ไปยังหน้า : |
อัญญสมานเจตสิก หมายถึง เจตสิกที่เหมือนกับธรรมอื่น ทั้งอโสภณจิตและโสภณจิต หมายความว่า อัญญสมานเจตสิกนี้เป็นเจตสิกที่ประกอบได้ในจิตทุกประเภท ทั้งกุศลจิต อกุศลจิต วิบากจิต และกิริยาจิต จึงชื่อว่า เป็นธรรมชาติที่เหมือนธรรมอื่น หรือ เสมอด้วยธรรมอื่น
สัพพจิตตสาธารณเจตสิก หมายถึง เจตสิกที่ประกอบกับจิตได้ทั่วไปทั้งหมด หมายความว่า เป็นกลุ่มเจตสิกที่ประกอบได้กับจิตทุกประเภทและทุกดวง ไม่มีกรณียกเว้น ซึ่งมีสภาพเป็นพื้นฐานให้จิตกระทบกับอารมณ์ได้
ปกิณณกเจตสิก หมายถึง เจตสิกที่ประกอบเรี่ยรายทั่วไป หมายความว่า เป็นกลุ่มเจตสิกที่สามารถประกอบกับจิตได้ทั่วไป ทั้งในฝ่ายโลกียจิต โลกุตตรจิต โสภณจิต อโสภณจิต กุศลจิต อกุศลจิต วิบากจิต กิริยาจิต เป็นต้น แต่ประกอบได้เป็นบางดวง
อกุศลเจตสิก หมายถึง เจตสิกที่ประกอบได้ในอกุศลจิต ๑๒ ทั้งหมด ตามสมควรที่จะประกอบได้
โมจตุกเจตสิก หมายถึง เจตสิก ๔ ดวง ที่มีโมหเจตสิกเป็นประธาน
โลติกเจตสิก หมายถึง เจตสิก ๓ ดวง ที่มีโลภเจตสิกเป็นประธาน
โทจตุกเจตสิก หมายถึง เจตสิก ๔ ดวง ที่มีโทสเจตสิกเป็นประธาน
ถิทุกเจตสิก หมายถึง เจตสิก ๒ ดวง ที่มีถีนเจตสิกเป็นประธาน และเป็นเจตสิกที่ประกอบในอกุศลจิตที่เป็นสสังขาริกจิต ๕ ดวงเท่านั้น
โสภณเจตสิก หมายถึง เจตสิกที่ประกอบได้ในโสภณจิต ๕๙ หรือ ๙๑ ดวง ตามสมควรที่จะประกอบได้
โสภณสาธารณเจตสิก หมายถึง เจตสิกที่ประกอบได้ทั่วไปในโสภณจิต ๕๙ หรือ ๙๑ ดวงทั้งหมด ซึ่งเป็นจิตที่สวยงาม และไม่มีโทษ
วิรตีเจตสิก หมายถึง เจตสิกที่ทำการงดเว้นจากทุจริตเป็นประธาน
อัปปมัญญาเจตสิก หมายถึง เจตสิกที่เกิดขึ้นโดยอาศัยทุกขิตสัตว์ หรือสุขิตสัตว์ทั่วไปไม่จำกัด เป็นอารมณ์
ปัญญินทรียเจตสิก หมายถึง เจตสิกที่มีหน้าที่ปกครองในการรู้สภาพธรรมโดยทั่ว ๆ ไปตามความเป็นจริง
สัพพากุสลสาธารณเจตสิก หมายถึง เจตสิกที่ประกอบในอกุศลจิต ๑๒ ได้ทั่วไปทั้งหมด มี ๔ ดวง คือ โมจตุกเจตสิก ๔
สัพพากุสลโยคีเจตสิก หมายถึง เจตสิกที่สามารถประกอบกับอกุศลจิตได้ทุกดวง มี ๑๔ ดวง คือ อัญญสมานเจตสิก ๑๐ [เว้นอธิโมกข์ ปีติ ฉันทะ] โมจตุกเจตสิก ๔
นิยตโยคีเจตสิก หมายถึง เจตสิกที่ประกอบกับจิตได้แน่นอน คือ เมื่อระบุว่า เจตสิกดวงนี้ประกอบกับจิตดวงไหนได้บ้าง เมื่อจิตดวงนั้น ๆ เกิดขึ้น ต้องมีเจตสิกดวงนี้ เกิดร่วมด้วยเสมอ
อนิยตโยคีเจตสิก หมายถึง เจตสิกที่ประกอบกับจิตได้ไม่แน่นอน คือ ถึงแม้จะระบุว่า เจตสิกดวงนี้ประกอบกับจิตดวงไหนได้บ้าง แต่เมื่อจิตดวงนั้น ๆ เกิดขึ้น อาจจะมีเจตสิกดวงนี้เกิดร่วมด้วยก็มี หรือไม่ประกอบร่วมด้วยก็มี ขึ้นอยู่กับสภาพของจิต อารมณ์ หรือ บุคคล อย่างใดอย่างหนึ่ง ซึ่งเกี่ยวข้องกับสภาวะของเจตสิกดวงนั้น มี ๑๑ ดวง คือ มานะ อิสสา มัจฉริยะ กุกกุจจะ ถีนะ มิทธะ วิรตีเจตสิก ๓ อัปปมัญญาเจตสิก ๒
