| |
อาหารสมุฏฐาน   |  

ในคัมภีร์อภิธัมมัตถสังคหะและปรมัตถทีปนีรุ.๕๗๗ ได้แสดงความหมายของอาหารสมุฏฐานไว้เพียงสั้น ๆ ดังต่อไปนี้

คำว่า อาหาโร [อาหาร] คือ สารอาหาร นั่นเอง

คำว่า โอชาสงฺขาโต อาหาโร แปลว่า อาหาร ๔ โดยจำแนกเป็นอาหารที่มีกรรมเป็นสมุฏฐานเป็นต้น หรือโดยจำแนกเป็นอาหารที่กิน ดื่ม เคี้ยว และลิ้มรส และอาหารคือโอชาทั้ง ๒ ที่อยู่ภายในและภายนอกร่างกายของสัตว์มีชีวิต อาหารทั้ง ๒ ประเภทนี้ได้รับการอุปถัมภ์ด้วยการระคนกัน ย่อมก่อให้เกิดรูปได้ เพราะฉะนั้น ท่านจึงกล่าวว่า อชฺโฌหรณกาเล แปลว่า ในเวลาที่กลืนกินเข้าไปข้างใน

ในคัมภีร์อรรถกถาทั้งหมดกล่าวว่า โอชาภายนอกก่อให้เกิดรูปภายในสรีระได้เหมือนอุตุและโอชาที่มีสมุฏฐาน ๔ ซึ่งเกิดภายในกับอุตุที่เกิดภายนอกก่อให้เกิดรูปภายในสรีระ ดังสาธกในอรรถกถามัชฌิมนิกายว่า “กพฬีการาหาโร ตาว มุเข ปิตตฺโต เอว อฏฺรูปานิ สมุฏฺาเปติรุ.๕๗๘, ทนฺตวิจุณฺณิตํ ปน อชฺโฌหรียมานํ เอเกกํ สิตฺถํ อฏฺอฏฺรูปานิ สมุฏฺาเปติ ” แปลความว่า อาหารที่ทำเป็นคำ ๆ เมื่อวางไว้ในปากแล้ว ย่อมก่อให้เกิดรูปกลาป ๘ แต่เมื่อใช้ฟันเคี้ยวละเอียดแล้วกลืนกิน ข้าวเม็ดหนึ่ง ๆ ย่อมก่อให้เกิดรูปกลาปเม็ดละ ๘ กลุ่ม

ส่วนอาจารย์ธรรมบาลเถระกล่าวไว้ในมัชฌิมนิกายฎีกาว่า “อาหารที่ทำเป็นคำ ๆ เมื่อวางไว้ในปาก คือ ยังมิได้เคี้ยว ย่อมก่อให้เกิดรูปภายในสรีระได้ ด้วยเหตุเพียงนี้ พระอรรถกถาจารย์จึงกล่าวว่า “อฏฺอฏฺรูปานิ สมุฏฺาเปติรุ.๕๗๙” แปลความว่า ย่อมก่อให้เกิดรูปกลาปละ ๘ รูป โดยมุ่งหมายว่า ถ้าโอชาที่เกิดภายในสรีระก่อให้เกิดรูปได้ โอชานั้นแม้จะเกิดภายนอกสรีระก็ควรจะก่อให้เกิดรูปได้เหมือนอุตุที่เกิดภายนอกย่อมก่อให้เกิดรูปภายนอกสรีระได้ แต่โอชาภายนอกสรีระก่อให้เกิดรูปไม่ได้ โอชาดังกล่าวแม้มาถึงภายในก็ก่อให้เกิดรูปไม่ได้ ความจริง โอชาภายในสรีระอย่างเดียวย่อมก่อให้เกิดรูป ส่วนโอชาภายนอกสรีระเป็นปัจจัยอุปถัมภ์แก่โอชาภายในสรีระเท่านั้น

