| |
สัปปายะ [ความสบาย] ๗ ประการ   |  

สัปปายะ หมายถึง สิ่งที่อำนวยหรืออุดหนุนให้กายและใจของบุคคลทั้งหลายดำเนินไปได้โดยสะดวกสบาย โดยเฉพาะในเวลาบำเพ็ญภาวนาทางจิต เป็นสิ่งจำเป็นที่จะขาดเสียมิได้ โดยทั่วไปแล้ว ได้แก่ สภาพแวดล้อมและสภาพสังคม ซึ่งเป็นสภาพของรูปธรรมโดยมาก เพราะฉะนั้น รูปธรรมจึงมีส่วนสำคัญในความเป็นอยู่และความเป็นไปของสัตว์ทั้งหลายที่มีรูปร่างกาย อนึ่ง สัปปายะ ก็หมายถึง สมุฏฐานที่ทำให้รูปธรรมเกิดขึ้นและเป็นไปได้โดยสะดวกนั่นเอง มี ๗ ประการรุ.๖๑๐ คือ

๑. อาวาสสัปปายะ คือ สถานที่อยู่ที่เหมาะสม หมายถึง สถานที่อยู่ที่เหมาะสมแก่สภาพร่างกายซึ่งเป็นกัมมชรูป และเหมาะสมแก่สภาพจิตใจของบุคคลนั้นที่จะสามารถแสดงจิตตชรูปออกมาได้อย่างคล่องแคล่วเหมาะควรแก่การงานหรือการปฏิบัติธรรม เพราะฉะนั้น ถ้าบุคคลอยู่ในสถานที่ใดแล้ว ร่างกายปลอดโปร่งเบาสบาย ไม่มีโรคภัยไข้เจ็บเบียดเบียน ไม่มีความอึดอัดและอ่อนเพลีย เส้นประสาทมีสภาพคล่องแคล่วเหมาะควรแก่การทำงานหรือการปฏิบัติธรรม และจิตใจผ่องใสเบิกบานอาจหาญร่าเริงในธรรม ปรารภความเพียรในการทำสิ่งที่ดีงาม หรือมีความคิดอ่านที่สร้างสรรค์สุขุมลุ่มลึก สถานที่นั้น ชื่อว่า อาวาสสัปปายะ แต่ถ้าบุคคลอยู่ในสถานที่ใดแล้ว มีอาการที่เป็นไปตรงกันข้าม คือ ร่างกายไม่ปลอดโปร่ง เหนอะหนะ มีโรคภัยไข้เจ็บเบียดเบียน เกิดอาการอึดอัดและอ่อนเพลีย เส้นประสาทมึนงง ไม่คล่องแคล่ว ไม่เหมาะควรแก่การทำงานหรือการปฏิบัติธรรม และจิตใจไม่ผ่องใสเบิกบาน ไม่มีความอาจหาญร่าเริงในธรรม เกิดความเกียจคร้าน ไม่ปรารภความเพียรในการทำสิ่งที่ดีงาม หรือมีความคิดอ่านที่ไม่สร้างสรรค์ เช่น เกิดความกำหนัด ขัดเคือง เซื่องซึมท้อแท้เบื่อหน่าย ฟุ้งซ่านรำคาญใจ หรือรวนเรไม่มั่นใจในการงานที่ทำหรือในแนวทางที่ปฏิบัติอยู่ สถานที่นั้น ชื่อว่า อาวาสอสัปปายะ จึงควรทดลองอยู่ดูในแต่ละที่แต่ละแห่ง แห่งละ ๒-๓ วัน ตามสมควร เพื่อเปรียบเทียบดู เมื่อได้ความสมดุลแล้ว พึงเสพอาวาสที่เป็นสัปปายะ เว้นจากอาวาสที่เป็นอสัปปายะเสีย อนึ่ง อาวาสหรือเสนาสนะที่อยู่ที่อาศัยนั้น ได้แก่ อุตุชรูปที่เป็นสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมแก่ร่างกาย ร่างกายของบุคคลทั้งหลายนั้นเป็นกัมมชรูป ซึ่งมีสมรรถภาพที่แตกต่างกันออกไปตามที่กรรมปรุงแต่งขึ้นมา ด้วยเหตุนี้ ความสมดุลแห่งธรรมชาติกับร่างกายของบุคคลจึงแตกต่างกัน นอกจากนี้ สถานที่อยู่ที่เป็นสัปปายะซึ่งเป็นอุตุชรูปนั้น ยังหมายถึง สถานที่ที่มีส่วนทำให้จิตใจของแต่ละบุคคลมีความปลอดโปร่งโล่งสบายด้วย เพราะฉะนั้น อุตุชรูปจึงมีส่วนอุปถัมภ์สนับสนุนให้กัมมชรูปและจิตตชรูปเกิดขึ้นและเป็นไปได้โดยสะดวก

