ไปยังหน้า : |
บัณฑิตผู้มีปัญญาเป็นเครื่องพิจารณาโดยอุบายอันแยบคายแล้ว ย่อมสามารถกำหนดพิจารณาเรียนรู้สภาวะของสัญญาเจตสิก ซึ่งเป็นปรมัตถธรรมอย่างหนึ่ง ที่จัดเป็นสัญญาขันธ์ โดยอาศัยคุณสมบัติพิเศษเฉพาะตน ที่ไม่เหมือนกับสภาวธรรมอื่น ๔ ประการ ที่เรียกว่า วิเสสลักษณะ หรือ ลักขณาทิจตุกะ ดังต่อไปนี้
๑. สัญชานะนะลักขะณา มีความจำอารมณ์ได้เป็นลักษณะ การจำอารมณ์ของสัญญาเจตสิกนั้น จำได้เพียงว่า สีเขียว สีแดง หรือ สั้น ยาว สูง เตี้ย แบน กลม เป็นต้นเท่านั้น ไม่สามารถที่จะรู้ถึงเหตุผลของอารมณ์นั้น ๆ ได้ เปรียบเหมือนเด็กเล็กที่จำวัตถุสิ่งของต่าง ๆ ได้ แต่ไม่รู้ว่าสิ่งของนั้น เป็นอะไร หรือไม่รู้ว่าสิ่งนั้น เป็นของจริงหรือของปลอม มีคุณค่ามากน้อย เพียงใด เป็นประโยชน์หรือไม่เป็นประโยชน์ เป็นต้น
๒. ปุนะสัญชานะนะปัจจะยะนิมิตตะกะระณะระสา มีการทำเหตุและเครื่องหมายเพื่อให้รู้ได้ เป็นกิจ หมายความว่า สัญญาเจตสิกนี้ เมื่อปรากฏขึ้นโดยอาศัยอารมณ์อย่างใดอย่างหนึ่งแล้ว ทำหน้าที่จำ โดยการทำเครื่องหมายนั้น ๆ ไว้ อุปมาเหมือนช่างไม้ ที่ทำเครื่องหมายไว้ที่ประตู หน้าต่าง เป็นต้น เพื่อให้จำได้ วันต่อมา ช่างไม้ได้เห็นไม้ที่ทำเครื่องหมายไว้ ย่อมจำได้ทันทีว่า อันนี้เป็นประตู อันนี้เป็นหน้าต่าง เป็นต้น
๓. ยะถาคะหิตะนิมิตตะภินิเวสะกะระณะปัจจุปปัฏฐานา มีการยึดมั่นในอารมณ์ตามที่จำไว้ได้ [จะผิดหรือถูกก็ตาม] เป็นอาการปรากฏ หมายความว่า เมื่อสัญญาเจตสิกทำหน้าที่จำไว้ได้แล้ว สัญญาเจตสิกนั่นแหละย่อมยึดอารมณ์ที่ตนจำได้นั้นไว้อย่างมั่นคง ถ้าจำไว้ถูกก็ยึดถูก ถ้าจำไว้ผิดก็ยึดผิด เหมือนคนตาบอดคลำช้าง การยึดอารมณ์ของสัญญาเจตสิกนี้ ไม่สามารถจะพิจารณาให้ลึกซึ้งลงไปถึงเหตุผลได้ เพราะฉะนั้น สัญญาเจตสิกนี้ย่อมมีการยึดมั่นในอารมณ์ตามที่จำไว้ได้เท่านั้น คือ จำไว้ได้อย่างไร ก็ยึดไว้อย่างนั้น
๔. ยะถาอุปัฏฐิตะวิสะยะปะทัฏฐานา มีอารมณ์ที่ปรากฏ เป็นเหตุใกล้ให้เกิด หมายความว่า สัญญาเจตสิกจะเกิดขึ้นพร้อมกับสัมปยุตตธรรมคือจิตและเจตสิกอื่น ๆ ได้ ต้องอาศัยอารมณ์ที่ปรากฏขึ้น เป็นเหตุใกล้ให้เกิด ถ้าไม่มีอารมณ์แล้ว สัญญาเจตสิกย่อมเกิดไม่ได้ อุปมาเหมือนเนื้อ [เนื้อทราย] ที่เข้าไปกินหญ้าในทุ่งนา มองไปเห็นรูปหุ่นคน ที่เจ้าของนาทำลวงไว้เพื่อรักษานา เนื้อนั้นย่อมตกใจกลัว คิดว่า เป็นคนจริง ๆ จึงวิ่งหนีไป ทั้งนี้เป็นเพราะตนเคยจำได้ว่า รูปร่างสัณฐานอย่างนี้ เป็นคน ฉะนั้น เมื่อแลเห็นหุ่นนั้นเข้า ก็สำคัญว่า เป็นคนจริง ๆ โดยไม่สามารถพิจารณาได้ว่า เป็นคนจริงหรือไม่ หุ่นเปรียบได้กับอารมณ์ที่เป็นเหตุให้สัญญาเจตสิกปรากฏขึ้น และเมื่อสัญญาเจตสิกเกิดขึ้นแล้ว รส ปัจจุปปัฏฐาน ของสัญญาเจตสิกนั้น ย่อมสำเร็จไปพร้อมกันด้วย
อนึ่ง สัญญาที่เกิดพร้อมกับปัญญา ย่อมจำไม่ผิด เพราะเป็นไปตามอำนาจของปัญญา ส่วนสัญญาเจตสิกที่ไม่ได้เกิดพร้อมกับปัญญา ย่อมจำผิดได้