| |
เหตุปัจจัยที่ทำให้จิตเกิด   |  

จิตเป็นสังขตธรรม คือ ธรรมที่ถูกปัจจัยปรุงแต่ง ฉะนั้น จิตจึงเป็นธรรมชาติที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย ซึ่งเหตุปัจจัยที่ทำให้จิตเกิดขึ้นได้นั้น มี ๔ ประการ คือ

๑. อดีตกรรม หมายถึง กรรมที่บุคคลนั้นได้เคยทำมาแล้วในอดีต เมื่อบุคคลทำกรรมใดไว้ วิบากกรรมย่อมส่งผลหรือเป็นปัจจัยให้รับรู้ หรือแสดงปฏิกิริยาอย่างนั้นออกมาเสมอ ๆ จิตประเภทนั้น ๆ จึงสามารถเกิดขึ้นได้บ่อย ๆ ดังที่เรียกว่า นิสัย หรือ สันดาน เช่น คนที่สั่งสมโลภะมามาก ย่อมแสดงพฤติกรรมเกี่ยวกับความโลภออกมาเสมอ ๆ คนที่สั่งสมโทสะมามาก ย่อมแสดงพฤติกรรมเกี่ยวกับโทสะออกมาเสมอ ๆ คนที่สั่งสมโมหะมามาก ย่อมแสดงพฤติกรรมเกี่ยวกับโมหะออกมาเสมอ ๆ คนที่สั่งสมเรื่องความศรัทธามามาก ย่อมแสดงพฤติกรรมเกี่ยวกับความศรัทธาออกมาเสมอ คนที่สั่งสมปัญญามามาก ย่อมแสดงพฤติกรรมเกี่ยวกับปัญญาออกมาเสมอ ๆ ดังนี้เป็นต้น ซึ่งอดีตกรรมนี้ ย่อมเป็นปัจจัยสำคัญที่จะผลักดันให้บุคคลแสดงพฤติกรรม หรือรับรู้อารมณ์ต่าง ๆ ไปตามอำนาจของตน เพราะเป็นสมบัติของบุคคลนั้น ๆ โดยตรง

๒. อารมณ์ หมายถึง สิ่งที่จิตเข้าไปรับรู้ ได้แก่ รูปารมณ์ สัททารมณ์ คันธารมณ์ รสารมณ์ โผฏฐัพพารมณ์ และธัมมารมณ์ เมื่อมีอารมณ์มาปรากฏทางทวารต่าง ๆ อยู่เสมอ ย่อมทำให้จิตสามารถเกิดทางทวารนั้นได้บ่อย ๆ เพราะจิตแต่ละดวงที่จะเกิดขึ้นได้นั้น ต้องมีอารมณ์เป็นเครื่องรองรับและมีทวารเป็นช่องทาง ซึ่งจิตจะเกิดขึ้นโดยไม่มีอารมณ์นั้นไม่ได้เลย และอารมณ์นี้ก็เป็นผลของอดีตกรรมเช่นเดียวกัน ฉะนั้น แต่ละบุคคลย่อมจะรับรู้อารมณ์ได้ไม่เหมือนกัน หรือรับรู้อารมณ์ได้ไม่เท่ากัน เช่น อารมณ์อย่างเดียวกันแต่ความรู้สึกต่ออารมณ์นั้นแตกต่างกัน หรืออยู่ในสถานที่เดียวกัน แต่ได้รับอารมณ์ไม่เหมือนกัน คนหนึ่งได้รับอารมณ์อย่างหนึ่ง แต่อีกคนหนึ่ง ได้รับอารมณ์อีกอย่างหนึ่งก็มี ดังนี้เป็นต้น ทั้งนี้เพราะทำกรรมมาไม่เหมือนกัน หรือเจตนาในการทำกรรมไม่เหมือนกันนั่นเอง มี ๖ อย่างคือ