อุตุและโอชาภายในสรีระเป็นสภาพละเอียดยิ่ง เมื่อโอชาภายนอกเข้าไปถึงภายในก็ระคนกับอุตุภายในและมีโอชาภายในอุปถัมภ์เป็นอย่างดี ย่อมก่อให้เกิดรูปโดยให้เพิ่มพูนไขมันข้นและไขมันเหลว ส่วนข้อความในคัมภีร์อรรถกถานั้นว่า “ในเวลากลืนกินเข้าไปภายใน” หมายเอาเวลาที่มีกำลังยิ่ง

ในคัมภีร์วิสุทธิมรรคท่านพระพุทธโฆสาจารย์กล่าวว่า “มาตรา ปริภุตฺตาหาโรปิ ทารกสฺส สรีรํ ผริตฺวา รูปํ สมุฏฺาเปติ ฯ สรีเร มกฺขิตาหาโรปิ รูปํ สมุฏฺาเปติรุ.๕๘๐ แปลความว่า อาหารที่มารดากลืนกินแล้วย่อมซึมซาบไปสู่สรีระของเด็กแล้วก่อให้เกิดรูป แม้อาหารที่ทาไว้ในสรีระก็ก่อให้เกิดรูปได้

ในอรรถกถามัชฌิมนิกายข้างต้นกล่าวว่า “มุเข ปิตมตฺโต เอว อฏฺรูปานิ สมุฏฺาเปติรุ.๕๘๐ แปลความว่า อาหารที่ทำให้เป็นคำ เมื่อวางไว้ในปากแล้ว ย่อมก่อให้เกิดรูปกลาป ๘ รูป

คำว่า านปฺปตฺโตว แปลว่า ที่ถึงฐีติขณะแล้ว คือ ที่ถึงฐีติขณะของตน

อาจารย์วรรณสิทธิ ไวทยะเสวี อดีตประธานมูลนิธิแนบ มหานีรานนท์รุ.๕๘๒ ได้แสดงความหมายของอาหารสมุฏฐานไว้ ดังต่อไปนี้

อาหาร หมายถึง โอชาที่อยู่ในอาหารต่าง ๆ ที่สัตว์ได้กลืนกินเข้าไปนั่นแหละ เมื่อได้รับการย่อยจากปาจกเตโชธาตุ คือ ไฟธาตุที่ทำการย่อยอาหารแล้ว ก็จะทำให้อาหารชรูปเกิดขึ้นภายในร่างกายของสัตว์นั้นทุกขณะจิต ที่โอชาของอาหารแผ่ซึมซาบเข้าไปในร่างกายของสัตว์นั้น

อาหารที่เป็นสมุฏฐานให้รูปเกิดขึ้น ชื่อว่า อาหารสมุฏฐาน รูปที่เกิดจากอาหารเป็นสมุฏฐานนั้น ชื่อว่า อาหารชรูป

อาหาร คือ กพฬีการาหาร ได้แก่ สารอาหารที่มีอยู่ในอาหารทุกชนิดที่สัตว์กลืนกินเป็นคำเข้าไปได้ เพราะฉะนั้น อาหารรูปจึงมีได้ทั้งภายในและภายนอกสันดานของสัตว์ทั้งหลาย เช่นเดียวกันกับอุตุ เรียกอาหารรูปภายในนี้ว่า อัชฌัตตโอชา ได้แก่ อาหารที่สัตว์บริโภคเข้าไปในร่างกาย แล้วผ่านการย่อยจากปาจกเตโชธาตุคือไฟธาตุที่ทำหน้าที่ย่อยอาหาร ซึ่งมีอยู่ภายในร่างกายของสัตว์ ไฟธาตุนี้มีกรรมเป็นสมุฏฐาน เพราะฉะนั้น อาหารรูปภายใน ที่ชื่อว่า อัชฌัตตโอชา นั้น จึงได้แก่ กัมมชโอชา คือ โอชาที่อยู่ในกลุ่มกัมมชรูป

