ไปยังหน้า : |
เอกัคคตาเจตสิก เป็นธรรมชาติที่สงบและทำให้สัมปยุตตธรรมตั้งมั่นอยู่ในอารมณ์เดียว ดังมีวจนัตถะแสดงว่า “เอกัคคัง อุปะคัจฉะตีติ เอกัคคะตา [วา] เอการัมมะเณ ติฏฐันติ สุปะติฏฐันติ เอเตนาติ เอกัคคะตา” แปลความว่า ธรรมชาติที่เข้าถึงความมีอารมณ์เดียว ชื่อว่า เอกัคคตา [อีกนัยหนึ่ง] สัมปยุตตธรรมทั้งหลาย ย่อมตั้งมั่นอยู่ในอารมณ์เดียวได้ เพราะอาศัยธรรมชาตินั้น ฉะนั้น ธรรมชาตินั้น จึงชื่อว่า เอกัคคตา หมายความว่า เอกัคคตาเจตสิกเป็นสภาวธรรมที่เป็นความสงบของสัมปยุตตธรรม คือ จิตและเจตสิกที่เกิดพร้อมกันในจิตดวงเดียวกัน ทำให้สัมปยุตตธรรมทั้งหลายสามารถตั้งอยู่ในอารมณ์เดียวได้จนครบ ๓ อนุขณะของจิต ได้แก่ อุปปาทขณะ ขณะเกิด, ฐีติขณะ ขณะตั้งอยู่, และภังคขณะ ขณะดับ หรือทำให้สัมปยุตตธรรมไม่ซัดส่ายไปหาอารมณ์อื่น ก่อนที่จะครบกำหนด ๓ อนุขณะนั่นเอง ด้วยอำนาจแห่งเอกัคคตาเจตสิกนี้เองที่ทำให้จิตมีความสงบเป็นขณะ ๆ จนสามารถสงบตั้งมั่นอยู่ในอารมณ์เดียวได้เป็นเวลานาน