| |
ผัสสะ ๖ ทำให้เกิดวิญญาณ ๖   |  

ผัสสะ ๖ ประการนี้ ย่อมเป็นปัจจัยให้เกิดการรับรู้อารมณ์ทางทวาร ๖ เรียกว่า วิญญาณ ๖ ได้แก่

๑. จักขุสัมผัสสะเป็นปัจจัยให้เกิดจักขุวิญญาณ คือ จักขุปสาทกระทบกับรูปารมณ์ทำให้เกิดจักขุวิญญาณ [การเห็นรูป]

๒. โสตสัมผัสสะเป็นปัจจัยให้เกิดโสตวิญญาณ คือ โสตปสาทกระทบกับ สัททารมณ์ทำให้เกิดโสตวิญญาณ [การได้ยินเสียง]

๓. ฆานสัมผัสสะเป็นปัจจัยให้เกิดฆานวิญญาณ คือ ฆานปสาทกระทบกับคันธารมณ์ทำให้เกิดฆานวิญญาณ [การรู้กลิ่น]

๔. ชิวหาสัมผัสสะเป็นปัจจัยให้เกิดชิวหาวิญญาณ คือ ชิวหาปสาทกระทบกับรสารมณ์ทำให้เกิด ชิวหาวิญญาณ [การรู้รส]

๕. กายสัมผัสสะเป็นปัจจัยให้เกิดกายวิญญาณ คือ กายปสาทกระทบกับโผฏฐัพพารมณ์ ทำให้เกิดกายวิญญาณ [การรู้สัมผัส]

๖. มโนสัมผัสสะเป็นปัจจัยให้เกิดมโนวิญญาณ มโนทวารกระทบกับธัมมารมณ์ ทำให้เกิด มโนวิญญาณ [การรู้ทางใจ]

อธิบายความหมาย

๑. จักขุสัมผัสสะเป็นปัจจัยให้เกิดจักขุวิญญาณ การเห็นรูปเกิดขึ้นเพราะการกระทบอารมณ์ทางจักขุทวาร หมายความว่า เมื่อมีรูปารมณ์คือสีต่าง ๆ เช่น สีเขียว สีเหลือง สีแดง สีขาว เป็นต้น ของวัตถุสิ่งใดสิ่งหนึ่ง มาปรากฏทางจักขุทวาร เพราะอาศัยคลื่นแสงของวัตถุสิ่งนั้น มากระทบกับจักขุประสาท ทำหน้าที่เป็นจักขุวัตถุ คือ สถานที่อาศัยเกิดของจักขุวิญญาณจิต และทำหน้าที่เป็นจักขุทวาร คือ ช่องทางอาศัยรับรู้อารมณ์ของจักขุทวารวิถีจิตทั้งหมด และเมื่อมีเหตุปัจจัยให้เกิดจักขุวิญญาณจิต ตลอดถึงจักขุทวารวิถีจิตดวงอื่น ๆ สมบูรณ์พร้อมแล้ว ธรรม ๓ อย่าง คือ จักขุวัตถุ รูปารมณ์ และจักขุวิญญาณ ย่อมประชุมพร้อมกันได้ ทำให้เกิดการรับรู้รูปารมณ์ คือ การเห็นขึ้น เพราะฉะนั้น การเห็น จึงเรียกว่า จักขุสัมผัสสะ คือ การกระทบกันของสภาวธรรมทางจักขุทวาร ถ้าขาดเหตุปัจจัยอย่างใดอย่างหนึ่งไปแล้ว การกระทบกัน หรือการเห็นย่อมเกิดขึ้นไม่ได้ โดยไม่มีใครหรือสิ่งใด มาบงการหรือบังคับบัญชาให้เป็นไปได้ แต่เป็นไปโดยเหตุปัจจัยของสภาวธรรมเท่านั้น