๑. รูปารมณ์ ได้แก่ สีต่าง ๆ เป็นรูปธรรม ถูกจิตรับรู้ทางจักขุทวาร โดยอาศัยจักขุวัตถุ คือ ประสาทตา จึงเรียกจิตนี้ว่า จักขุวิญญาณจิต แปลว่า จิตที่รับรู้รูปารมณ์โดยอาศัยจักขุทวารและจักขุทวารวิถีจิตอื่น ๆ ที่รับรู้รูปารมณ์ทางจักขุทวารได้

๒. สัททารมณ์ ได้แก่ เสียงต่าง ๆ เป็นรูปธรรม ถูกจิตรับรู้ทางโสตทวาร โดยอาศัยโสตวัตถุ คือ ประสาทหู จึงเรียกจิตนี้ว่า โสตวิญญาณจิต แปลว่า จิตที่รับรู้สัททารมณ์โดยอาศัยโสตทวารและโสตทวารวิถีจิตอื่น ๆ ที่รับรู้สัททารมณ์ทางโสตทวารได้

๓. คันธารมณ์ ได้แก่ กลิ่นต่าง ๆ เป็นรูปธรรม ถูกจิตรับรู้ทางฆานทวาร โดยอาศัยฆานวัตถุ คือ ประสาทจมูก จึงเรียกจิตนี้ว่า ฆานวิญญาณจิต แปลว่า จิตที่รับรู้คันธารมณ์โดยอาศัยฆานทวารและฆานทวารวิถีจิตอื่น ๆ ที่รับรู้คันธารมณ์ทางฆานทวารได้

๔. รสารมณ์ ได้แก่ รสต่าง ๆ เป็นรูปธรรม ถูกจิตรับรู้ทางชิวหาทวาร โดยอาศัยชิวหาวัตถุ คือ ประสาทลิ้น จึงเรียกจิตนี้ว่า ชิวหาวิญญาณจิต แปลว่า จิตที่รับรู้ รสารมณ์โดยอาศัยชิวหาทวารและชิวหาทวารวิถีจิตอื่น ๆ ที่รับรู้รสารมณ์ทางชิวหาทวารได้

๕. โผฏฐัพพารมณ์ ได้แก่ ความอ่อน แข็ง เย็น ร้อน หย่อน ตึง เป็นรูปธรรม [คือ ดิน ไฟ ลม] ถูกจิตรับรู้ทางกายทวาร โดยอาศัยกายวัตถุ คือ กายประสาท จึงเรียกจิตนี้ว่า กายวิญญาณจิต แปลว่า จิตที่รับรู้โผฏฐัพพารมณ์โดยอาศัยกายทวารและกายทวารวิถีจิตอื่น ๆ ที่รับรู้โผฏฐัพพารมณ์ทางกายทวารได้

๖. ธัมมารมณ์ ได้แก่ จิต ๘๙ เจตสิก ๕๒ ปสาทรูป ๕ สุขุมรูป ๑๖ นิพพาน บัญญัติ สภาพที่รับรู้ได้ทางมโนทวาร โดยอาศัยหทยวัตถุ คือ หัวใจ [ส่วนพวกอรูปพรหมในอรูปภูมิ ๔ นั้น ไม่ต้องอาศัยหทยวัตถุ เพราะเป็นภูมิที่ไม่มีรูปใด ๆ เกิดเลย ฉะนั้น จึงอาศัยมโนทวาร คือ ภวังคจิตในการเกิดขึ้นและรับรู้อารมณ์อย่างเดียว] จึงเรียกจิตนี้ว่า มโนวิญญาณจิต แปลว่า จิตที่รับรู้ธัมมารมณ์โดยอาศัยมโนทวาร

