ไปยังหน้า : |
บัณฑิตผู้มีปัญญาเป็นเครื่องพิจารณาโดยอุบายอันแยบคายแล้ว ย่อมสามารถกำหนดพิจารณาเรียนรู้สภาวะของอโลภเจตสิก อันเป็นปรมัตถธรรมอย่างหนึ่ง ซึ่งนับเนื่องในสังขารขันธ์ เพราะเป็นสภาวธรรมที่ปรุงแต่งจิตให้เกิดการรับรู้อารมณ์เป็นพิเศษออกไปจากเวทนาขันธ์และสังขารขันธ์ โดยอาศัยคุณสมบัติพิเศษเฉพาะตน ที่ไม่เหมือนกับสภาวธรรมเหล่าอื่น ๔ ประการ ที่เรียกว่า วิเสสลักษณะ หรือ ลักขณาทิจตุกะ ดังต่อไปนี้
๑. อะลัคคะภาวะลักขะโณ วา อะเคธะลักขะโณ มีความที่จิตไม่ติดข้องอยู่ในอารมณ์ เป็นลักษณะ หรือ มีความไม่อยากได้แห่งจิตในกามคุณอารมณ์ เป็นลักษณะ หมายความว่า อโลภเจตสิกนี้เป็นสภาพธรรมที่ไม่มีความอยากได้ไม่มีความยึดในอารมณ์ เมื่อเกิดขึ้นแล้ว ย่อมทำให้สัมปยุตตธรรมคือจิตและเจตสิกที่เกิดพร้อมกับตนคลายจากความยินดีพอใจในกามคุณอารมณ์ต่าง ๆ และความทะยานอยากต่าง ๆ ย่อมจางคลายหายไป ความกำหนัดยินดีติดใจก็จะเหือดแห้งไป สภาพจิตย่อมมีความเบาสบาย เพราะการไม่ยึดติดในอารมณ์ต่าง ๆ เปรียบเหมือนหยาดน้ำที่ไม่ติดอยู่บนใบบัว
๒. อะปะริคคะหะระโส มีความไม่หวงแหน เป็นกิจ หมายความว่า อโลภเจตสิกเป็นสภาวธรรมที่มีการเสียสละ ปล่อยวาง ไม่ยึดติดหวงแหนในอารมณ์ เมื่อเกิดขึ้นแล้วย่อมทำให้สัมปยุตตธรรมที่เกิดพร้อมกับตนนั้นผ่อนคลายจากความหวงแหน [มัจฉริยะ] และทำให้หายไปในที่สุด จึงทำให้บุคคลสามารถสละทรัพย์สมบัติให้เป็นทานแก่บุคคลอื่นได้ เปรียบเหมือนภิกษุผู้ปล่อยวางได้แล้ว ย่อมไม่ยึดติดในสิ่งต่าง ๆ ดำเนินชีวิตอยู่ได้อย่างเบาสบาย เหมือนนกที่โผผินบินไปในที่ต่าง ๆ ได้
๓. อะนัลลียะนะภาวะปัจจุปปัฏฐาโน มีความไม่ติดอยู่ในอารมณ์ที่น่ารัก น่ายินดี เป็นอาการปรากฏ เหมือนบุรุษที่ตกลงไปในของที่ไม่สะอาด หมายความว่า อโลภเจตสิกนี้เป็นสภาวธรรมที่มีความไม่ติดข้องอยู่ในอารมณ์ ถึงแม้จะต้องเกี่ยวข้องกับอารมณ์ต่าง ๆ อยู่เสมอก็ตาม แต่สภาพจิตของบุคคลผู้ประกอบด้วย อโลภเจตสิกนั้น ย่อมไม่พัวพันติดอยู่กับอารมณ์ ด้วยเหตุนี้ อโลภเจตสิกจึงเปรียบเสมือนบุรุษที่ตกลงไปในของที่ไม่สะอาด ย่อมไม่ต้องการที่จะแช่อยู่ในของไม่สะอาดนั้น พยายามตะเกียกตะกายขึ้นให้พ้นจากของไม่สะอาดโดยเร็ว ฉันใด บุคคลผู้มีอุปนิสัยไม่โลภ ย่อมไม่ติดข้องอยู่ในกามคุณอารมณ์แม้ต้องเกี่ยวข้องกับกามคุณอารมณ์อยู่ก็ตาม แต่ไม่หมกมุ่นติดข้องอยู่ในอารมณ์เหล่านั้นเลย
๔. โยนิโสมะนะสิการะปะทัฏฐาโน มีโยนิโสมนสิการ เป็นเหตุใกล้ให้เกิด หมายความว่า บุคคลผู้มีอุนิสัยไม่โลภนั้น ย่อมเป็นผู้ที่ได้สั่งสมปัญญามา ที่เรียกว่า โยนิโสมนสิการ คือ ปัญญาที่เป็นเครื่องพิจารณาโดยอุบายอันแยบคาย เมื่อได้ใช้ปัญญาพิจารณาโดยละเอียดถี่ถ้วนและรอบคอบแล้ว ย่อมทราบความจริงของอารมณ์หรือของสิ่งทั้งปวงได้ว่า สิ่งนี้ไม่เที่ยงแท้ ไม่ยั่งยืน เป็นไปตามเหตุปัจจัย ไม่ควรยึดมั่นถือมั่นจนเป็นเหตุก่อทุกข์แก่ตนเอง ควรปล่อยวาง พิจารณาให้รู้เท่าทันตามความเป็นจริง ดังนี้เป็นต้น เมื่อเป็นผู้ที่ชอบพิจารณาเช่นนี้อยู่เสมอ ๆ ปัญญาของบุคคลนั้นย่อมคมกล้ายิ่งขึ้น เมื่อเป็นเช่นนี้ ย่อมสามารถป้องกันโลภกิเลสไม่ให้ฟูขึ้นมาได้ เพราะฉะนั้น อโลภเจตสิกจึงมีปัญญาที่ชื่อว่า โยนิโสมนสิการ เป็นเหตุใกล้ให้เกิด
คุณธรรมของอโลภะ ย่อมเป็นปัจจัยแก่ความไม่มีโรค เพราะโรคโดยมากมีสมุฏฐานมาจากความโลภ เพราะความโลภเป็นต้นเหตุ บุคคลจึงดิ้นรนแสวงหาสิ่งของมาบำรุงบำเรอร่างกายและบริโภคใช้สอยจนเกินประมาณ อันเป็นที่มาแห่งโรคทั้งหลาย เมื่อไม่ได้ดังใจย่อมเกิดความโศกเศร้าเสียใจ โรคทางจิตย่อมเกิดขึ้นตามมา
บุคคลผู้มีอุปนิสัยไม่โลภ ย่อมได้เสพแต่สิ่งที่เป็นสัปปายะ อันได้แก่ ความมักน้อยและความสันโดษ หมายความว่า ความมักน้อยและความสันโดษนั้น ชื่อว่า เป็นยอดของสัปปายะ เมื่อบุคคลมีความมักน้อยและสันโดษแล้ว ย่อมสามารถทำสิ่งต่าง ๆ ให้เป็นสัปปายะได้ เพราะเหตุที่จิตใจของบุคคลมีความเพียงพอและยินดีในสิ่งที่ตนได้และพอใจในสิ่งที่ตนมีนั่นเอง ชื่อว่า เป็นทรัพย์อันประเสริฐ