๒. โสตสัมผัสสะเป็นปัจจัยให้เกิดโสตวิญญาณ การได้ยินเสียงเกิดขึ้นเพราะการกระทบอารมณ์ทางโสตทวาร หมายความว่า เมื่อมีสัททารมณ์คือเสียงต่าง ๆ ของบุคคล สัตว์ หรือวัตถุสิ่งของอย่างใดอย่างหนึ่ง มาปรากฏทางโสตทวาร เพราะอาศัยคลื่นเสียงมากระทบกับโสตประสาทซึ่งทำหน้าที่เป็นโสตวัตถุ คือ สถานที่อาศัยเกิดของโสตวิญญาณจิต และทำหน้าที่เป็นโสตทวาร คือ ช่องทางอาศัยรับรู้อารมณ์ของโสตทวารวิถีจิตทั้งหมด เมื่อมีเหตุปัจจัยให้เกิดโสตวิญญาณจิต และโสตทวารวิถีจิตดวงอื่น ๆ สมบูรณ์พร้อมแล้ว ธรรม ๓ อย่าง คือ โสตวัตถุ สัททารมณ์ และโสตวิญญาณ ย่อมประชุมพร้อมกัน ทำให้เกิดการรับรู้สัททารมณ์ คือ การได้ยิน เพราะฉะนั้น การได้ยินนี้ จึงเรียกว่า โสตสัมผัสสะ คือ การกระทบกันของสภาวธรรมทางโสตทวาร ถ้าขาดเหตุปัจจัยอย่างใดอย่างหนึ่งไป การกระทบกันหรือการได้ยิน ย่อมเกิดขึ้นไม่ได้ โดยไม่มีใครหรือสิ่งใดมาบงการหรือบังคับบัญชาให้เป็นไปได้ แต่เป็นไปโดยเหตุปัจจัยของสภาวธรรมเท่านั้น

๓. ฆานสัมผัสสะเป็นปัจจัยให้เกิดฆานวิญญาณ การรู้กลิ่นเกิดขึ้นเพราะการกระทบอารมณ์ทางฆานทวาร หมายความว่า เมื่อมีคันธารมณ์คือกลิ่นต่าง ๆ ของบุคคล สัตว์ หรือวัตถุสิ่งของอย่างใดอย่างหนึ่ง มาปรากฏทางฆานทวาร เพราะอาศัยคลื่นลมพัดพามากระทบกับฆานประสาทซึ่งทำหน้าที่เป็นฆานวัตถุ คือ สถานที่อาศัยเกิดของฆานวิญญาณจิต และทำหน้าที่เป็นฆานทวาร คือ ช่องทางอาศัยรับรู้อารมณ์ของฆานทวารวิถีจิตทั้งหมด เมื่อมีเหตุปัจจัยให้เกิดฆานวิญญาณจิต ตลอดถึงฆานทวารวิถีจิตดวงอื่น ๆ สมบูรณ์พร้อมแล้ว ธรรม ๓ อย่าง คือ ฆานวัตถุ คันธารมณ์ และฆานวิญญาณ ย่อมประชุมพร้อมกัน ทำให้เกิดการรับรู้คันธารมณ์ คือ การรู้กลิ่น เพราะฉะนั้น การรู้กลิ่นนี้ จึงเรียกว่า ฆานสัมผัสสะ คือ การกระทบกันของสภาวธรรมทางฆานทวาร ถ้าขาดเหตุปัจจัยอย่างใดอย่างหนึ่งไป การกระทบกันหรือการรู้กลิ่น ย่อมเกิดขึ้นไม่ได้ โดยไม่มีใครหรือสิ่งใด มาบงการหรือบังคับบัญชาให้เป็นไปได้ แต่เป็นไปโดยเหตุปัจจัยของสภาวธรรมเท่านั้น