๒. โคจรสัปปายะ คือ สถานที่สำหรับเที่ยวไปที่เหมาะสม หมายถึง สถานที่สำหรับเที่ยวแสวงหาอาหารก็ดี สถานที่ที่จำเป็นจะต้องไปก็ดี รวมทั้งสิ่งของเครื่องใช้สอยต่าง ๆ นอกจากนี้ โคจรสัปปายะ ยังหมายถึง อารมณ์ที่ต้องรับรู้หรือเสพด้วย จึงต้องเหมาะสมแก่สภาวะของจิตในขณะนั้น หมายความว่า ถ้าในขณะนั้น จิตหลงไหลเพลิดเพลินด้วยอำนาจราคะ ต้องไปในสถานที่ที่ทำให้เกิดความสังเวชสลดใจ มีป่าช้าศพดิบ เป็นต้น ถ้าในขณะนั้น จิตหงุดหงิดรำคาญใจหรือจิตหดหู่ท้อถอย ต้องไปสู่สถานที่ที่ทำให้เจริญตาเจริญใจ ทำให้จิตใจปลอดโปร่ง ถ้าในขณะนั้น จิตซึมเซาด้วยอำนาจโมหะเข้าครอบงำ ต้องไปสู่สถานที่ที่ปลอดโปร่งโล่งสบาย มีอากาศถ่ายเทสะดวก ถ้าในขณะนั้น จิตถูกอุทธัจจะครอบงำทำให้จิตฟุ้งซ่านจับอารมณ์ไม่มั่น ต้องไปสู่สถานที่ที่จำกัดขอบเขตเรื่องอารมณ์คือมีอารมณ์เข้ามาน้อย จิตจะได้ไม่ฟุ้งเฟ้อไปตามความหลากหลายของอารมณ์ ถ้าในขณะนั้น จิตมีความผ่องใสด้วยอำนาจศรัทธา ต้องไปสู่สถานที่ที่ทำให้เกิดปัญญาหรือรับอารมณ์ที่ต้องใช้วิจารณญาณในการพิจารณาให้รู้เท่าทันความจริง เพื่อมิให้ศรัทธาเตลิดไปนอกเหตุผล ถ้าในขณะนั้น จิตเกิดปัญญาที่กว้างขวางมากจนเลยขอบเขต ต้องไปสู่สถานที่ที่ทำให้เกิดศรัทธาหรือรับรู้อารมณ์ที่ทำให้เกิดศรัทธา จิตจะได้ยึดเหนี่ยวอยู่ในอารมณ์ที่ควรเลื่อมใสศรัทธา

๓. ภัสสสัปปายะ คือ คำพูดที่เหมาะสม หมายถึง คำพูดที่ฟังแล้วให้เกิดความคิดที่สร้างสรรค์ เกิดความศรัทธาเลื่อมใสในสิ่งที่มีเหตุผล เกิดปัญญารู้และเข้าใจตามความเป็นจริง คำพูดก็คือวจีวิญญัติรูปที่บุคคลเปล่งออกมาด้วยอำนาจของจิต ที่เรียกว่า จิตตชรูปนั่นเอง ซึ่งได้แก่ วจีวิญญัตติสัทททสกกลาป คือ เสียงที่พูดออกมาด้วยจิตที่ไม่ค่อยปลอดโปร่ง มีความอาพาธทางใจอย่างใดอย่างหนึ่ง หรืออาพาธทางร่างกาย เช่น ป่วยไข้ หรือเจ็บคอ เป็นต้น และวจีวิญญัตติสัททลหุตาทิเตรสกกลาป คือ เสียงที่พูดออกมาด้วยจิตที่ปลอดโปร่ง มีความเบิกบานใจ และร่างกายเป็นปกติธรรมดา ทำให้เปล่งคำพูดออกมาได้อย่างสละสลวย นอกจากนี้ คำพูดที่เป็นสัปปายะนั้น จะต้องเป็นคำพูดที่เปล่งออกมาด้วยจิตที่เป็นมหากุศล สำหรับบุคคลทั่วไปที่นอกจากพระอรหันต์ ถ้าเป็นพระอรหันต์ ก็ได้แก่ จิตที่เป็นมหากิริยา จึงจะทำให้เกิดความคิดที่สร้างสรรค์ขึ้นมาได้ นอกจากบุคคลผู้มีเหตุปัจจัยแห่งโยนิโสมนสิการในเรื่องนั้น ๆ แม้จะฟังเสียงที่แสลงหูก็ตาม แต่สามารถแปลงเสียงนั้นให้เป็นสาระประโยชน์ต่อจิตใจได้

