ไปยังหน้า : |
ความหมายต่าง ๆ ของโลภะโดยปริยายอื่น ในปรมัตถทีปนีฎีกา ท่านได้แสดงไวพจน์ของโลภะไว้ ๑๐ ประการ คือ
๑. ตัณหา ได้แก่ ความต้องการอยากได้
๒. ราคะ ได้แก่ ความกำหนัดยินดี
๓. กามะ ได้แก่ ความใคร่ความปรารถนา
๔. นันทิ ได้แก่ ความเพลิดเพลินหลงใหล
๕. อภิชฌา ได้แก่ ความเพ่งเล็งอยากได้ของผู้อื่น
๖. ชเนตติ ได้แก่ ความก่อความสั่งสมกิเลส
๗. โปโนพภวิกา ได้แก่ ความนำให้เกิดในภพใหม่
๘. อิจฉา ได้แก่ ความอยากได้ อยากดี อยากเด่น อยากดังผู้เดียว
๙. อาสา ได้แก่ ความหวัง อยากได้ อยากมีอยากเป็น
๑๐. กามราคสังโยชน์ ได้แก่ ความผูกพัน เกี่ยวรัดไว้อย่างเหนียวแน่น
โลภะเมื่อเจริญพอกพูนขึ้นอย่างหนาแน่น ย่อมมีสภาพกว้างขวางแผ่ไปในอารมณ์ต่าง ๆ ประดุจดังแม่น้ำ เรียกว่า ตัณหา เมื่อนั้นย่อมพัดพาเอาสัตว์ทั้งหลายไปสู่ห้วงมหัณณพคืออบายภูมิทั้ง ๔ ประดุจแม่น้ำใหญ่ที่มีกระแสอันไหลเชี่ยวกราด ย่อมพัดพาเอาสัตว์หรือสิ่งของที่ตกลงไปให้ไหลไปสู่มหาสมุทร ฉันนั้น
ตัณหา มิใช่หมายความเพียงความยินดีติดใจในเรื่องเพศ หรือเรื่องกามารมณ์อย่างเดียว แต่หมายถึง ความต้องการอารมณ์ ที่มีความหมายกว้างขวาง แม้เป็นความต้องการ หรือ ความยินดีติดใจในการเจริญกรรมฐาน ก็ชื่อว่า เป็นตัณหา คือ เป็นธรรมราคะ ธรรมนันทิ หรือ ธรรมตัณหา แต่ตัณหาประเภทที่กล่าวนี้ หามีโทษถึงทุคติไม่ เพราะความอยากทำกุศลธรรม เช่น อยากทำสมถกรรมฐาน จิตจะได้สงบ หรือ อยากได้ฌานขั้นนั้นขั้นนี้ ความอยากเหล่านี้แม้จะเกิดขึ้นด้วยอำนาจโลภมูลจิตก็จริง แต่ขณะกระทำกรรมฐาน เพื่อสนองความอยากนั้น เป็นการกระทำด้วยจิตดวงอื่น ไม่ใช่กระทำด้วยโลภมูลจิต แต่เป็นการกระทำด้วยมหากุศลจิตเป็นเบื้องต้น จนถึงฌานกุศลจิตเกิดเป็นที่สุด แม้การอยากเจริญวิปัสสนากรรมฐานก็เช่นเดียวกัน วิบากจิตที่เป็นผลนั้นย่อมต่างกัน เพราะฉะนั้น ความอยากหรือความต้องการในกุศลธรรมจึงไม่มีโทษแต่กลับเป็นคุณประโยชน์ ในการถ่ายถอนอำนาจของตัณหาด้วย