๔. ชิวหาสัมผัสสะเป็นปัจจัยให้เกิดชิวหาวิญญาณ การรู้รสเกิดขึ้นเพราะการกระทบอารมณ์ทางชิวหาทวาร หมายความว่า เมื่อมี รสารมณ์คือรสต่าง ๆ ของวัตถุสิ่งของอย่างใดอย่างหนึ่ง ที่สามารถลิ้มชิมหรือบริโภคเข้าไปได้มาปรากฏทางชิวหาทวาร เพราะอาศัยธาตุน้ำช่วยย่อยและซึมซาบเข้ามากระทบกับชิวหาประสาทซึ่งทำหน้าที่เป็นชิวหาวัตถุ คือ สถานที่อาศัยเกิดของชิวหาวิญญาณจิต และทำหน้าที่เป็นชิวหาทวาร คือ ช่องทางอาศัยรับรู้อารมณ์ของชิวหาทวารวิถีจิตทั้งหมด เมื่อมีเหตุปัจจัยให้เกิดชิวหาวิญญาณจิต ตลอดถึงชิวหาทวารวิถีจิตดวงอื่น ๆ สมบูรณ์พร้อมแล้ว ธรรม ๓ อย่าง คือ ชิวหาวัตถุ รสารมณ์ และชิวหาวิญญาณ ย่อมประชุมพร้อมกัน ทำให้เกิดการรับรู้รสารมณ์ คือ การรู้รส เพราะฉะนั้น การรู้รสนี้ จึงเรียกว่า ชิวหาสัมผัสสะ คือ การกระทบกันของสภาพธรรมทางชิวหาทวาร ถ้าขาดเหตุปัจจัยอย่างใดอย่างหนึ่งไป การกระทบกันหรือการรู้รส ย่อมเกิดขึ้นไม่ได้ โดยไม่มีใครหรือสิ่งใด มาบงการหรือบังคับบัญชาให้เป็นไปได้ แต่เป็นไปโดยเหตุปัจจัยของสภาวธรรมเท่านั้น

๕. กายสัมผัสสะเป็นปัจจัยให้เกิดกายวิญญาณ การรู้กระทบสัมผัสเกิดขึ้นเพราะการกระทบอารมณ์ทางกายทวาร หมายความว่า เมื่อมี โผฏฐัพพารมณ์คือสัมผัสต่าง ๆ ที่เป็นความเย็น ร้อน อ่อน แข็ง หย่อน ตึง ของสัตว์ บุคคล หรือวัตถุสิ่งของอย่างใดอย่างหนึ่งที่สามารถกระทบกับกายประสาทได้มาปรากฏทางกายทวาร เพราะอาศัยธาตุดินที่มีลักษณะแข็งช่วยให้เกิดการกระทบกับกายประสาทซึ่งทำหน้าที่เป็นกายวัตถุ คือ สถานที่อาศัยเกิดของกายวิญญาณจิต และทำหน้าที่เป็นกายทวาร คือ ช่องทางอาศัยรับรู้อารมณ์ของกายทวารวิถีจิตทั้งหมด เมื่อมีเหตุปัจจัยให้เกิดกายวิญญาณจิต ตลอดถึงกายทวารวิถีจิตดวงอื่น ๆ สมบูรณ์พร้อมแล้ว ธรรม ๓ อย่าง คือ กายวัตถุ โผฏฐัพพารมณ์ และกายวิญญาณ ย่อมประชุมกัน ทำให้เกิดการรับรู้โผฏฐัพพารมณ์ คือ การรู้สึกเย็น ร้อน อ่อน แข็ง หย่อน ตึง อย่างใดอย่างหนึ่ง หรือรวมกันหลายอย่าง เพราะฉะนั้น การรู้สัมผัสนี้ จึงเรียกว่า กายสัมผัสสะ คือ การกระทบกันของสภาพธรรมทางกายทวาร ถ้าขาดเหตุปัจจัยอย่างใดอย่างหนึ่งไป การกระทบกัน หรือการรู้สัมผัส ย่อมเกิดขึ้นไม่ได้ โดยไม่มีใครหรือสิ่งใด มาบงการหรือบังคับบัญชาให้เป็นไปได้ แต่เป็นไปโดยเหตุปัจจัยของสภาวธรรมเท่านั้น