สภาพของจิต จึงเป็นสภาพที่มีการรับรู้อารมณ์ ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย และมโนทวาร อยู่เสมอ ฉะนั้น จึงชื่อว่า อารัมมณวิชชานนลักษณะ คือ สภาพที่มีการรู้อารมณ์เป็นลักษณะ ไม่มีจิตดวงใดที่เกิดขึ้นมาแล้วไม่มีการรับรู้อารมณ์ แม้แต่ขณะหลับ ภวังคจิตก็ยังต้องเกิดขึ้นรับรู้อารมณ์อยู่ตลอดเวลา แต่เป็นอารมณ์พิเศษที่นอกจากอารมณ์ ๖ อย่างที่กล่าวแล้ว ซึ่งเป็นอารมณ์ที่รับมาจากชาติก่อน ในเวลาใกล้จะตายจากภพชาติก่อน อารมณ์นั้น จะปรากฏแก่มรณาสันนวิถี [วิถีจิตสุดท้ายก่อนตาย] ชวนจิตในมรณาสันนวิถี ย่อมรับเอาอารมณ์นั้นมา เมื่อสิ้นสุดวิถีนั้นแล้ว จุติจิตจึงเกิดขึ้น เมื่อจุติจิตดับลงแล้ว ปฏิสนธิจิตย่อมนำเกิดขึ้นในภพภูมิใหม่ ปฏิสนธิจิตก็รับเอาอารมณ์ที่มรณาสันนวิถีนั้นรับเอามาอีกต่อหนึ่ง เมื่อปฏิสนธิจิตดับลงแล้ว ก็แปรสภาพเป็นภวังคจิตรับอารมณ์นั้นเรื่อยมา ฉะนั้น แม้ในเวลาหลับสนิท ภวังคจิตย่อมเกิดดับติดต่อกันไปเป็นเวลานานตลอดจนถึงเวลาตื่น ภวังคจิตจึงยังรับอารมณ์นั้นทุกขณะ แต่ถ้ามีการฝันขึ้นมา จิตจึงจะขึ้นวิถีรับรู้อารมณ์ที่ฝันนั้น ซึ่งเป็นอารมณ์ใหม่ เมื่อสิ้นสุดวิถีแห่งความฝันแล้ว ถ้าหลับสนิทต่อไป ภวังคจิต ก็จะรับอารมณ์เดิมอยู่อีก หรือแม้แต่ในเวลาตื่น เมื่อจิตจะขึ้นสู่วิถีก็ดี สิ้นสุดวิถีก็ดี ต้องมีภวังคจิตเกิดขึ้นคั่นระหว่างก่อนทุกวิถีไป จะมากหรือน้อยขณะก็แล้วแต่เหตุปัจจัย ฉะนั้น ภวังคจิต จึงได้ชื่อว่า เป็นองค์ของภพ คือ เป็นสภาพจิตที่รักษาสถานภาพของบุคคลนั้นไว้ ให้คงอยู่ไม่เปลี่ยนแปลงสภาพจากบุคคลนั้นไปเป็นบุคคลอื่น จนกว่าจะสิ้นสุดภพชาตินั้น คือ จุติจิตเกิดขึ้น ซึ่งจุติจิตนี้ ย่อมเป็นจิตประเภทเดียวกับปฏิสนธิจิตและภวังคจิตนั่นเอง หมายความว่า จิตดวงไหน ทำหน้าที่ปฏิสนธิจิตของบุคคลนั้น จิตดวงนั้น ก็จะทำหน้าที่ภวังคจิตและจุติจิตของบุคคลนั้นด้วย พูดให้เข้าใจง่าย ก็คือว่า เป็นจิตดวงเดียวกัน นั่นเอง แต่เพื่อป้องกันความเป็นสัสสตทิฏฐิ คือ ความเห็นว่าจิตนั้นเที่ยง โดยเห็นว่า จิตดวงเดียวทำงานตลอดเวลา ทั้งปฏิสนธิจิต ภวังคจิตและจุติ จึงกล่าวว่า เป็นจิตประเภทเดียวกันเกิดดับสืบเนื่องกันไป เพราะความเป็นจริงแล้ว จิตนี้มีการเกิดดับตามลำดับติดต่อกันไปตลอดเวลา ซึ่งมีทั้งกุศลจิต หรืออกุศลจิต วิปากจิต และกิริยาจิต ตามสมควรแก่เหตุปัจจัย ซึ่งเป็นไปตามกฎเกณฑ์ของจิต ที่เรียกว่า จิตตนิยาม มิใช่ดวงเดียวเกิดอยู่ตลอดเวลา แต่ว่า ภวังคจิตกับจุติจิตนี้ เป็นจิตที่สืบเนื่องกันมาจากปฏิสนธิจิตดวงนั้น และมีสภาพอย่างเดียวกัน จึงเรียกว่า เป็นจิตดวงเดียวกัน ปฏิสนธิจิต ภวังคจิตและจุติจิต มีอารมณ์ ๓ อย่างๆ ใดอย่างหนึ่งคือ