สำหรับอาหารภายนอกนั้น ชื่อว่า พหิทธโอชา คือ โอชาที่อยู่ในอวินิพโภครูป ๘ ที่มีอยู่ในอาหารต่าง ๆ ก่อนที่จะได้รับการย่อยสลายจากไฟธาตุในร่างกายของสัตว์ พหิทธโอชานี้เป็นอาหารรูปประเภทที่มีอุตุเป็นสมุฏฐาน จึงได้ชื่อว่า อุตุชโอชา

ความสัมพันธ์ระหว่างอัชฌัตตโอชาและพหิทธโอชา หรือกัมมชโอชาและอุตุชโอชาที่เกิดอยู่ในร่างกายของสัตว์ทั้งหลาย โอชาทั้ง ๒ อย่างนี้ อัชฌัตตโอชาทำหน้าที่ช่วยอุปถัมภ์ให้อาหารรูปเกิดขึ้น เรียกว่า อุปถัมภกสัตติ ส่วนพหิทธโอชานั้นทำหน้าที่ให้อาหารรูปเกิดขึ้นโดยตรง เรียกว่า ชนกสัตติ ในโอชาทั้ง ๒ ประการนี้ กัมมชโอชาสำคัญมากกว่าอุตุชโอชา เพราะช่วยอุปถัมภ์การงานให้อาหารรูปเกิดขึ้นโดยตรง

ในคัมภีร์วิสุทธิมรรคอรรถกถา ท่านแสดงว่า เอกทิวสํ ปริภูตตฺตาหาโร สตฺตาหมฺปิ อุปตฺถมฺเปติ แปลความว่า อาหารที่ได้บริโภคในวันหนึ่งนั้น ย่อมรักษาร่างกายให้ทรงอยู่ได้ตลอด ๗ วัน

ที่กล่าวเช่นนี้ มุ่งหมายถึงในมนุษยโลกนี้เท่านั้น ผู้ที่ได้บริโภคอาหารในวันหนึ่ง ย่อมจะรักษาร่างกายให้ทรงอยู่ได้ถึง ๗ วัน โดยมิต้องบริโภคอาหารอีก

การเกิดขึ้นแห่งอาหารรูปในร่างกายของสัตว์ที่เกิดโดยอาศัยครรภ์มารดานั้น อาหารรูปเริ่มเกิดขึ้นภายในสัปดาห์ที่ ๒ หรือสัปดาห์ที่ ๓ นับตั้งแต่ปฏิสนธิกาล กล่าวคือ เมื่อมารดาบริโภคอาหารเข้าไปแล้ว ในระหว่างเริ่มตั้งครรภ์ โอชานั้นย่อมแผ่ซึมซาบเข้าสู่ร่างกายของทารกที่ยังเป็นอัพพุทะ [เป็นหยาดน้ำขุ่นข้นเหมือนน้ำล้างเนื้อ] หรือเปสิ [เป็นชิ้นเนื้อเหลว ๆ] แล้วทำให้อาหารรูปเกิดขึ้นแก่ทารกนั้นได้

ส่วนสัตว์ที่เป็นสังเสทชะกำเนิดหรือโอปปาติกะกำเนิด [จำพวกที่ต้องบริโภคอาหาร] เมื่อเกิดขึ้นมาครั้งแรกนั้น ร่างกายย่อมมีอวัยวะครบบริบูรณ์ ยังมิได้บริโภคอาหารใด ๆ เข้าไปเลย อาศัยเสมหะและเขฬะของตนกลืนล่วงลำคอเข้าไปแล้ว โอชาแห่งเสมหะหรือเขฬะนั้นย่อมซึมซาบเข้าสู่ร่างกายเป็นอาหารรูปต่อไป

รวมความว่า อาหารรูปภายใน ที่เรียกว่า อัชฌัตตโอชานั้น ย่อมเกิดขึ้น เมื่อโอชาแห่งอาหารต่าง ๆ ได้ซึมซาบเข้าสู่ร่างกายของสัตว์ทั้งหลาย อาหารชรูปนี้ย่อมเกิดขึ้นตลอดเวลาติดต่อกันไปอย่างไม่ขาดสาย ตั้งแต่สัปดาห์ที่ ๒ หรือสัปดาห์ที่ ๓ หลังจากปฏิสนธิเป็นต้นมา จนถึงเวลาที่สัตว์นั้นตายลง ดังที่ได้กล่าวมาแล้ว