๖. มโนสัมผัสสะเป็นปัจจัยให้เกิดมโนวิญญาณ การรู้อารมณ์ทางใจเกิดขึ้นเพราะการกระทบอารมณ์ทางมโนทวาร หมายความว่า เมื่อมีธัมมารมณ์ คือ ความรู้สึกนึกคิดต่าง ๆ ในสภาวธรรมอย่างใดอย่างหนึ่ง คือ จิต เจตสิก ปสาทรูป สุขุมรูป ตลอดถึงนิพพานและบัญญัติ ที่สามารถกระทบกับมโนทวาร คือ ภวังคจิตได้ เมื่ออารมณ์เหล่านี้มาปรากฏทางมโนทวารเพราะอาศัยเหตุปัจจัยต่าง ๆ ทางมโนทวารนั้น เมื่อมีเหตุปัจจัยให้เกิดมโนวิญญาณจิตดวงใดดวงหนึ่งสมบูรณ์พร้อมแล้ว ธรรม ๓ อย่าง คือ มโนทวารได้แก่ ภวังคจิต ธัมมารมณ์ และมโนวิญญาณ ย่อมประชุมกัน ทำให้เกิดการรับรู้ธัมมารมณ์ คือ การรู้สึกนึกคิดอย่างใดอย่างหนึ่ง เพราะฉะนั้น การรู้สึกนึกคิดทางใจนี้ จึงเรียกว่า มโนสัมผัสสะ คือ การกระทบกันของสภาวธรรมทางมโนทวาร ถ้าขาดเหตุปัจจัยอย่างใดอย่างหนึ่งไป การกระทบกัน หรือการรู้สึกนึกคิดทางใจนี้ ย่อมเกิดขึ้นไม่ได้ โดยไม่มีใครหรือสิ่งใดมาบงการหรือบังคับบัญชาได้

อนึ่ง มโนสัมผัสสะ ยังแบ่งออกเป็น ๒ อย่าง ได้แก่

[๑] มโนธาตุสัมผัสสะ คือ การที่มโนธาตุจิต ๓ ดวงได้แก่ สัมปฏิจฉนจิต ๒ และปัญจทวาราวัชชนจิต ๑ ได้กระทบกับปัญจารมณ์ คือ อารมณ์ ๕ อย่างใดอย่างหนึ่ง อันได้แก่ กระทบกับรูปารมณ์ทางจักขุทวาร กระทบกับสัททารมณ์ทางโสตทวาร กระทบกับคันธารมณ์ทางฆานทวาร กระทบกับรสารมณ์ทางชิวหาทวาร และกระทบกับโผฏฐัพพารมณ์ทางกายทวาร แต่การกระทบกับอารมณ์ทั้ง ๕ อย่างของมโนธาตุจิต ๓ ดวงนั้น มีประสิทธิภาพทางความรู้สึกได้น้อย เนื่องจากจิตทั้ง ๓ ดวงนี้อาศัยมโนทวารคือภวังคจิตเป็นที่เกิด แต่ต้องไปทำงานรับรู้อารมณ์ทางทวารทั้ง ๕ ดังกล่าวแล้ว ด้วยเหตุนี้ จึงเป็นสภาพจิตที่มีกำลังอ่อน คือ รับรู้อารมณ์ได้น้อย เปรียบเหมือนบุคคลที่อาศัยอยู่ในสถานที่แห่งหนึ่งแล้วต้องเดินทางไปทำงานอีกแห่งหนึ่ง ทำให้เหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้า กำลังในการทำงานก็อ่อนลงด้วย

[๒] มโนวิญญาณธาตุสัมผัสสะ คือ การที่มโนวิญญาณจิต ๖๗ ดวง [เว้น มหัคคตวิบากจิต ๙] อันได้แก่ มโนทวาราวัชชนจิต ๑ กามชวนจิต ๒๙ อัปปนาชวนจิต ๒๖ ตทาลัมพนจิต ๑๑ ทำการกระทบกับธัมมารมณ์ทางมโนทวาร ซึ่งเป็นสภาพจิตที่มีประสิทธิภาพในการรับรู้อารมณ์ได้อย่างละเอียดและกว้างขวาง อีกทั้งเป็นสภาพจิตที่มีกำลังในการรับรู้ได้มากกว่าวิญญาณธาตุอื่น ๆ อันได้แก่ จักขุวิญญาณธาตุ โสตวิญญาณธาตุ ฆานวิญญาณธาตุ ชิวหาวิญญาณธาตุ กายวิญญาณธาตุ และมโนธาตุ ดังกล่าวมาแล้วนั้น เพราะมโนวิญญาณธาตุเป็นจิตที่อาศัยภวังคจิตซึ่งเป็นตัวมโนทวารเป็นสถานที่เกิด เนื่องจากมโนทวารเป็นนามธรรม เป็นสภาวธรรมที่มีกำลังมากกว่าปัญจทวารซึ่งเป็นรูปธรรม เพราะเหตุนั้น มโนวิญญาณธาตุจึงมีกำลังในการรับรู้อารมณ์มากกว่าวิญญาณธาตุอื่น เปรียบเหมือนบุคคลที่อาศัยอยู่ในสถานที่นั้นแล้วทำกิจการงานอยู่ ณ สถานที่นั้นนั่นแหละ โดยไม่ต้องเดินทางไปทำงานที่อื่น ย่อมสามารถทำกิจการงานได้มาก เนื่องจากไม่ต้องเหน็ดเหนื่อยจากการเดินทางไกล