๑] กรรมอารมณ์ หมายถึง สภาพของกรรมที่บุคคลนั้น ๆ ได้กระทำไปแล้วก็ดี หรือในขณะกำลังกระทำกรรมอยู่ก็ดี ซึ่งเป็นส่วนวิบากของกุศลกรรมหรืออกุศลกรรมส่งผลให้มีโอกาสปรากฏแก่มรณาสันนวิถีของบุคคลนั้น โดยปรากฏเป็นความรู้สึกทางใจ เหมือนกับความรู้สึกที่เกิดขึ้นในขณะทำกรรมนั้นอยู่ หรือกำลังเกิดความรู้สึกนั้นอยู่แล้วตายลงทันที เช่น คนที่กำลังโกรธอยู่แล้วก็ตายเพราะความโกรธนั้น หรือคนที่กำลังเลื่อมใสศรัทธาอยู่ก็ตายลงด้วยความเลื่อมใสศรัทธานั้น เป็นต้น กรรมอารมณ์นี้ จัดเป็นธัมมารมณ์ คือ อารมณ์ที่รับรู้ได้ทางใจอย่างเดียว

๒] กรรมนิมิตอารมณ์ หมายถึง อารมณ์ที่เกี่ยวเนื่องกับการกระทำของแต่ละบุคคล หรืออารมณ์ที่บุคคลนั้นใช้เป็นเครื่องมือในการกระทำกรรมนั้น ซึ่งตนเองได้กระทำมาแล้ว ทางกายก็ดี ทางวาจาก็ดี ทางใจก็ดี ที่เป็นกุศลกรรมก็ดี อกุศลกรรมก็ดี เช่น ในทางกุศลกรรม เห็นพระที่เคยใส่บาตร หรือเห็นอาหารที่เคยใส่บาตร เคยให้ทาน เห็นกุฏิวิหาร ศาลาการเปรียญ อุโบสถที่เคยสร้างถวายวัด เป็นต้น ในทางอกุศลกรรม เช่น เห็นสัตว์ที่ตนเคยฆ่าเคยทำร้าย เห็นอาวุธเครื่องประหารที่ใช้ล่าสัตว์ ทรัพย์ที่เคยขโมยเคยฉ้อโกง เห็นชายหรือหญิงที่เคยผิดประเวณี ได้ยินเสียงที่เคยด่าว่าเสียดสี เป็นต้น ซึ่งมีโอกาสมาปรากฏแก่มรณาสันนวิถี ทางทวาร ๖ ทวารใดทวารหนึ่งแล้วแต่สภาพของอารมณ์นั้น ๆ เมื่อบุคคลนั้นตายลง ก็ไปเกิดในภพภูมิที่เกี่ยวเนื่องกับสภาพของอารมณ์นั้น ฉะนั้น กรรมนิมิตอารมณ์นี้ จึงเป็นได้ทั้ง ๖ อารมณ์ คือ รูปารมณ์ สัททารมณ์ คันธารมณ์ รสารมณ์ โผฏฐัพพารมณ์ ธัมมารมณ์