กทาจิเจตสิก หมายถึง เจตสิกที่ประกอบกับจิตได้เป็นบางครั้งบางคราว ขึ้นอยู่กับสภาพของอารมณ์ที่มีการเปรียบเทียบกันระหว่างตนเองกับบุคคลอื่น หรือ สิ่งอื่น มี ๑ ดวง คือ มานเจตสิก
สหกทาจิเจตสิก หมายถึง เจตสิกที่ประกอบกับจิตได้เป็นบางครั้งบางคราว แต่เวลาประกอบต้องประกอบพร้อมกันเสมอ ขึ้นอยู่กับสภาพของจิต มี ๒ ดวงคือ ถีนะ มิทธะ
นานากทาจิเจตสิก หมายถึง เจตสิกที่ประกอบกับจิตได้เป็นบางครั้งบางคราว และเวลาประกอบย่อมประกอบไม่พร้อมกัน ขึ้นอยู่กับสภาพของอารมณ์และบุคคล มี ๘ ดวง คือ อิสสา มัจฉริยะ กุกกุจจะ วิรตีเจตสิก ๓ อัปปมัญญาเจตสิก ๒
นิยตานิยตโยคีเจตสิก หมายถึง เจตสิกที่ประกอบกับจิตได้แน่นอนก็มี ไม่แน่นอนก็มี [แล้วแต่กรณีเงื่อนไข] มี ๓ ดวง ได้แก่ วิรตีเจตสิก ๓ ในขณะที่ประกอบกับมหากุศลจิต ๘ ดวง เป็นการประกอบไม่แน่นอนและไม่พร้อมกัน เป็นนานากทาจิเจตสิก เพราะสภาพอารมณ์ที่ทำการงดเว้นต่างกัน แต่ในขณะที่ประกอบ โลกุตตรจิต ๘ เป็นการประกอบในฐานะเป็นองค์ของมรรค เพื่อทำหน้าที่ประหาณอนุสัยกิเลสและรับพระนิพพานเป็นอารมณ์เหมือนกัน จึงเป็นการประกอบโดยแน่นอนและพร้อมกันเสมอ เรียกว่า มัคคสมังคี แปลว่า ความพร้อมเพรียงแห่งองค์มรรค
นิยตเอกโตโยคีเจตสิก หมายถึง เจตสิกที่ต้องประกอบกับจิตพร้อมเพรียงกันเสมอ มี ๓ ดวง ได้แก่ วิรตีเจตสิก ๓ ในขณะที่ประกอบกับโลกุตตรจิต ๘ เพื่อผนึกกำลังกันในการทำหน้าที่ประหาณอนุสัยกิเลสให้เป็นสมุจเฉทปหาน ตัดขาดไปจากขันธสันดานโดยสิ้นเชิง
หมายเหตุ... วิรตีเจตสิก ๓ ดวง เป็นทั้งอนิยตโยคีเจตสิก ประเภทนานากทาจิ และเป็นทั้ง นิยตเอกโตโยคีเจตสิก คือ
ที่เป็นอนิยตโยคีเจตสิก ประเภทนานากทาจิ หมายถึง การประกอบกับจิตได้ไม่แน่นอน คือ ประกอบเป็นบางครั้งบางคราว และเวลาเข้าประกอบ ก็ประกอบไม่พร้อมกัน ได้แก่ การเข้าประกอบกับมหากุศลจิต ๘ เพราะอารมณ์ในการงดเว้นของเจตสิกทั้ง ๓ ดวงนี้ต่างกัน คือ สัมมาวาจาเจตสิก มีวจีทุจริต ๔ ที่ไม่เกี่ยวกับอาชีพเป็นอารมณ์ สัมมากัมมันตเจตสิก มีกายทุจริต ๓ ที่ไม่เกี่ยวกับอาชีพเป็นอารมณ์ สัมมาอาชีวเจตสิก มีกายทุจริต ๓ และวจีทุจริต ๔ ที่เกี่ยวกับอาชีพเป็นอารมณ์
ที่เป็นนิยตเอกโตโยคีเจตสิก หมายถึง การประกอบกับจิตได้แน่นอนและพร้อมกัน ซึ่งไม่มีความต่างกันในเรื่องอารมณ์ เพราะมีนิพพานเป็นอารมณ์เหมือนกัน ได้แก่ การประกอบกับโลกุตตรจิต ๘ ในฐานะเป็นองค์แห่งมรรคนั่นเอง