ไปยังหน้า : |
๑. ทำให้เกิดความปราโมทย์ คือ ความยินดีร่าเริงบันเทิงใจ อันเกิดจากความภาคภูมิใจ เนื่องมาจากความปลอดโปร่งโล่งใจ เพราะได้พิจารณารู้เห็นและเข้าใจในสิ่งที่ตนได้ประสบพบเห็นหรือสิ่งที่ต้องการรู้นั้นอย่างกระจ่างแจ้ง ไม่คลุมเครือ
๒. ให้เกิดปีติ เมื่อเกิดความปราโมทย์แล้ว ย่อมทำให้เกิดปีติ คือ ความเอิบอิ่มใจ
๓. ให้เกิดปัสสัทธิ เมื่อเกิดปีติ ความเอิบอิ่มใจแล้ว ย่อมทำให้จิตใจสงบเยือกเย็นไม่เร่าร้อน ไม่วุ่นวายใจ
๔. ให้เกิดสุข เมื่อเกิดความสงบแล้ว ย่อมทำให้เกิดความสุขกายสบายใจ แม้จะลำบากกายบ้าง แต่ใจยังมีกำลังหล่อเลี้ยงให้ทนสู้กับการงานหรือปัญหาอุปสรรคต่าง ๆ ได้อย่างไม่ย่อท้อ
๕. ให้เกิดสมาธิ เมื่อเกิดความสุขกายสุขใจแล้ว ย่อมทำจิตใจตั้งมั่น ไม่ฟุ้งซ่าน ซัดส่าย สมาธิจิตย่อมเกิดขึ้นได้โดยง่าย
๖. ให้เกิดยถาภูตญาณทัสสนะ เมื่อสมาธิมีความตั้งมั่นโดยลำดับ จนมั่นคงหนักแน่นแล้ว ย่อมทำให้เกิดปัญญาทัสสนะ คือ ความรู้ความเห็นในเหตุผลทั้งหลายตามความเป็นจริง จนถึงการรู้รูปนามขันธ์ ๕ โดยความเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา หยั่งลงสู่ไตรลักษณ์
๗. ให้เกิดนิพพิทาญาณ เมื่อเกิดปัญญาเห็นรูปนามโดยความเป็นไตรลักษณ์แล้ว ย่อมเกิดนิพพิทาญาณ คือ ความเบื่อหน่ายในรูปนามนั้น เพราะได้พิจารณาเห็นแล้วว่า มีความไม่เที่ยงแท้ เปลี่ยนไปอยู่เสมอ ทนอยู่ในสภาพเดิมไม่ได้ จึงไม่สามารถบังคับบัญชาให้เป็นไปในอำนาจของตนได้
๘. ให้เกิดวิราคะ เมื่อเกิดความเบื่อหน่ายแล้ว ย่อมคลายความกำหนัดยินดีในรูปนามขันธ์ ๕ ที่เคยยึดถือว่า เป็นของเที่ยงแท้มั่นคง เป็นสิ่งที่ให้ความสุขได้ เป็นอัตตาตัวตนของตน และเป็นของสวยงามน่ารักน่าทะนุถนอม มาเป็นเวลานานนั้น เพราะมารู้ตามความเป็นจริงว่าเป็นไปตรงกันข้ามกับที่ตนเคยยึดถือมา
๙. ให้เกิดวิมุตติ เมื่อคลายความกำหนัดยินดีได้แล้ว จิตย่อมเป็นสภาพหลุดพ้นจากอำนาจกิเลสที่ทำให้จิตใจเศร้าหมอง และในที่สุดย่อมหลุดพ้นจากการเวียนว่ายตายเกิดในสังสารวัฏฏ์ได้