| |
เหตุให้เกิดอโยนิโสมนสิการ ๕ ประการ   |  

อโยนิโสมนสิการ หมายถึง การทำไว้ในใจโดยอุบายอันไม่แยบคาย หมายความว่า เป็นการพิจารณาโดยไม่รอบคอบ คิดไม่ละเอียดทั่วทุกด้าน หรือเป็นความคิดที่คับแคบ เป็นความคิดที่ไม่ใช้วิจารณญาณ ทำให้ขาดปัญญาความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องตามความเป็นจริง ซึ่งเป็นปัจจัยทำให้อกุศลธรรมที่ยังไม่ได้เกิด ได้มีโอกาสเกิดขึ้น อกุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้ว ย่อมจะคงอยู่และเจริญยิ่งขึ้น กุศลธรรมที่ยังไม่เคยเกิด ย่อมไม่มีโอกาสได้เกิดขึ้น กุศลธรรมที่เคยเกิดขึ้นแล้ว ก็มีแต่จะเสื่อมสูญหมดไป โดยอาศัยเหตุปัจจัย ๕ ประการ คือ

๑. ปุพเพ อะกะตะปุญญะตา การไม่ได้ทำบุญที่เกี่ยวกับเรื่องปัญญาไว้ในปางก่อน อันเป็นอดีตเหตุ หมายความว่า เป็นบุคคลที่ไม่ได้ทำบุญกุศลมาด้วยปัญญา มักกระทำสิ่งต่าง ๆ โดยไม่ประกอบด้วยปัญญา ซึ่งทำได้ง่ายกว่า โดยไม่ต้องใช้ความรู้ หรือความคิดพิจารณามาก เมื่อผลออกมา จึงเป็นผู้ที่ไม่มีปัญญาในการพิจารณาเหตุผลของสิ่งต่าง ๆ ได้อย่างลึกซึ้ง ทำให้ถูกอวิชชาครอบงำได้โดยง่าย เป็นเหตุให้เกิดอโยนิโสมนสิการอยู่เสมอ แม้จะมีคนบอกกล่าวแนะนำชี้แจงให้ ก็มักไม่เข้าใจ หรือไม่ยอมรับฟัง

๒. อัปปะฏิรูปะเทสะวาโส การอยู่ในประเทศที่ไม่เหมาะสม หมายความว่า การที่บุคคลอยู่ในสถานที่อันเต็มไปด้วยอารมณ์ที่ทำให้เกิดอกุศลธรรมได้ง่าย เช่น หมู่บ้านสลัม หรือ บ่อนการพนัน ซึ่งเต็มไปด้วยอบายมุข เป็นต้น หรือสถานที่ใดที่เข้าไปแล้ว ทำให้อกุศลที่ยังไม่เกิด ได้เกิดขึ้น อกุศลที่เกิดขึ้นแล้ว ยิ่งเจริญงอกงามขึ้น ส่วนกุศลที่ยังไม่เกิด ก็ไม่มีโอกาสได้เกิดขึ้น กุศลที่เกิดขึ้นแล้ว ก็มีแต่เสื่อมเสียไป ไม่สามารถรักษาสภาพของกุศลไว้ได้ สถานที่นั้นชื่อว่า อัปปฏิรูปเทส คือ สถานที่อันไม่สมควร เมื่อบุคคลเข้าไปอยู่ในสถานที่เช่นนั้นนานเข้า หรือเข้าไปเสพคุ้นบ่อย ๆ ย่อมทำให้จิตใจหลงใหลไปตามอารมณ์ที่ยั่วยุได้ง่าย ทำให้ขาดปัญญา อีกนัยหนึ่ง บางคนไม่ค่อยได้รับการศึกษาที่ดี ขาดตัวอย่างที่ดี จึงทำให้เกิดอโยนิโสมนสิการได้

๓. อะสัปปุริสูปะนิสสะโย การคบหาสมาคมกับอสัตบุรุษ หมายความว่า การที่บุคคลได้คบหาสมาคมกับอสัตบุรุษ ได้แก่ ผู้มีความรู้ชั่ว มีความประพฤติต่ำทราม เมื่อบุคคลไปคบเข้า อสัตบุรุษย่อมแนะนำชักชวนไปในทางที่ไม่ดีไม่งามต่าง ๆ เช่น ชักชวนให้ดื่มน้ำเมา ชักชวนให้เล่นการพนัน ชักชวนเที่ยวเตร่ดูการละเล่น หรือชักชวนให้ทำโจรกรรมต่าง ๆ เป็นต้น แนะนำไปในวิถีทางแห่งคนพาล เช่น พระเจ้าอชาตศัตรู คบหาสมาคมกับพระเทวทัต ทำให้เกิดอโยนิโสมนสิการ ทำความเสื่อมเสียต่าง ๆ มากมาย จนยากที่จะเยียวยาแก้ไขได้

๔. อะสัทธัมมัสสะวะนัง การฟังแต่อสัทธรรม หมายความว่า บุคคลที่อยู่ไกลความเจริญทางด้านคุณธรรม และวัฒนธรรมอันดีงาม หรือไม่ชอบฟังพระสัทธรรม ชอบฟังแต่อสัทธรรม หรือไม่มีโอกาสได้ฟังพระสัทธรรม ทำให้บุคคลนั้น มีความดำริผิด ประกอบด้วยอกุศลธรรม ขาดปัญญาที่จะพิจารณาเหตุผลตามความเป็นจริง จึงทำให้เกิดอโยนิโสมนสิการได้

๕. อัตตะมิจฉาปะณิธิ การตั้งตนไว้ในทางที่ผิด หมายความว่า เป็นผู้ที่ตั้งตนไว้ในทางที่ผิดจากหลักความเป็นจริง เป็นคนไร้เหตุผล ไม่ยอมรับฟังความคิดความเห็นที่ถูกต้อง มีความมุทะลุดุดัน ปล่อยตัวปล่อยใจให้ไหลไปตามกระแสกิเลสตลอดเวลา ย่อมทำให้เกิดอโยนิโสมนสิการได้


เกี่ยวกับตำราอภิธรรม ออนไลน์ (Disclaimer)
ตำราอภิธรรมออนไลน์ พัฒนาขึ้นโดยความร่วมมือของอภิธรรมมหาวิทยาลัย วัดระฆังฯ วัดญาณเวศกวัน และ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ เพื่อนำเสนอสื่อธรรมสำหรับการศึกษาค้นคว้า โดยได้รับอนุญาต และเอกสารต้นฉบับจากผู้เขียน ดังนี้
(๑) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๒), จิตปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๑, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๒) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๖), เจตสิกปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๒, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๓) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๖๓), รูปปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๖, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
ผู้สนใจศึกษาสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับหนังสือ และหลักสูตรการศึกษาได้ที่ สำนักงานอภิธรรมมหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย วัดระฆังโฆษิตารามวรมหาวิหาร (คณะ ๗) แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ ๑๐๗๐๐ โทร ๐๒ ๔๑๑ ๔๕๔๖, ๑๒ ๔๑๒ ๑๐๘๔, ๐๘๖ ๐๓๘ ๒๙๓๓


  |