๓] คตินิมิตอารมณ์ หมายถึง เครื่องหมายแห่งภพภูมิที่บุคคลนั้นจะไปเกิด ซึ่งเป็นผลของกุศลกรรม หรืออกุศลกรรมที่บุคคลนั้น ๆ ได้กระทำไว้แล้ว มีโอกาสมาปรากฏให้ได้รับรู้ทางทวาร ๖ โดยปรากฏแก่มรณาสันนวิถีของบุคคลนั้นที่ใกล้ตาย ถ้าเป็นผลของกุศลกรรม ก็ปรากฏให้ได้รับรู้อารมณ์ที่ดี เช่น เห็นวิมานของเทวดา เห็นบ้านเรือนของคน เห็นพ่อแม่ เห็นหมู่มนุษย์ เห็นหมู่เทวดา หรือได้ยินเสียง ได้กลิ่น ได้สัมผัสรสอาหารของภพภูมิเหล่านั้น เป็นต้น ถ้าเป็นผลของฝ่ายอกุศลกรรม ก็ปรากฏให้ได้รับรู้อารมณ์ที่ไม่ดี เช่น เห็นขุมนรก เห็นที่อยู่ของเปรต อสุรกาย เดรัจฉาน หรือเห็นพวกอบายสัตว์เหล่านั้น หรือได้ยินเสียง ได้กลิ่น ได้ลิ้มรสอาหารของภพภูมิเหล่านั้น หรือมีเปลวเพลิงจากนรกมาเผาไหม้ให้เร่าร้อน เป็นต้น เมื่อบุคคลนั้นตายลง ก็ไปเกิดในภพภูมิที่เกี่ยวกับอารมณ์ที่ปรากฏนั้น ฉะนั้น คตินิมิตอารมณ์นี้ จึงเป็นได้ทั้ง ๖ อารมณ์ คือ รูปารมณ์ สัททารมณ์ คันธารมณ์ รสารมณ์ โผฏฐัพพารมณ์ และธัมมารมณ์

๓. เจตสิก หมายถึง สภาพธรรมที่ปรุงแต่งจิตให้รับรู้อารมณ์ต่าง ๆ ตามสมควรแก่สภาพของจิตหรือสภาพของอารมณ์ที่รับรู้นั้น การที่จิตมีสภาพเป็นไปต่าง ๆ ที่เป็นโสภณจิตบ้าง อโสภณจิตบ้าง ก็เนื่องจากอำนาจของเจตสิกที่เข้าไปปรุงแต่งจิต ดังที่กล่าวมาแล้วว่า จิตนี้มีสภาพอย่างเดียว คือ รู้อารมณ์เท่านั้น ซึ่งเป็นเพียงการรับรู้แบบธรรมดาเท่านั้น ไม่ได้รู้เป็นพิเศษออกไปมากมายแต่ประการใดเลย ดังที่เรารับรู้กันอยู่ทุกวันนี้ แต่เพราะอำนาจของเจตสิกแต่ละกลุ่มแต่ละจำพวกเข้าไปปรุงแต่ง [รวมกับเหตุปัจจัยอย่างอื่นที่กล่าวแล้วด้วย] จึงทำให้จิตนั้นมีสภาพแตกต่างกันออกไปมากมาย ถึง ๘๙ หรือ ๑๒๑ ดวง เช่น เมื่อกลุ่มของโลภเจตสิกเข้าไปปรุงแต่ง จิตก็มีสภาวะเป็นความโลภ เรียกว่า โลภมูลจิต เมื่อมีกลุ่มโทสะเจตสิกเข้าไปปรุงแต่งจิตก็มีสภาวะเป็นความโกรธ เรียกว่า โทสมูลจิต เมื่อมีเฉพาะกลุ่มของโมหะเจตสิกเข้าไปปรุงแต่ง จิตก็มีสภาวะเป็นความหลง เรียกว่า โมหมูลจิต เมื่อมีกลุ่มของโสภณเจตสิกเข้าไปปรุงแต่ง จิตก็มีสภาวะเป็นโสภณะ เรียกว่า โสภณจิต ดังนี้เป็นต้น ฉะนั้น เจตสิกนี้จึงเป็นปัจจัยสำคัญอีกประการหนึ่ง ที่เป็นปัจจัยให้จิตแต่ละดวงเกิดขึ้น และมีสภาวะแตกต่างกันออกไป