๔. ปุคคลสัปปายะ คือ บุคคลที่เหมาะสม หมายถึง บุคคลที่คบหาสมาคมนั้น สามารถเป็นตัวอย่างที่ดีหรือสามารถแนะนำสิ่งที่ดีหรือชักชวนให้ทำแต่สิ่งที่ดีได้ ซึ่งแบ่งเป็น ๒ จำพวก คือ ถ้าบุคคลนั้นยังมีเหตุปัจจัยแห่งโยนิโสมนสิการน้อย ก็ต้องคบบุคคลที่เป็นกัลยาณมิตรผู้มีกัลยาณธรรมและมีความสามารถที่จะแสดงหลักธรรมหรือเหตุผลอันก่อให้เกิดทัศนคติที่ดีแก่ผู้ฟังได้ ทำให้ผู้ฟังเกิดความรู้ความเข้าใจ เกิดความคิดที่สร้างสรรค์ และเกิดความเลื่อมใสศรัทธาในสิ่งที่ดีงามหรือในหนทางแห่งการปฏิบัติที่ดีขึ้นมาได้ แต่ถ้าเป็นบุคคลผู้มีเหตุปัจจัยแห่งโยนิโสมนสิการมามาก คือ เป็นผู้มีความรู้ความสามารถหรือมีประสบการณ์มามาก สามารถรักษาคุ้มครองตนเองหรือสามารถรักษาใจของตนเองได้ แม้จะประสบกับบุคคลที่เป็นปาปมิตรคือคนชั่วคนไม่ดีก็ตาม แต่ก็สามารถปรับทัศนคติให้เป็นไปในทางที่ดีได้ บุคคลประเภทหลังนี้สามารถจะคบหากับบุคคลได้ทุกประเภท โดยไม่ต้องห่วงกังวลว่าจะพลาดท่าเสียทีแต่อย่างใด อนึ่ง บุคคลที่เป็นสัปปายะนี้ ได้แก่ จิตตชรูปที่มีกายวิญญัติรูปและวจีวิญญัติรูปเป็นประธาน ที่เกิดจากปฏิกิริยาของจิตของบุคคลนั้นนั่นเอง ซึ่งมีกัมมชรูปเป็นผู้สนับสนุน หมายความว่า รูปร่างหน้าตาหรือบุคคลิกลักษณะที่เกิดจากกรรมนั้นเป็นตัวช่วยสนับสนุนให้บุคคลนั้นมีความน่าสนใจสำหรับบุคคลผู้พบเห็นมากน้อยเพียงใด ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญอันดับแรกที่ทำให้บุคคลอื่นเข้ามาคบหาสมาคมด้วย ต่อจากนั้น จึงเป็นจิตตชรูป กล่าวคือ กายวิญญัติรูปและวจีวิญญัติรูปที่บุคคลนั้นแสดงออกมา ถ้าแสดงออกมาด้วยจิตที่เป็นกุศลหรือโสภณจิต ก็เรียกว่า กัลยาณมิตร คือ เป็นบุคคลที่ควรคบ ถ้าแสดงออกมาด้วยจิตที่เป็นอกุศล ก็เรียกว่า ปาปมิตร คือ เป็นบุคคลที่ไม่ควรคบ หรือเป็นบุคคลที่จะต้องคบหาด้วยความระมัดระวัง เพื่อมิให้เสียทีตกไปตามอำนาจของบุคคลนั้นได้

