ไปยังหน้า : |
ต่อไปนี้จะได้แสดงอธิบายนัยแห่งรูป นัยที่ ๒ ชื่อว่า รูปวิภาคนัย
รูปวิภาคนัย หมายถึง นัยที่จำแนกรูปโดยพิสดาร เพื่อให้เข้าใจสภาพแห่งรูปธรรมทั้งหลายได้กว้างขวางขึ้นว่า รูปธรรมทั้ง ๒๘ รูปนั้น อาจจัดเป็นส่วนเดียว หรือสองส่วน หรือหลาย ๆ ส่วนก็ได้
ในคัมภีร์อภิธัมมัตถสังคหะและปรมัตถทีปนีรุ.๔๗๒ ได้แสดงสรุปความหมายของรูปวิภาคนัยไว้ดังต่อไปนี้
ในการจำแนกรูปนั้น ลำดับแรกพระอนุรุทธาจารย์ท่านปรารภคำที่ขึ้นต้นว่า สพฺพญฺจ [อนึ่ง รูป ๒๘ ประการทั้งหมดนี้ แม้มีประการเดียว คือ ไม่มีเหตุ มีปัจจัยปรุงแต่ง มีอาสวะ เป็นสิ่งที่ถูกปรุงแต่งขึ้น เป็นโลกียะ เป็นกามาวจร รับอารมณ์ไม่ได้ มิใช่สิ่งที่ควรประหาณ แต่ก็ถึงการจำแนกได้หลายอย่างโดยประเภทแห่งรูปภายในและรูปภายนอกเป็นต้น] เพื่อแสดงนัยที่กล่าวว่า รูปมีอย่างเดียวเช่นนี้ว่า รูป ๒๘ ประการทั้งหมดตามที่แสดงไว้โดยย่อแล้วนั้น แม้มีอย่างเดียวโดยความไม่มีเหตุ มิใช่มี ๒ อย่างโดยจำแนกเป็นรูปที่มีเหตุและรูปที่ไม่มีเหตุ เช่นเดียวกันนี้ รูปมีอย่างเดียวโดยความมีปัจจัยปรุงแต่ง มิใช่มี ๒ อย่างโดยจำแนกเป็นรูปที่มีปัจจัยปรุงแต่งและรูปที่ไม่มีปัจจัยปรุงแต่ง เป็นต้น
คาถาสังคหะที่ ๕
อิจฺเจวมฏฺวีสติ | วิธมฺปิ จ วิจกฺขณา | |
อชฺฌตฺติกาทิเภเทน | วิภชฺชนฺติ ยถารหํ ฯ |
แปลความว่า
บัณฑิตผู้เห็นแจ้ง ย่อมจำแนกรูปทั้ง ๒๘ รูปออกโดยประเภทแห่งอัชฌัตติกรูป และพาหิรรูป เป็นต้น ตามสมควรด้วยประการฉะนี้
ในคัมภีร์อภิธัมมัตถสังคหะและอภิธัมมัตถวิภาวินีฎีการุ.๔๗๓ ท่านได้แสดงอารัมภบทเรื่องการจำแนกรูปเป็นประเภทต่าง ๆ [รูปวิภาคนัย] ไว้เพียงสั้น ๆ ดังต่อไปนี้
บัดนี้ เพื่อจะแสดงนัยมีเอกวิธนัย [นัยที่แสดงถึงความหมายของรูปที่มีอย่างเดียว] เป็นต้น แห่งรูปทั้งหลาย ตามที่แสดงไว้แล้ว ท่านอาจารย์ [พระอนุรุทธาจารย์] จึงกล่าวคำมีอาทิว่า สพฺพญฺจ ปเนตํ ดังนี้
คณาจารย์อภิธรรมในประเทศไทย มีอาจารย์วรรณสิทธิ ไวทยะเสวีรุ.๔๗๔ เป็นต้น ได้แสดงอธิบายในเรื่องรูปวิภาคนัยโดยสังเขปไว้ดังต่อไปนี้
ในรูปวิภาคนัยนี้ เป็นการแสดงการจำแนกรูป ๒๘ ออกไปโดยประเภทแห่งมาติกา หรือแม่บทใหญ่ แบ่งเป็น ๒ มาติกา คือ
๑. เอกมาติกา หมายความว่า รูป ๒๘ ทั้งหมดนี้ มีสภาพเป็นส่วนอย่างเดียวกัน คือ มีประเภทและความหมายเป็นไปในส่วนเดียว มีแม่บทอย่างเดียวกัน
๒. ทุกมาติกา หมายความว่า รูปทั้ง ๒๘ รูปนั้น มีสภาพแยกได้เป็น ๒ ส่วน คือ เป็นคู่ ๆ กัน มีแม่บทและความหมายแตกต่างกันไปเป็น ๒ ส่วน และเป็นคู่ ๆ กัน