| |
วจนัตถะ [คำจำกัดความ] ของหทยรูป   |  

พระอาจารย์สัทธัมมโชติกะ ธัมมาจริยะและอาจารย์วรรณสิทธิ ไวทยะเสวีรุ.๒๘๔ ได้แสดงความหมายและวจนัตถะของหทยรูปไว้ดังต่อไปนี้

หทยรูป เป็นรูปธรรมชนิดหนึ่ง ซึ่งเกิดจากกรรมเป็นสมุฏฐาน เป็นรูปที่เป็นเหตุให้สัตว์ทั้งหลายทำสิ่งที่เป็นประโยชน์และไม่เป็นประโยชน์ เป็นรูปที่บุคคลสามารถรับรู้ได้ทางมโนทวารอย่างเดียว ดังมีวจนัตถะแสดงว่า“หทนฺติ สตฺตา ตํ ตํ อตฺถํ วา อนตฺถํ วา ปูเรนฺติ เอเตนาติ = หทยํ” แปลความว่า สัตว์ทั้งหลาย ย่อมทำสิ่งที่เป็นประโยชน์และไม่เป็นประโยชน์ให้เกิดขึ้นโดยอาศัยรูปนั้น เพราะเหตุนั้น รูปที่เป็นเหตุให้สัตว์ทั้งหลายทำสิ่งที่เป็นประโยชน์และไม่เป็นประโยชน์นี้ จึงชื่อว่า หทยรูป

บทสรุปของผู้เขียน :

จากวจนัตถะแห่งหทยวัตถุรูปที่ท่านได้แสดงไว้แล้วนั้น สรุปความหมายได้ดังนี้

หทยรูป เป็นรูปธรรมชนิดหนึ่งซึ่งเกิดจากกรรมเป็นสมุฏฐาน เป็นรูปที่เป็นเหตุให้สัตว์ทั้งหลายทำสิ่งที่เป็นประโยชน์และไม่เป็นประโยชน์ และเป็นรูปที่บุคคลสามารถรับรู้ได้ทางมโนทวารอย่างเดียวเท่านั้น

หทยวัตถุรูป เป็นรูปธรรมชนิดหนึ่งที่เกิดจากกรรม มีกรรมเป็นสมุฏฐานนั้น หมายความว่า หทยวัตถุรูปนี้ย่อมเกิดกับสัตว์มีชีวิตเท่านั้น ย่อมไม่เกิดในสิ่งไม่มีชีวิตเลย ซึ่งสภาพแห่งหทยวัตถุรูปนี้ ย่อมเป็นไปตามอำนาจแห่งกรรมของแต่ละบุคคล กล่าวคือ บุคคลใดทำกรรมมาด้วยเจตนาที่เข้มแข็งสมบูรณ์ทั้งกุศลกรรมและอกุศลกรรม บุคคลนั้นย่อมมีหทยวัตถุรูปที่มีกำลังเข้มแข็ง มีสมรรถภาพที่เข้มแข็ง สามารถรองรับการเกิดขึ้นของจิตและเจตสิกได้เป็นอย่างดี และมีภูมิต้านทานโรคภัยไข้เจ็บ มีภูมิต้านทานอารมณ์ความรู้สึกที่มากระทบได้เป็นอย่างดี และทำให้มีความนึกคิดที่เฉียบแหลม ลุ่มลึก กว้างขวาง และพิสดาร ตามสมควรแก่บุคคลนั้น ๆ ส่วนบุคคลใดทำกรรมมาด้วยกำลังเจตนาที่อ่อน บุคคลนั้นย่อมมีหทยวัตถุที่อ่อนแอ ซึ่งมีสภาพและสมรรถภาพที่ตรงกันข้ามกับหทยวัตถุของบุคคลที่เข้มแข็งดังกล่าวแล้ว

