| |
จิตตชรูปที่เกี่ยวกับการเคลื่อนไหวอิริยาบถย่อย   |  

อาจารย์วรรณสิทธิ ไวทยะเสวี อดีตประธานมูลนิธิแนบ มหานีรานนท์รุ.๕๕๖ ได้อธิบายเรื่องจิตตชรูปที่เกี่ยวกับการเคลื่อนไหวอิริยาบถย่อยไว้ดังต่อไปนี้

จิตตชรูปที่เกี่ยวกับการเคลื่อนไหวอิริยาบถย่อย ได้แก่ อาการคู้ อาการเหยียด อาการก้ม เงย เหลียวแลซ้ายขวา เดินหน้า ถอยหลัง กระพริบตา อ้าปากหาว หรือเคี้ยวอาหาร เป็นต้น ซึ่งเกิดจากจิต ๓๒ ดวง ได้แก่ มโนทวาราวัชชนจิต ๑ กามชวนจิต ๒๙ อภิญญาจิต ๒ ดวงใดดวงหนึ่ง

คำอธิบายเพิ่มเติมของผู้เขียน :

จิตตชรูปที่เกี่ยวกับการเคลื่อนไหวอิริยาบถย่อย หมายถึง อาการเคลื่อนไหวอิริยาบถเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่มิใช่อิริยาบถใหญ่ ได้แก่ การเหยียดแขน การเหยียดขา การโบกมือ การกวักมือ การก้ม การเงย การพยักหน้า การกระพริบตา เป็นต้น ซึ่งเกิดจากปฏิกิริยาของจิต ๓๒ ดวง ได้แก่ มโนทวาราวัชชนจิต ๑ กามชวนจิต ๒๙ อภิญญาจิต ๒ เป็นปัจจัยให้จิตตชรูปจำนวน ๑๓ รูป ได้แก่ มหาภูตรูป ๔ วัณณรูป ๑ คันธรูป ๑ รสรูป ๑ อาหารรูป ๑ ปริจเฉทรูป ๑ กายวิญญัติรูป ๑ วิการรูป ๓ [เว้นสัททรูปและวจีวิญญัติรูป] เกิดขึ้นตามสมควร ซึ่งแบ่งเป็น ๒ ประเภท ได้แก่ กายวิญญัตตินวกกลาป, และกายวิญญัตติลหุตาทิทวาทสกกลาป ดังมีอธิบายต่อไปนี้

๑. การเคลื่อนไหวอิริยาบถเล็ก ๆ น้อย ๆ เป็นการเคลื่อนไหวอิริยาบถในเวลาที่ร่างกายป่วยเป็นไข้ไม่สบายอย่างหนัก ร่างกายหนักหรือทุพพลภาพ ไม่มีเรี่ยวแรง ไม่คล่องแคล่ว หรือเกิดจากความไม่สบายใจ หดหู่ท้อแท้เบื่อหน่าย หรือได้ประสบกับความพินาศอย่างใหญ่หลวง ที่เรียกว่า พยสนะ ๕ ประการ ได้แก่ ๑] ญาติพยสนะ ความเสื่อมสิ้นแห่งญาติผู้เป็นที่รักหรือคนที่รักมาก ซึ่งจากไปโดยกะทันหัน ยังทำใจยอมรับไม่ได้ ๒] โภคพยสนะ ความพินาศเสื่อมสิ้นแห่งโภคสมบัติล่มสลายไปด้วยภัยพิบัติต่าง ๆ อย่างกะทันหัน โดยยังไม่ทันตั้งตัวหรือยังทำใจยอมรับไม่ได้ ๓] โรคพยสนะ ความพินาศเสื่อมสิ้นพละกำลังและสุขภาพอันเนื่องมาจากโรคร้ายเข้ามารุมเร้า อย่างไม่ทันตั้งตัว จึงทำใจยอมรับไม่ได้ ๔] สีลพยสนะ ความวิบัติเสื่อมสิ้นแห่งศีลที่ตนตั้งใจรักษามาเป็นอย่างดี ต้องมาวิบัติฉิบหายไปเพราะเหตุแห่งทรัพย์ ยศ อวัยวะ ชีวิต หรือความเห็นผิดความเข้าใจผิด อย่างใดอย่างหนึ่ง ๕] ทิฏฐิพยสนะ ความเสื่อมสิ้นแห่งความรู้ความเห็นที่ถูกต้องเป็นสัมมาทิฏฐิ เพราะการหลงยึดติดในความคิดความเห็นที่ผิดจากหลักทำนองคลองธรรม พอรู้ตัวก็สายเกินไปที่จะเยียวยาแก้ไข หรือยากที่จะเริ่มต้นชีวิตใหม่ได้ เมื่อบุคคลได้ประสบกับพยสนะ ๕ ประการนี้ อย่างใดอย่างหนึ่งหรือหลายอย่างแล้ว ย่อมเกิดอาการทุกข์ใจเสียใจและคับแค้นใจอย่างหนัก จนทำให้เกิดความเหือดแห้งใจ หมดอาลัยในการงาน หมดหวังในอนาคต หมดอาลัยในชีวิต ที่เรียกว่า อุปายาส ทำให้กำลังกายเสื่อมสิ้นไปด้วย จึงเป็นปัจจัยทำให้การเคลื่อนไหวอิริยาบถเป็นไปโดยอาการหนักหน่วงอืดอาด ไม่กระปรี้กระเปร่า ไม่กระฉับกระเฉง กลุ่มรูปที่เกิดจากปฏิกิริยาของจิตในขณะนั้น ย่อมเกิดขึ้นเพียง ๙ รูป ได้แก่ อวินิพโภครูป ๘ และกายวิญญัติรูป ๑ เรียกว่า กายวิญญัตตินวกกลาป แปลว่า กลุ่มรูป ๙ รูป มีกายวิญญัติรูปเป็นประธาน