สรุปความแล้ว ผัสสะเจตสิกนี้ ย่อมมีบทบาทสำคัญในการประสานวัตถุรูป หรือทวาร กับ อารมณ์ และวิญญาณ ทั้ง ๓ อย่างนี้ให้เชื่อมต่อกัน ทำให้เกิดการรับรู้อารมณ์ต่าง ๆ และเกิดกระบวนแห่งวิถีจิตทางทวารทั้ง ๖ ทำให้จิตเจตสิกเกิดขึ้นและวิถีจิตแล่นไปได้ ถ้าไม่มีผัสสะเจตสิกเสียแล้ว การรับรู้อารมณ์ย่อมเกิดขึ้นไม่ได้ วิถีจิตย่อมไม่สามารถแล่นไปทางทวารนั้น ๆได้เช่นเดียวกัน เพราะฉะนั้น ผัสสะเจตสิกนี้ จึงต้องประกอบกับจิตทุกดวง ไม่ว่าจิตดวงใดดวงหนึ่งเกิดขึ้น ต้องมีผัสสะเจตสิกนี้เกิดร่วมด้วยเสมอ ด้วยเหตุนี้ ผัสสะเจตสิกจึงอยู่ในกลุ่มของสัพพจิตตสาธารณเจตสิก และเมื่อผัสสะเจตสิกสามารถประกอบกับจิตได้ทุกดวงแล้ว จึงกล่าวได้ว่า ผัสสะเจตสิกนี้ สามารถเกิดร่วมกับเจตสิกอื่น ๆ ได้ทุกดวงเช่นเดียวกัน เพราะเมื่อผัสสะเจตสิกประกอบกับจิตดวงใด และในจิตดวงนั้นย่อมมีเจตสิกอื่น ๆ ประกอบร่วมด้วย แม้ในจิตดวงอื่น ๆ ย่อมเป็นไปในทำนองเดียวกันนี้ เพราะจิตที่เกิดขึ้นแต่ละดวงนั้น ย่อมมีเจตสิกเกิดร่วมด้วยอย่างน้อย ๗ ดวง ได้แก่ สัพพจิตตสาธารณเจตสิก ๗ นอกจากนี้ยังมีเจตสิกดวงอื่น ๆ ประกอบร่วมด้วย ตามสมควรที่จะเข้ากันได้ ฉะนั้น ผัสสะเจตสิกนี้ เมื่อกล่าวโดยสรุปแล้ว จึงเป็นเจตสิกที่ประกอบกับจิตได้ทั้งหมด ๘๙ หรือ ๑๒๑ ดวง และเกิดร่วมกับเจตสิกได้ทั้งหมด ๕๑ ดวง [เว้นตัวผัสสะเอง เพราะในจิตดวงหนึ่งนั้น มีผัสสะเจตสิกเพียงดวงเดียว เมื่อผัสสะถูกยกขึ้นมากล่าวเป็นประธานแล้ว ก็ไม่มีผัสสะเจตสิกอีกดวงหนึ่งเกิดร่วมด้วยในจิตดวงนั้นอีก] ด้วยเหตุผลดังกล่าวมานี้ ผัสสะเจตสิกจึงมีบทบาทสำคัญต่อชีวิตของสัตว์ทั้งหลาย ถ้าขาดผัสสะเสียแล้ว ชีวิตของสัตว์ทั้งหลายย่อมดำเนินไปไม่ได้ จำต้องหยุดชะงักลง และมีสภาพไม่ต่างอะไรกับสิ่งไม่มีชีวิต เช่น ท่อนไม้ และท่อนฟืน เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม ผัสสะเจตสิกนี้ ย่อมเกิดจากเหตุปัจจัยของมันเอง จะมีใครไปจัดแจง หรือบงการบังคับบัญชาให้มันทำหน้าที่เช่นนั้นก็หาไม่ ด้วยเหตุนี้ ผัสสเจตสิกจึงจัดอยู่ในกฎของไตรลักษณ์ คือ ไม่เที่ยง เมื่อเกิดขึ้นแล้วย่อมเปลี่ยนแปลงไป เป็นทุกข์ คือ ทนอยู่ในสภาพเดิมไม่ได้ ต้องก้าวไปสู่ความดับ และไม่ใช่ตัวตน คือ ไม่มีใครจัดแจง หรือ บงการบังคับบัญชาให้มันเป็นไปดังใจปรารถนาได้ จึงควรพิจารณาโดยเป็นเพียงสภาวธรรมอย่างหนึ่ง ที่เกิดขึ้นตามเหตุปัจจัย เพื่อทำหน้าที่ของตนให้สำเร็จเรียบร้อย และก็ดับไปเป็นธรรมดา ไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัวตน เราเขา แต่อย่างใด