หทยวัตถุรูป เป็นรูปที่เป็นเหตุให้สัตว์ทั้งหลายทำสิ่งที่เป็นประโยชน์และไม่เป็นประโยชน์ หมายความว่า บรรดาการงานของสัตว์ทั้งหลายที่กระทำกันอยู่ทุกวันนี้ ถ้าทำในสิ่งที่ดีมีประโยชน์ ก็เรียกว่า กุศลกรรม ถ้าทำสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์ ก็เรียกว่า อกุศลกรรม ทั้งกุศลกรรมและอกุศลกรรมเหล่านี้ จะเกิดขึ้นได้ต้องอาศัยหทยรูป โดยเฉพาะสัตว์ที่เกิดในปัญจโวการภูมิ คือ ภูมิที่สัตว์มีขันธ์ครบทั้ง ๕ อย่างนั้น ถ้าไม่มีหทยรูปเสียแล้ว สัตว์นั้นไม่สามารถมีชีวิตอยู่ได้ และย่อมทำการงานต่าง ๆ หรือคิดเรื่องราวต่าง ๆ ไม่ได้เลย ย่อมมีสภาพคล้ายกับรูปหุ่น อนึ่ง กุศลกรรมและอกุศลกรรมที่ปรากฏเกิดขึ้นนั้น ล้วนแต่เป็นจิตที่อยู่ในจำพวกมโนวิญญาณธาตุทั้งสิ้น และมโนวิญญาณธาตุของปัญจโวการบุคคลทั้งหลายนั้น ล้วนแต่ต้องอาศัยหทยวัตถุรูปเกิดขึ้นทั้งสิ้น จะอาศัยวัตถุรูปอย่างอื่นมีจักขุวัตถุเป็นต้นเกิดขึ้นไม่ได้เลย เพราะวัตถุรูปอย่างอื่นนั้น เป็นเพียงที่อาศัยเกิดของวิญญาณธาตุเฉพาะของตนเท่านั้น เช่น จักขุวัตถุก็เป็นเพียงที่อาศัยเกิดของจักขุวิญญาณธาตุเท่านั้น ไม่สามารถเป็นที่อาศัยเกิดของวิญญาณธาตุอย่างอื่นได้เลย แม้โสตวัตถุ ฆานวัตถุ ชิวหาวัตถุ และกายวัตถุก็เช่นเดียวกัน ย่อมเป็นเพียงที่อาศัยเกิดของวิญญาณธาตุเฉพาะของตน ๆ มีโสตวิญญาณธาตุเป็นต้นเท่านั้น เพราะฉะนั้น มโนธาตุและมโนวิญญาณธาตุ [ของปัญจโวการสัตว์] ที่นอกจากวิญญาณธาตุ ๕ อย่างข้างต้นนั้น จึงต้องอาศัยหทยวัตถุรูปเกิดอย่างเดียว ด้วยเหตุนี้ หทยวัตถุรูป จึงได้ชื่อว่า เป็นรูปที่เป็นเหตุให้สำเร็จการงานต่าง ๆ ทั้งที่เป็นกุศลกรรมและอกุศลกรรม ดังกล่าวแล้ว

หทยวัตถุรูป เป็นรูปที่บุคคลสามารถรับรู้ได้ทางมโนทวารอย่างเดียวเท่านั้น หมายความว่า หทยวัตถุรูปนี้เป็นสุขุมรูป คือ รูปที่มีสภาพละเอียดอ่อน ไม่มีรูปร่างสัณฐาน สีสันวรรณะ และกลิ่น รส สัมผัส เป็นของเฉพาะตน จึงไม่สามารถรับรู้ได้โดยอาศัยปัญจทวาร แต่มีสภาพเหมือนสสารหรือพลังงานที่อาศัยซึมซาบอยู่ในน้ำเลือดที่หล่อเลี้ยงอยู่ข้างในก้อนเนื้อหัวใจ ที่เรียกว่า มังสหทยะ อีกทีหนึ่ง เพราะฉะนั้น สสารหรือพลังงานที่เป็นหทยวัตถุรูปนี้ จึงไม่สามารถนำไปเปลี่ยนให้แก่บุคคลอื่นได้ เพราะเป็นรูปที่เกิดจากรรม ย่อมเป็นของเฉพาะตัวของบุคคลนั้น ๆ เท่านั้น ส่วนหัวใจที่นำไปเปลี่ยนให้แก่บุคคลอื่นได้นั้น เป็นก้อนเนื้อหัวใจ ที่เรียกว่า มังสหทยะ เท่านั้น ซึ่งเป็นรูปที่เกิดจากสมุฏฐานทั้ง ๔ ได้แก่ กรรม จิต อุตุ และอาหาร รวมกันอยู่ เมื่อผ่าหรือตัดออกจากตัวบุคคลที่เป็นเจ้าของแล้ว ย่อมมีสภาพเป็นอุตุชรูปอย่างเดียว เพราะฉะนั้น การเปลี่ยนหัวใจ จึงเป็นการเปลี่ยนอุตุชรูปเท่านั้น ไม่ได้เปลี่ยนกัมมชรูปแต่ประการใด ด้วยเหตุนี้ แม้จะเอาหัวใจของบุคคลหรือสัตว์อื่นมาเปลี่ยนแล้วก็ตาม แต่ความรู้สึกนึกคิดและพฤติกรรมของบุคคลนั้นหรือสัตว์ตนนั้น ย่อมเป็นไปตามอุปนิสัยเก่าของบุคคลนั้นอยู่นั่นเอง ไม่ได้เปลี่ยนพฤติกรรมและอุปนิสัยไปตามเจ้าของหัวใจที่เอามาเปลี่ยนแต่ประการใด


เกี่ยวกับตำราอภิธรรม ออนไลน์ (Disclaimer)
ตำราอภิธรรมออนไลน์ พัฒนาขึ้นโดยความร่วมมือของอภิธรรมมหาวิทยาลัย วัดระฆังฯ วัดญาณเวศกวัน และ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ เพื่อนำเสนอสื่อธรรมสำหรับการศึกษาค้นคว้า โดยได้รับอนุญาต และเอกสารต้นฉบับจากผู้เขียน ดังนี้
(๑) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๒), จิตปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๑, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๒) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๖), เจตสิกปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๒, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๓) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๖๓), รูปปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๖, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
ผู้สนใจศึกษาสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับหนังสือ และหลักสูตรการศึกษาได้ที่ สำนักงานอภิธรรมมหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย วัดระฆังโฆษิตารามวรมหาวิหาร (คณะ ๗) แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ ๑๐๗๐๐ โทร ๐๒ ๔๑๑ ๔๕๔๖, ๑๒ ๔๑๒ ๑๐๘๔, ๐๘๖ ๐๓๘ ๒๙๓๓


  |