๒. การเคลื่อนไหวอิริยาบถย่อยที่เป็นปกติธรรมดา เป็นการเคลื่อนไหวอิริยาบถย่อยที่เป็นไปด้วยอาการคล่องแคล่ว ในเวลาที่ร่างกายเป็นปกติธรรมดา มิได้มีเหตุปัจจัยใด ๆ ได้แก่ ความป่วยไข้ทางร่างกายอันเนื่องมาจากโรคภัยไข้เจ็บต่าง ๆ และความป่วยไข้ทางจิตใจ อันเนื่องมาจากการประสบกับความเศร้าโศกเสียใจ ความคับแค้นใจ จนถึงความเหือดแห้งใจ ด้วยอำนาจโสกะ ปริเทวะ โทมนัส และอุปายาส เหล่านี้มาบั่นทอน จึงเป็นปัจจัยให้การเคลื่อนไหวอิริยาบถย่อยเป็นไปโดยอาการเบาสบาย มีความกระปรี้กระเปร่า กระฉับกระเฉง คล่องแคล่ว และหนักแน่น กลุ่มรูปที่เกิดจากปฏิกิริยาของจิตในขณะนั้น ย่อมเกิดขึ้นเพียง ๑๒ รูป ได้แก่ อวินิพโภครูป ๘ กายวิญญัติรูป ๑ และวิการรูป ๓ เรียกว่า กายวิญญัตติลหุตาทิทวาทสกกลาป แปลว่า กลุ่มรูป ๑๒ รูป ที่เป็นกายวิญญัตตินวกกลาปนั่นเอง แต่มีวิการรูปรวมอยู่ด้วย จึงทำให้ปฏิกิริยาของรูปมีความเป็นไปตรงกันข้ามกับกายวิญญัตตินวกกลาปดังกล่าวแล้วนั้น

อนึ่ง จิตตชรูปที่เกี่ยวกับการเคลื่อนไหวอิริยาบถย่อยนี้ หมายถึง การเคลื่อนไหวอิริยาบถย่อยที่เป็นไปทางร่างกายอย่างเดียวเท่านั้น ไม่ได้เกี่ยวข้องกับทางวาจา เพราะปฏิกิริยาทางกายและทางวาจานั้น ย่อมมีการเกิดขึ้นและเป็นไปต่างขณะต่างวาระกัน ไม่ได้เป็นไปพร้อมกันในขณะจิตเดียวกันหรือในวิถีจิตเดียวกัน ดังที่กล่าวแล้วในเรื่องจิตตชรูปที่เกี่ยวกับการหัวเราะนั่นแล


เกี่ยวกับตำราอภิธรรม ออนไลน์ (Disclaimer)
ตำราอภิธรรมออนไลน์ พัฒนาขึ้นโดยความร่วมมือของอภิธรรมมหาวิทยาลัย วัดระฆังฯ วัดญาณเวศกวัน และ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ เพื่อนำเสนอสื่อธรรมสำหรับการศึกษาค้นคว้า โดยได้รับอนุญาต และเอกสารต้นฉบับจากผู้เขียน ดังนี้
(๑) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๒), จิตปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๑, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๒) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๖), เจตสิกปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๒, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๓) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๖๓), รูปปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๖, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
ผู้สนใจศึกษาสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับหนังสือ และหลักสูตรการศึกษาได้ที่ สำนักงานอภิธรรมมหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย วัดระฆังโฆษิตารามวรมหาวิหาร (คณะ ๗) แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ ๑๐๗๐๐ โทร ๐๒ ๔๑๑ ๔๕๔๖, ๑๒ ๔๑๒ ๑๐๘๔, ๐๘๖ ๐๓๘ ๒๙๓๓


  |