ไปยังหน้า : |
ในคัมภีร์อภิธัมมัตถสังคหะและปรมัตถทีปนีรุ.๘๖ ได้แสดงความหมายของคำว่า เตโช ไว้ดังต่อไปนี้
เตโช คือ รูปที่ปรากฏระหว่างสหชาตธรรม เหมือนรุ่งโรจน์ด้วยความแก่กล้า
อีกนัยหนึ่ง เตโช คือ รูปที่ทำให้สหชาตธรรมมีกำลังแก่กล้า
อีกนัยหนึ่ง เตโช คือ รูปที่ทำให้ร้อน
สรุปแล้ว คำว่า เตโช มีความหมาย ๓ ประการ คือ
๑. รูปที่ปรากฏระหว่างสหชาตธรรม ดังวจนัตถะแสดงว่า “เตชติ สหชาตธมฺมานํ มชฺเฌ ปกาสตีติ เตโช” แปลความว่า รูปใดย่อมปรากฏอยู่ในท่ามกลางสหชาตรูปทั้งหลาย เพราะเหตุนั้น รูปนั้น จึงชื่อว่า เตโช
๒. รูปที่ทำให้สหชาตธรรมมีกำลังแก่กล้า ดังวจนัตถะแสดงว่า “เตเชติ นิเสติ สหชาตธมฺเม ติกฺขถามพเล กโรตีติ เตโช” แปลความว่า รูปใดย่อมกระตุ้นเตือนกระทำให้สหชาตธรรมทั้งหลายมีกำลังแก่กล้า เพราะเหตุนั้น รูปนั้น จึงชื่อว่า เตโช
๓. รูปที่ทำให้ร้อน ดังวจนัตถะแสดงว่า “เตเชติ ปริปาเจติ อุสฺมาเปตีติ เตโช” แปลความว่า รูปใดย่อมทำให้เกิดความอบอุ่นและร้อนขึ้น เพราะเหตุนั้น รูปนั้น จึงชื่อว่า เตโช
ธาตุไฟนั่นเอง ชื่อว่า เตโชธาตุ
ในคัมภีร์อภิธัมมัตถสังคหะและอภิธัมมัตถวิภาวินีฎีการุ.๘๗ ได้แสดงความหมายของเตโชไว้เพียงสั้น ๆ ดังต่อไปนี้
ชื่อว่า เตโช ด้วยอรรถว่า ให้ร้อน คือ ให้อบอุ่นหรือให้เข้มแข็ง คือ ให้ [มหา] ภูตรูปทั้ง ๓ ที่เหลืออบอุ่นอยู่ โดยภาวะเป็นสภาพแรงกล้า
คณาจารย์อภิธรรมในประเทศไทย มีพระอาจารย์สัทธัมมโชติกะ ธัมมาจริยะรุ.๘๘ เป็นต้น ได้แสดงความหมายของเตโชธาตุไว้ดังต่อไปนี้
เตโช เป็นธาตุชนิดหนึ่ง เรียกกันว่า เตโชธาตุ มีลักษณะร้อนและเย็น ลักษณะร้อนเรียกว่า อุณหเตโช ลักษณะเย็น เรียกว่า สีตเตโช แต่เตโชธาตุทั้ง ๒ ชนิดนี้มีสภาวะลักษณะ คือ มีสภาพที่เป็นไอเป็นลักษณะ [อุณฺหตฺตลกฺขณา] หมายความว่า อุณหเตโชก็มีไอร้อนเป็นลักษณะ สีตเตโชก็มีไอเย็นเป็นลักษณะ และเตโชธาตุทั้ง ๒ ชนิดนี้ มีหน้าที่ทำให้วัตถุต่าง ๆ สุกและทำให้ละเอียดอ่อนนุ่ม ดังจะเห็นได้ว่า วัตถุต่าง ๆ ส่วนมาก เช่น อาหาร เป็นต้น ก็ทำให้สุกด้วยความร้อน แต่อาหารบางอย่างก็ทำให้สุกด้วยความเย็นได้เหมือนกัน
ในคัมภีร์วิสุทธิมรรคแสดงว่า “โย ปริปาจนภาโว วา อุณฺหาภาโว วา อยํ เตโชธาตุรุ.๘๙” แปลความว่า ธรรมชาติที่ทรงภาวะการสุกงอมก็ดี ความอบอุ่นที่มีในกายนั้นก็ดี เรียกว่า เตโชธาตุ
ที่ว่า เตโชธาตุ มีความร้อนเป็นลักษณะ [อุณฺหลกฺขณา] นั้น หมายความรวมถึง มีความเย็น [สีตลกฺขณา] อยู่ด้วย เพราะที่ว่าเย็นก็คือความร้อนมีน้อยลงนั่นเอง เช่น ใช้คำว่า อุณฺหเตโช หมายถึง ความร้อน และใช้คำว่า สีตเตโช หมายถึง ความเย็น ซึ่งมีคำว่า เตโช อยู่ด้วยทั้งคู่
บทสรุปของผู้เขียน :
จากคัมภีร์ต่าง ๆ ที่กล่าวมาแล้ว จึงสรุปความหมายของเตโชธาตุได้ดังต่อไปนี้
เตโชเป็นรูปธาตุชนิดหนึ่ง เรียกว่า ธาตุไฟ มีลักษณะร้อน เรียกว่า อุณหเตโช หรือมีลักษณะเย็น เรียกว่า สีตเตโช ซึ่งต่างก็มีหน้าที่ทำให้สิ่งต่าง ๆ สุกและทำให้ละเอียดอ่อนนุ่มได้เช่นเดียวกัน เช่น อาหารต่าง ๆ เป็นต้น อาหารบางอย่างย่อมสุกด้วยความร้อน อาหารบางอย่างย่อมสุกด้วยความเย็น จึงจะทำให้อาหารนั้น ๆ มีสภาพอ่อนนุ่มและมีรสชาติดี ควรแก่การบริโภค
สรุปความแล้ว เตโชธาตุมีความหมาย ๒ ประการ คือ
๑. เตโชธาตุ เป็นรูปธรรมที่มีลักษณะร้อน คือ ทำให้สิ่งต่าง ๆ สุกและอ่อนนุ่มได้ เรียกว่า อุณหเตโช
๒. เตโชธาตุ เป็นรูปธรรมที่มีลักษณะเย็น คือ ทำให้สิ่งต่าง ๆ สุกและอ่อนนุ่มได้ เรียกว่า สีตเตโช