๕. โภชนสัปปายะ คือ อาหารที่เหมาะสม หมายถึง อาหารที่บริโภคเข้าไปนั้นมีความสมดุลแก่ธาตุในร่างกาย แต่ละบุคคลก็มีธาตุอาหารภายในร่างกายซึ่งเกิดมาจากกรรม ที่เรียกว่า อัชฌัตตโอชา หรือ กัมมชโอชา ที่แตกต่างกัน จึงทำให้โภชนะสัปปายะมีความแตกต่างกันไปด้วย เพราะฉะนั้น อาหารชนิดใดที่บุคคลบริโภคเข้าไปแล้ว ทำให้ร่างกายแข็งแรงปลอดโปร่งเบาสบาย ไม่อึดอัด ไม่อ่อนเพลีย เส้นประสาทมีความคล่องแคล่วเหมาะควรต่อการทำงานหรือต่อการปฏิบัติธรรม อาหารชนิดนั้น ชื่อว่า โภชนสัปปายะ สำหรับบุคคลนั้น แต่ถ้าอาหารชนิดใดที่บุคคลบริโภคเข้าไปแล้ว มีอาการตรงกันข้าม อาหารชนิดนั้น ชื่อว่า โภชนอสัปปายะ สำหรับบุคคลนั้น จึงควรที่จะเลือกบริโภคอาหารชนิดอื่น โดยทดลองไปแต่ละวัน หรือชนิดละ ๒-๓ วัน เพื่อเปรียบเทียบกันดู จนกว่าจะได้ความสมดุลระหว่างอาหารภายในกับอาหารภายนอก แล้วจึงควรเลือกบริโภคแต่อาหารที่สมดุลแก่ธาตุภายในของตนเท่านั้น อนึ่ง อาหารภายนอกที่บุคคลบริโภคเข้าไปนั้น ก็ได้แก่ อุตุชรูป อย่างหนึ่ง ที่เรียกว่า พหิทธโอชา หรือ อุตุชโอชา ที่เป็นโภชนสัปปายะ เป็นตัวอุดหนุนหรือสนับสนุนให้ร่างกายและจิตใจของบุคคลดำเนินไปได้โดยสะดวก แต่ถ้าอาหารนั้นเป็นโภชนอสัปปายะแล้ว ย่อมบั่นทอนสุขภาพร่างกายให้ทรุดโทรมและทำให้จิตใจกระสับกระส่ายตามไปด้วย [สำหรับบุคคลผู้ต้องบริโภคอาหาร] หรืออาจเข้าไปทำลายสมรรถภาพของอัชฌัตตโอชาหรือกัมมชโอชาให้เสื่อมสมรรถภาพหรือหมดสมรรถภาพลงก็ได้ เช่น บริโภคเข้าไปแล้วอาหารไม่ย่อย เป็นต้น ด้วยเหตุนี้ อาหารจึงมีส่วนสำคัญต่อร่างกายและจิตใจของบุคคลแต่ละคนเป็นอย่างมาก สมดังพระพุทธภาษิตที่ว่า “สพฺเพสตฺตา อาหารฏฺติกา”รุ.๖๑๑ แปลความว่า สรรพสัตว์ทั้งหลายดำรงชีพอยู่ได้ด้วยอาหาร

๖. อุตุสัปปายะ คือ ฤดูที่เหมาะสม หมายถึง สภาพอากาศและสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมกับสภาพร่างกายของแต่ละบุคคล เนื่องจากว่าบุคคลมีกัมมชรูป [รูปที่เกิดจากกรรม] และกัมมปัจจยอุตุชรูป [อุตุชรูปที่มีกรรมเป็นปัจจัย ซึ่งได้แก่ อุณหภูมิในร่างกายของสัตว์] ที่แตกต่างกัน เพราะฉะนั้น ความสมดุลแห่งสภาพอากาศและสภาพแวดล้อมของแต่ละบุคคลจึงมีความแตกต่างกันตามไปด้วย บางคนชอบอากาศหนาว สภาพแวด ล้อมธรรมชาติที่เป็นเขตป่าเมืองหนาว บางคนชอบอากาศร้อน สภาพแวดล้อมธรรมชาติเป็นเขตป่าเมืองร้อน บางคนชอบอากาศชื้น บางคนชอบอากาศแห้ง บางคนชอบอากาศปานกลาง เป็นต้น จึงควรทดลองอยู่หรือเสพสภาพอากาศและสภาพแวดล้อมเหล่านั้นดู ถ้าบุคคลเสพสภาพอากาศหรือสภาพแวดล้อมใดแล้ว ร่างกายรู้สึกปลอดโปร่งเบาสบาย สภาพจิตใจแจ่มใสเบิกบานอาจหาญร่าเริงในธรรม หรือเกิดความคิดอ่านที่สร้างสรรค์ในการปรารภความเพียรเพื่อทำสิ่งที่ดีงาม สภาพอากาศและสภาพแวดล้อมนั้น ชื่อว่า อุตุสัปปายะ ถ้าเสพสภาพอากาศและสภาพแวดล้อมใดแล้ว มีอาการตรงกันข้ามจากที่กล่าวมาแล้ว สภาพอากาศและสภาพแวดล้อมนั้น ชื่อว่า อุตุอสัปปายะ ควรหลีกเว้นเสีย

