุณธรรม เป็นต้น เท่าเทียมกับบุคคลอื่น แล้วเกิดการเปรียบเทียบระหว่างตนเองกับบุคคลอื่นขึ้นว่า “เรามันด้อยกว่าเขาไม่มีทางไปสู้กับเขาได้หรอก” ดังนี้เป็นต้น ย่อมจัดเป็นมานะ

๗. ตนด้อยกว่าเขา ถือตัวว่า ดีกว่าเขา หมายความว่า ตนเองมีฐานะ มีการ ศึกษา และมีคุณธรรม เป็นต้น ด้อยกว่าบุคคลอื่น แล้วเกิดการเปรียบเทียบระหว่างตนเองกับบุคคลอื่นขึ้นว่า “เราดีกว่าเขา เรามันแน่กว่าใคร ไม่มีใครสู้เราได้” ดังนี้เป็นต้น ย่อมจัดเป็นมานะ

๘. ตนด้อยกว่าเขา ถือตัวว่า เสมอเขา หมายความว่า ตนเองมีฐานะ มีการ ศึกษา และมีคุณธรรม เป็นต้น ด้อยกว่าบุคคลอื่น แล้วเกิดการเปรียบเทียบระหว่างตนเองกับบุคคลอื่นขึ้นว่า “เรากับเขา ก็ไม่มีใครดีไปกว่าใคร หรือไม่มีใครเลวไปกว่าใครหรอก” ดังนี้เป็นต้น ย่อมจัดเป็นมานะ

๙. ตนด้อยกว่าเขา ถือตัวว่า ด้อยกว่าเขา หมายความว่า ตนเองมีฐานะ มีการ ศึกษา และมีคุณธรรม เป็นต้น ด้อยกว่าบุคคลอื่น แล้วเกิดการเปรียบเทียบระหว่างตนเองกับบุคคลอื่นขึ้นว่า “เรามันระดับชั้นต่ำต้อย ไม่มีทางไปสู้เขาได้หรอก” ดังนี้เป็นต้น ย่อมจัดเป็นมานะ

เมื่อบุคคลมีความถือตัวอย่างใดอย่างหนึ่ง ในบรรดามานะ ๙ อย่างนี้ ชื่อว่า มีมานะ ซึ่งเกิดพร้อมด้วยทิฏฐิคตวิปปยุตตจิต ๔ ดวง ดวงใดดวงหนึ่ง ตามสมควรแก่เหตุปัจจัยนั้น ๆ อนึ่ง มานะนี้ ต้องมีการเปรียบเทียบกันระหว่างตนเองกับบุคคลอื่น แล้วย่อมเกิดความเย่อหยิ่งถือตัว และยึดมั่นในความคิดเห็นนั้นไว้ จึงเกิดพร้อมด้วยโลภมูลจิต


เกี่ยวกับตำราอภิธรรม ออนไลน์ (Disclaimer)
ตำราอภิธรรมออนไลน์ พัฒนาขึ้นโดยความร่วมมือของอภิธรรมมหาวิทยาลัย วัดระฆังฯ วัดญาณเวศกวัน และ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ เพื่อนำเสนอสื่อธรรมสำหรับการศึกษาค้นคว้า โดยได้รับอนุญาต และเอกสารต้นฉบับจากผู้เขียน ดังนี้
(๑) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๒), จิตปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๑, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๒) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๖), เจตสิกปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๒, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๓) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๖๓), รูปปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๖, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
ผู้สนใจศึกษาสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับหนังสือ และหลักสูตรการศึกษาได้ที่ สำนักงานอภิธรรมมหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย วัดระฆังโฆษิตารามวรมหาวิหาร (คณะ ๗) แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ ๑๐๗๐๐ โทร ๐๒ ๔๑๑ ๔๕๔๖, ๑๒ ๔๑๒ ๑๐๘๔, ๐๘๖ ๐๓๘ ๒๙๓๓


  |