๔. วัตถุ หมายถึง กัมมชรูปที่จิตอาศัยเกิด ได้แก่ วัตถุรูป ๖ คือ จักขุวัตถุ โสตวัตถุ ฆานวัตถุ ชิวหาวัตถุ กายวัตถุ และหทยวัตถุ สำหรับบุคคลผู้เกิดอยู่ในปัญจโวการภูมินั้น จิตจะเกิดขึ้นได้ต้องมีสถานที่อาศัยเกิด หรือต้องมีทวารเป็นช่องทางในการรับรู้อารมณ์ ยิ่งบุคคลใดมีวัตถุเป็นที่อาศัยเกิดของจิตมาก เช่น บุคคลที่เกิดในกามภูมิ ถ้ามีวัตถุรูปครบบริบูรณ์ทั้ง ๖ อย่าง ได้แก่ ตา หู จมูก ลิ้น กาย หัวใจ จิตก็สามารถอาศัยเกิดได้ทั้ง ๖ อย่าง และสามารถเกิดได้ทั้ง ๖ ทวาร การรับรู้อารมณ์ของบุคคลนั้น ๆ ย่อมมีมาก แต่ถ้าบุคคลใดบกพร่องไปอย่างใดอย่างหนึ่ง ที่อาศัยเกิดของจิตก็น้อยลง และการรับรู้อารมณ์ก็ลดน้อยลงไปด้วย ถ้าเกิดในรูปภูมิ ๑๕ [เว้น อสัญญสัตตภูมิ ๑] ย่อมมีวัตถุรูป ๓ อย่าง คือ ตา หู และหัวใจ ที่อาศัยเกิดของจิตย่อมมีเพียง ๓ แห่ง และจิตย่อมเกิดได้เพียง ๓ ทวาร การรับรู้อารมณ์ก็น้อยลงไปด้วย ถ้าเกิดในอรูปภูมิ ๔ ซึ่งไม่มีรูปเกิดเลย ฉะนั้น จิตจึงไม่ต้องอาศัยวัตถุรูปใด ๆ เกิด แต่อาศัยภวังคจิตที่ทำหน้าที่เป็นมโนทวารคือเป็นช่องทางให้จิตอาศัยเกิดเท่านั้น จิตย่อมเกิดได้น้อยลงไปอีก ส่วนบุคคลที่เกิดในอสัญญสัตตภูมินั้นย่อมไม่มีจิตเกิดเลย มีแต่รูปเกิดอย่างเดียว ฉะนั้น จิตของพวกอสัญญสัตตพรหมจึงไม่มีการเกิดขึ้น [เพราะถูกกดทับไว้ด้วยอำนาจฌานสมาบัติ จนกว่าจะสิ้นอายุขัยจากอสัญญสัตตภูมิ แล้วกลับมาเกิดเป็นมนุษย์หรือเทวดาในกามสุคติภูมิต่อไป จึงจะมีจิตเกิดขึ้นใหม่อีก] ฉะนั้น วัตถุรูปจึงเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้จิตของบุคคลที่เกิดในปัญจโวการภูมิได้อาศัยเกิดขึ้น ถ้าบุคคลนั้นขาดวัตถุรูปใดไป จิตที่อาศัยวัตถุรูปนั้นเกิด ย่อมไม่มีโอกาสได้เกิดแก่บุคคลนั้น เช่น คนที่ตาบอด จักขุวิญญาณจิต ย่อมไม่มีโอกาสเกิดแก่บุคคลนั้น คนที่หูหนวก โสตวิญญาณจิต ย่อมไม่มีโอกาสได้เกิดแก่บุคคลนั้น ดังนี้เป็นต้น