๗. อิริยาปถสัปปายะ คือ อิริยาบถที่เหมาะสม หมายถึง การยืน การเดิน การนั่ง การนอน ที่เป็นอิริยาบถใหญ่ ซึ่งได้แก่ กายวิญญัติรูปที่เกิดจากจิตเป็นสมุฏฐาน ที่เรียกว่า จิตตชรูป อย่างหนึ่ง ในที่นี้หมายถึง อิริยาบถที่เป็นกายวิญญัตติลหุตาทิทวาทสกกลาป คือ อิริยาบถที่เกิดจากกลุ่มรูปที่มีกายวิญญัติรูปเป็นประธาน ซึ่งมีความสมดุลอย่างเหมาะสม เนื่องจากมีวิการรูป ๓ เกิดร่วมด้วย ได้แก่ ลหุตา คือ ความเบา มุทุตา คือ ความอ่อน และกัมมัญญตา คือ ความเหมาะควรแก่การงาน ทำให้ขยับเขยื้อนได้สะดวกและตั้งมั่นได้ดี ซึ่งแต่ละบุคคลย่อมจะมีความสมดุลหรือความเหมาะสมในอิริยาบถที่แตกต่างกันออกไป อันเนื่องมาจากเหตุปัจจัยหลายประการ เช่น โครงสร้างทางด้านสรีระและสมรรถภาพของร่างกายที่เกิดจากกรรมมีสภาพแตกต่างกัน ประสบการณ์ในการฝึกฝนหรือความอดทนอดกลั้นที่แตกต่างกัน เป็นต้น เพราะฉะนั้น จึงควรทดลองเลือกอิริยาบถที่เหมาะสมกับร่างกายและจิตใจของตนเอง ถ้าอยู่ในอิริยาบถใดแล้ว ร่างกายปลอดโปร่งเบาสบาย ไม่มีอาการอึดอัดหรือหนักหน่วง ไม่มีอาการปวดเมื่อยเหน็บชามากนัก และจิตใจก็ปลอดโปร่ง มีความผ่องใสเบิกบานอาจหาญร่าเริงในธรรม หรือเกิดความคิดอ่านที่สร้างสรรค์ มีสติมีปัญญา มีการปรารภความเพียรเพื่อทำสิ่งที่ดีงาม เป็นต้น อิริยาบถนั้น ชื่อว่า อิริยาปถสัปปายะ แต่ถ้าอยู่ในอิริยาบถใดแล้ว มีอาการเป็นไปตรงกันข้าม คือ ร่างกายไม่ปลอดโปร่ง มีอาการอึดอัดหรือหนักหน่วง เกิดอาการปวดเมื่อยเหน็บชาเร็วและมากเกินที่จะอดทนได้ และจิตใจก็ซึมเซาไม่แจ่มใส มีความหดหู่ท้อแท้เบื่อหน่าย ฟุ้งซ่านรำคาญใจ ขาดความอาจหาญร่าเริงในธรรม หรือเกิดความคิดอ่านที่ไม่สร้างสรรค์ ขาดสติ ขาดปัญญา เกิดอาการเกียจคร้าน ไม่ปรารภความเพียรเพื่อทำสิ่งที่ดีงาม จมอยู่ในความคิดอันไม่แยบคาย หรือเกิดความรวนเรสงสัย เป็นต้น อิริยาบถนั้น ชื่อว่า อิริยาปถอสัปปายะ ควรหลีกเว้นเสีย


เกี่ยวกับตำราอภิธรรม ออนไลน์ (Disclaimer)
ตำราอภิธรรมออนไลน์ พัฒนาขึ้นโดยความร่วมมือของอภิธรรมมหาวิทยาลัย วัดระฆังฯ วัดญาณเวศกวัน และ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ เพื่อนำเสนอสื่อธรรมสำหรับการศึกษาค้นคว้า โดยได้รับอนุญาต และเอกสารต้นฉบับจากผู้เขียน ดังนี้
(๑) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๒), จิตปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๑, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๒) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๖), เจตสิกปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๒, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๓) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๖๓), รูปปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๖, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
ผู้สนใจศึกษาสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับหนังสือ และหลักสูตรการศึกษาได้ที่ สำนักงานอภิธรรมมหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย วัดระฆังโฆษิตารามวรมหาวิหาร (คณะ ๗) แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ ๑๐๗๐๐ โทร ๐๒ ๔๑๑ ๔๕๔๖, ๑๒ ๔๑๒ ๑๐๘๔, ๐๘๖ ๐๓๘ ๒๙๓๓


  |