อาหารชรูป หมายถึง รูปที่เกิดจากอาหาร หรือรูปที่เกิดขึ้นโดยมีอาหารเป็นสมุฏฐาน มีจำนวน ๑๒ รูป ได้แก่ มหาภูตรูป ๔ โคจรรูป ๓ [เว้นสัททรูป] อาหารรูป ๑ ปริจเฉทรูป ๑ วิการรูป ๓

คำอธิบายเพิ่มเติมของผู้เขียน :

อาหารที่เป็นสมุฏฐานทำให้รูปเกิดขึ้น ชื่อว่า อาหารสมุฏฐาน รูปที่เกิดจากอาหารเป็นสมุฏฐาน ชื่อว่า อาหารชรูป

อาหารสมุฏฐาน หมายถึง โอชาที่ทำให้อาหารชรูปเกิดขึ้น ซึ่งได้แก่ โอชาที่อยู่ในอาหารต่าง ๆ และยาชนิดต่าง ๆ มีวิตามินต่าง ๆ เป็นต้น ก็มีโอชาอยู่เหมือนกัน ซึ่งเมื่อรับประทานหรือทา หรือฉีดเข้าไปแล้ว ย่อมทำให้อาหารชรูปเกิดขึ้นในร่างกายของสัตว์ได้เช่นเดียวกัน

อาหารรูป หมายถึง โอชาที่อยู่ในกพฬีการาหาร คือ อาหารต่าง ๆ ที่เป็นคำและในยาบางชนิด ที่มนุษย์และสัตว์ทั้งหลายสามารถกลืนกินได้ ซึ่งเมื่อสัตว์กลืนกินเข้าไปแล้ว ย่อมทำให้อาหารรูปเกิดขึ้นในร่างกายของตน ๆ ได้ อาหารรูปนี้ย่อมเกิดขึ้นทุกขณะของจิต นับตั้งแต่โอชาของอาหารนั้นแผ่ซึมซาบเข้าไปในร่างกายของสัตว์นั้น ๆ เรียบร้อยแล้ว

อาหารชรูป หมายถึง รูปที่เกิดจากอาหาร หรือรูปที่เกิดขึ้นโดยมีอาหารเป็นสมุฏฐาน มี ๑๒ รูป ได้แก่ มหาภูตรูป ๔ วัณณรูป ๑ คันธรูป ๑ รสรูป ๑ อาหารรูป ๑ ปริจเฉทรูป ๑ และวิการรูป ๓ ซึ่งเกิดขึ้นเป็นกลุ่มกอง เรียกว่า อาหารชกลาป มี ๒ ประเภท คือ สุทธัฏฐกกลาป ๑ ลหุตาทิเอกาทสกกลาป ๑


เกี่ยวกับตำราอภิธรรม ออนไลน์ (Disclaimer)
ตำราอภิธรรมออนไลน์ พัฒนาขึ้นโดยความร่วมมือของอภิธรรมมหาวิทยาลัย วัดระฆังฯ วัดญาณเวศกวัน และ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ เพื่อนำเสนอสื่อธรรมสำหรับการศึกษาค้นคว้า โดยได้รับอนุญาต และเอกสารต้นฉบับจากผู้เขียน ดังนี้
(๑) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๒), จิตปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๑, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๒) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๖), เจตสิกปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๒, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๓) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๖๓), รูปปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๖, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
ผู้สนใจศึกษาสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับหนังสือ และหลักสูตรการศึกษาได้ที่ สำนักงานอภิธรรมมหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย วัดระฆังโฆษิตารามวรมหาวิหาร (คณะ ๗) แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ ๑๐๗๐๐ โทร ๐๒ ๔๑๑ ๔๕๔๖, ๑๒ ๔๑๒ ๑๐๘๔, ๐๘๖ ๐๓๘ ๒๙๓๓


  |