บุคคลที่เกิดในปัญจโวการภูมิ ๒๖ ภูมิ คือ อบายภูมิ ๔ มนุษย์ภูมิ ๑ เทวภูมิ ๖ รูปภูมิ ๑๕ [เว้นอสัญญสัตตภูมิ ๑] นั้น จิตทุกดวงที่เกิดกับบุคคลเหล่านี้ จะต้องอาศัยวัตถุรูปเกิดทั้งนั้น จะเกิดโดยลำพังไม่ได้ คือ

จักขุวิญญาณจิต [การรับรู้สีต่าง ๆ] อาศัยจักขุวัตถุ [ประสาทตา] เกิด

โสตวิญญาณจิต [การรับรู้เสียง] อาศัยโสตวัตถุ [ประสาทหู] เกิด

ฆานวิญญาณจิต [การรับรู้กลิ่น] อาศัยฆานวัตถุ [ประสาทจมูก] เกิด

ชิวหาวิญญาณจิต [การรับรู้รส] อาศัยชิวหาวัตถุ [ประสาทลิ้น] เกิด

กายวิญญาณจิต [การรับรู้สัมผัส] อาศัยกายวัตถุ [ประสาทกาย] เกิด

มโนวิญญาณจิต [การรับรู้ความคิดนึก] อาศัยหทยวัตถุ [หัวใจ] เกิด

ส่วนจิตของบุคคลที่เกิดในอรูปภูมิ ๔ ที่เรียกว่า จตุโวการภูมิ นั้นไม่ต้องอาศัยวัตถุรูปใด ๆ เกิดเลย เพราะไม่มีรูปเกิด อาศัยเกิดทางมโนทวาร คือ ภวังคจิต อย่างเดียว ด้วยเหตุนี้ จึงมีเพียงเหตุปัจจัย ๓ ประการ คือ อดีตกรรม อารมณ์และเจตสิก เท่านั้น

สรุปความแล้ว ในปัญจโวการภูมิ คือ ภูมิที่มีขันธ์ครบทั้ง ๕ นั้น ปัจจัย ๔ ประการนี้ ย่อมมีความสำคัญไม่น้อยไปกว่ากัน ถ้าขาดปัจจัยอย่างใดอย่างหนึ่งแล้ว จิตดวงนั้น ๆ จะไม่สามารถเกิดขึ้นได้ ส่วนในจตุโวการภูมิ คือ ภูมิที่ขันธ์เพียง ๔ ขันธ์ ได้แก่ อรูปภูมิ ๔ นั้น ปัจจัยที่ทำให้จิตเกิดขึ้นมีเพียง ๓ ปัจจัย คือ อดีตกรรม อารมณ์ และเจตสิกเท่านั้น ฉะนั้น ถ้าขาดปัจจัยอย่างใดอย่างหนึ่งไป จิตของอรูปพรหม ย่อมไม่สามารถเกิดขึ้นได้ เช่นเดียวกัน


เกี่ยวกับตำราอภิธรรม ออนไลน์ (Disclaimer)
ตำราอภิธรรมออนไลน์ พัฒนาขึ้นโดยความร่วมมือของอภิธรรมมหาวิทยาลัย วัดระฆังฯ วัดญาณเวศกวัน และ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ เพื่อนำเสนอสื่อธรรมสำหรับการศึกษาค้นคว้า โดยได้รับอนุญาต และเอกสารต้นฉบับจากผู้เขียน ดังนี้
(๑) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๒), จิตปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๑, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๒) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๖), เจตสิกปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๒, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๓) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๖๓), รูปปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๖, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
ผู้สนใจศึกษาสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับหนังสือ และหลักสูตรการศึกษาได้ที่ สำนักงานอภิธรรมมหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย วัดระฆังโฆษิตารามวรมหาวิหาร (คณะ ๗) แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ ๑๐๗๐๐ โทร ๐๒ ๔๑๑ ๔๕๔๖, ๑๒ ๔๑๒ ๑๐๘๔, ๐๘๖ ๐๓๘ ๒๙๓๓


  |