ไปยังหน้า : |
ในปฐมอัคคิสูตร ปฐมปัณณาสก์ อังคุตตรนิกาย สัตตกนิบาตรุ.๙๖ ได้แสดงสภาพธรรมและบุคคลเปรียบด้วยไฟไว้ ๗ ประการ คือ
๑. ราคัคคิ ไฟคือราคะ
๒. โทสัคคิ ไฟคือโทสะ
๓. โมหัคคิ ไฟคือโมหะ
๔. อาหุเนยยัคคิ ไฟคืออาหุไนยบุคคล
๕. คหปตัคคิ ไฟคือคฤหบดี
๖. ทักขิเณยยัคคิ ไฟคือทักขิไณยบุคคล
๗. กัฏฐัคคิ ไฟเกิดจากไม้
อรรถกถาปฐมอัคคิสูตรรุ.๙๗ ได้อธิบายความหมายของไฟทั้ง ๗ ประเภทนี้ไว้ดังต่อไปนี้
ราคะ โทสะ โมหะ ที่เรียกว่า อัคคิ เพราะอรรถว่า ตามเผาผลาญ หมายความว่า ย่อมตามเผาผลาญจิตใจของบุคคลผู้ถูกไฟเหล่านี้สุมอยู่ เมื่อไฟเหล่านี้อย่างใดอย่างหนึ่งคุกรุ่นขึ้นเวลาใด ย่อมตามเผาผลาญบุคคลนั้นให้เร่าร้อนเนือง ๆ ร้อนเพราะความเกิดบ้าง ร้อนเพราะความแก่บ้าง ร้อนเพราะความเจ็บไข้บ้าง ร้อนเพราะความตายบ้าง ร้อนเพราะความเศร้าโศกเสียใจบ้าง ร้อนเพราะความพิไรรำพันบ้าง ร้อนเพราะความทุกข์กายบ้าง ร้อนเพราะความทุกข์ใจบ้าง ร้อนเพราะความเหือดแห้งใจบ้าง ชื่อว่า ร้อนเพราะราคะ โทสะ โมหะ เป็นต้นเหตุ
อาหุเนยยัคคิ แยกบทได้ดังนี้ คือ อาหุเนยยะ+อัคคิ คำว่า อาหุเนยยะ มาจาก อาหุนะ หมายถึง เครื่องสักการะ บุคคลผู้ควรแก่เครื่องสักการะ เรียกว่า อาหุไนยบุคคล ได้แก่ มารดาบิดา ที่เรียกว่า อัคคิ จริงอยู่ มารดาและบิดาทั้งหลาย เพราะท่านทั้ง ๒ เป็นผู้มีอุปการมากแก่บุตรทั้งหลาย บุตรทั้งหลายปฏิบัติผิดในมารดาและบิดาทั้ง ๒ นั้น ย่อมบังเกิดในอบายมีนรก เป็นต้น เพราะเหตุนั้น ถึงแม้มารดาและบิดาจะมิได้ตามเผาผลาญลูกก็จริง ถึงกระนั้นท่านทั้ง ๒ ก็ยังเป็นปัจจัยแก่การตามเผาผลาญลูก ดังนั้น ท่านจึงเรียกมารดาบิดาว่า อาหุเนยยัคคิ เพราะอรรถว่า ตามเผาผลาญนั่นแล
คหปตัคคิ แยกบทเป็น คหปติ+อัคคิ คำว่า คหบดี หมายถึง เจ้าของเรือน คือ สามีจริงอยู่ คหบดีนั้นมีอุปการะมากแก่มาตุคาม ด้วยการมอบให้ที่นอน เสื้อผ้า และเครื่องประดับ เป็นต้น มาตุคามผู้นอกใจสามีนั้น ย่อมบังเกิดในอบายมีนรกเป็นต้น เพราะเหตุนั้น สามีแม้นั้น ท่านก็เรียกว่า คหปตัคคิ เพราะอรรถว่า ตามเผาผลาญโดยนัยก่อนนั่นแล
ทักขิเณยยัคคิ แยกเป็น ทักขิเณยยะ+อัคคิ คำว่า ทักขิเณยยะ มาจากคำว่า ทักขิณา หมายถึง ปัจจัย ๔ บุคคลผู้ควรแแก่ปัจจัย ๔ เรียกว่า ทักขิไณยบุคคล ได้แก่ ภิกษุสงฆ์ จริงอยู่ ภิกษุสงฆ์นั้น ย่อมเป็นผู้มีอุปการะมากแก่คฤหัสถ์ทั้งหลาย ด้วยการประกอบไว้ในกัลยาณธรรมทั้งหลายมีอาทิอย่างนี้ คือ ในสรณะ ๓ ศีล ๕ ศีล ๑๐ การบำรุงมารดาและบิดา การบำรุงสมณะและพราหมณ์ผู้ตั้งอยู่ในธรรม เป็นต้น คฤหัสถ์ผู้ปฏิบัติผิดในภิกษุสงฆ์นั้น เช่น ด่าบริภาษภิกษุสงฆ์ เป็นต้น ย่อมบังเกิดในอบายทั้งหลายมีนรกเป็นต้น เพราะเหตุนั้น ภิกษุสงฆ์นั้น ท่านจึงเรียกว่า ทักขิเณยยัคคิ ไฟคือทักขิเณยยบุคคล เพราะอรรถว่า ตามเผาผลาญโดยนัยก่อนนั่นแล
ไฟตามปกติที่เกิดแต่ไม้ ท่านเรียกว่า กัฏฐัคคิ แปลว่า ไฟที่เกิดจากไม้แห้ง