อนึ่ง ในปฏิจจสมุปบาททีปนี ท่านกล่าวว่า “สฬายตนปจฺจยา ผสฺโส สมฺภวติ” แปลว่า ผัสสะเกิดขึ้นเพราะมีสฬายตนะเป็นปัจจัย หมายความว่า ผัสสะจะเกิดขึ้นได้ ต้องมีอายตนะภายใน ๖ และอายตนะภายนอก ๖ ประชุมพร้อมกันเจ.๔ จึงทำให้เกิดผัสสะขึ้นได้ ถ้าขาดไปฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ผัสสะนี้ย่อมเกิดขึ้นไม่ได้เช่นเดียวกัน จึงกล่าวได้ว่า ผัสสะนี้เกิดจากเหตุปัจจัย ไม่มีใครมาจัดแจงหรือบงการบังคับบัญชาให้เป็นไปได้ แต่เป็นไปโดยเหตุปัจจัยของสภาวธรรมเท่านั้น

อนึ่ง ผัสสะเจตสิกนี้ ชื่อว่า ผัสสาหาร แปลว่า สภาวธรรมที่นำมาซึ่งผลของตน คือ นำมาซึ่งเวทนาให้เกิดขึ้น เพราะฉะนั้น เวทนาจึงเป็นผลของผัสสะ ดังในปฏิจจสมุปบาททีปนีแสดงว่า “ผสฺสปจฺจยา เวทนา สมฺภวติ” แปลว่า เวทนาเกิดขึ้นเพราะมีผัสสะเป็นปัจจัย


เกี่ยวกับตำราอภิธรรม ออนไลน์ (Disclaimer)
ตำราอภิธรรมออนไลน์ พัฒนาขึ้นโดยความร่วมมือของอภิธรรมมหาวิทยาลัย วัดระฆังฯ วัดญาณเวศกวัน และ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ เพื่อนำเสนอสื่อธรรมสำหรับการศึกษาค้นคว้า โดยได้รับอนุญาต และเอกสารต้นฉบับจากผู้เขียน ดังนี้
(๑) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๒), จิตปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๑, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๒) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๖), เจตสิกปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๒, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๓) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๖๓), รูปปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๖, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
ผู้สนใจศึกษาสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับหนังสือ และหลักสูตรการศึกษาได้ที่ สำนักงานอภิธรรมมหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย วัดระฆังโฆษิตารามวรมหาวิหาร (คณะ ๗) แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ ๑๐๗๐๐ โทร ๐๒ ๔๑๑ ๔๕๔๖, ๑๒ ๔๑๒ ๑๐๘๔, ๐๘๖ ๐๓๘ ๒๙๓๓


  |