| |
วจนัตถะ [คำจำกัดความ] ของฆานปสาทรูป   |  

พระอาจารย์สัทธัมมโชติกะ ธัมมาจริยะ และอาจารย์วรรณสิทธิ ไวทยะเสวีรุ.๑๖๒ ได้แสดงความหมายและวจนัตถะของฆานปสาทรูปไว้ดังต่อไปนี้

ฆานปสาทรูป เป็นรูปธรรมชนิดหนึ่ง ซึ่งมีความสามารถรับคันธารมณ์ คือ กลิ่นต่าง ๆ ได้ ดังมีวจนัตถะแสดงว่า “ฆายตีติ = ฆานํ” แปลความว่า รูปใด ย่อมสูดดมกลิ่นได้ เพราะเหตุนั้น รูปนั้น จึงชื่อว่า ฆานะ ได้แก่ ฆานปสาทรูป วจนัตถะนี้เป็นการแสดงโดยอ้อม [ตามคำจำกัดความข้อที่ ๑] เพราะฆานปสาทเป็นรูปธรรมซึ่งมีสภาพเป็นอนารัมมณธรรม คือ สภาวธรรมที่ไม่สามารถรู้อารมณ์ได้ เพราะฉะนั้น ฆานปสาทรูปจึงไม่สามารถสูดดมกลิ่นได้ดังกล่าวแล้ว แต่ฆานวิญญาณจิตที่อาศัยฆานปสาทรูปเกิดขึ้นต่างหากที่เป็นผู้สูดดมกลิ่นได้

อีกนัยหนึ่ง “ฆายนฺติ เอเตนาติ = ฆานํ” แปลความว่า สัตว์ทั้งหลายย่อมสูดดมกลิ่นด้วยรูปใด เพราะเหตุนั้น รูปที่เป็นเหตุแห่งการสูดดมกลิ่นของสัตว์ทั้งหลายนั้น จึงชื่อว่า ฆานะ

อีกนัยหนึ่ง “ฆายียนฺติ เอเตนาติ = ฆานํ” แปลความว่า สัตว์ทั้งหลายพึงสูดดมกลิ่นด้วยรูปนั้น เพราะเหตุนั้น รูปที่เป็นเหตุแห่งการสูดดมกลิ่นของสัตว์ทั้งหลาย จึงชื่อว่า ฆานะ วจนัตถะนี้ เป็นการแสดงโดยมุขยนัย คือ นัยโดยตรง [ตามคำจำกัดความข้อที่ ๒] เพราะสภาวะที่สามารถสูดดมกลิ่นได้นั้น ก็มีแต่ฆานวิญญาณจิต หรือฆานทวารวิถีจิต หรือฆานทวาริกจิตเท่านั้น

บทสรุปของผู้เขียน :

ฆานปสาทรูป มีคำจำกัดความอยู่ ๒ ความหมาย คือ

๑. หมายถึง รูปที่ทำให้สามารถสูดดมกลิ่นได้ นี้เป็นการกล่าวโดยอุปจารนัย คือ นัยโดยอ้อม เพราะรูปธรรมทั้งหลาย เป็นอนารัมมณธรรม คือ สภาวธรรมที่ไม่สามารถรู้อารมณ์ได้ เพราะฉะนั้น ฆานปสาทรูปจึงไม่สามารถสูดดมกลิ่นได้ด้วยตนเอง เพียงแต่เป็นวัตถุคือเป็นสถานที่อาศัยเกิดของฆานวิญญาณจิตและเจตสิก และเป็นฆานทวารคือเป็นประตูจมูกหรือช่องทางจมูกในการรับรู้คันธารมณ์คือกลิ่นของฆานทวารวิถีจิตหรือฆานทวาริกจิตเท่านั้น

๒. หมายถึง รูปที่เป็นเหตุแห่งการสูดดมกลิ่นของสัตว์ทั้งหลาย นี้เป็นการกล่าวโดยมุขยนัย คือ นัยโดยตรง เพราะฆานวิญญาณจิต ๒ ดวงและเจตสิกที่ประกอบ ย่อมอาศัยฆานปสาทรูปนี้เป็นวัตถุเกิดขึ้น และฆานทวารวิถีจิตหรือฆานทวาริกจิตย่อมอาศัยฆานปสาทรูปนี้เป็นทวารในการรับรู้คันธารมณ์ คือ กลิ่นต่าง ๆ นั่นเอง


เกี่ยวกับตำราอภิธรรม ออนไลน์ (Disclaimer)
ตำราอภิธรรมออนไลน์ พัฒนาขึ้นโดยความร่วมมือของอภิธรรมมหาวิทยาลัย วัดระฆังฯ วัดญาณเวศกวัน และ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ เพื่อนำเสนอสื่อธรรมสำหรับการศึกษาค้นคว้า โดยได้รับอนุญาต และเอกสารต้นฉบับจากผู้เขียน ดังนี้
(๑) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๒), จิตปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๑, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๒) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๖), เจตสิกปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๒, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๓) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๖๓), รูปปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๖, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
ผู้สนใจศึกษาสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับหนังสือ และหลักสูตรการศึกษาได้ที่ สำนักงานอภิธรรมมหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย วัดระฆังโฆษิตารามวรมหาวิหาร (คณะ ๗) แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ ๑๐๗๐๐ โทร ๐๒ ๔๑๑ ๔๕๔๖, ๑๒ ๔๑๒ ๑๐๘๔, ๐๘๖ ๐๓๘ ๒๙๓๓


  |