ไปยังหน้า : |
ธรรมที่เป็นปฏิปักษ์ต่อฌาน แบ่งเป็น ๒ ประเภท คือ
๑. ธรรมที่เป็นปฏิปักษ์ต่อองค์ฌาน ได้แก่ นิวรณ์ คือ เครื่องกั้นจิตไม่ให้กระทำความดี ในที่นี้ หมายถึง ขัดขวางไม่ให้เข้าถึงฌานได้
๒. องค์ฌานที่หยาบกว่า ย่อมเป็นปฏิปักษ์ต่อฌานขั้นสูง
นิวรณ์ ๕ เป็นปฏิปักษ์ต่อองค์ฌาน ๕
๑. ถีนมิทธนิวรณ์ | เป็นปฏิปักษ์ต่อ | วิตก | ||
๒. วิจิกิจฉานิวรณ์ | เป็นปฏิปักษ์ต่อ | วิจาร | ||
๓. พยาบาทนิวรณ์ | เป็นปฏิปักษ์ต่อ | ปีติ | ||
๔. อุทธัจจกุกกุจจนิวรณ์ | เป็นปฏิปักษ์ต่อ | สุข [เวทนา] | ||
๕. กามฉันทนิวรณ์ | เป็นปฏิปักษ์ต่อ | เอกัคคตา |
อธิบายความว่า
ถีนมิทธนิวรณ์เป็นปฏิปักษ์ต่อวิตก เพราะสภาพของถีนมิทธนิวรณ์นั้น มีสภาพตรงกันข้ามกับวิตก คือ วิตกนั้น มีสภาพขวนขวายในการยกจิตขึ้นสู่อารมณ์อยู่เสมอ ไม่ท้อถอยต่ออารมณ์ ส่วนถีนะนั้นทำให้จิตเซื่องซึมและท้อถอยจากอารมณ์ มิทธะก็ทำให้เจตสิกที่ประกอบร่วมกันกับตนนั้นเซื่องซึมท้อถอยจากอารมณ์เช่นเดียวกัน จึงทำให้จิตเจตสิกนั้นเกิดอาการคลุมเครือไม่โปร่งใส และเกิดอาการหงอยเหงา ท้อถอยต่อการรับอารมณ์ ด้วยเหตุนี้ เมื่อถีนมิทธนิวรณ์มีกำลังมากกว่า วิตกองค์ฌานต่อต้านกำลังไม่ไหว ก็จะอ่อนกำลังและละทิ้งจากอารมณ์นั้นไป เพราะฉะนั้น พระโยคีบุคคลผู้เจริญสมถภาวนาจึงต้องปลูกวิตกให้เกิดขึ้น ด้วยการใส่ใจในการยกจิตขึ้นสู่อารมณ์สมถะนั้นบ่อย ๆ และปลูกความรักใคร่ในอารมณ์นั้น โดยไม่ไปใส่ใจในอารมณ์อื่น เพื่อให้วิตกมีกำลังแก่กล้าขึ้น สามารถที่จะข่มถีนมิทธนิวรณ์ให้สงบราบคาบเป็นวิกขัมภนปหานได้ในที่สุด
วิจิกิจฉานิวรณ์เป็นปฏิปักษ์ต่อวิจาร เพราะวิจิกิจฉานิวรณ์นั้น มีสภาพที่ตรงกันข้ามกับวิจาร คือ วิจารนั้น มีสภาพรักใคร่คลอเคลียหรือเคล้าคลึงอยู่ในอารมณ์โดยไม่ย่อมทิ้งห่าง เหมือนแมลงผึ้งที่รักใคร่ในเกสรดอกไม้ ย่อมจะคลอเคลียและเคล้าคลึงอยู่ในเกสรดอกไม้โดยไม่ยอมทิ้งห่างไปฉะนั้น ส่วนสภาพของวิจิกิจฉานั้น มีสภาพรวนเร เคลือบแคลงไม่ปักใจต่ออารมณ์นั้น จึงไม่สามารถที่จะเกาะติดอารมณ์นั้นไว้ได้นาน เพราะฉะนั้น เมื่อสภาพของวิจิกิจฉามีกำลังมากกว่า ก็จะทำให้จิตและเจตสิกเกิดความรวนเร เคลือบแคลงต่ออารมณ์ที่เพ่งบริกรรมอยู่ ไม่สามารถเคล้าคลึงอยู่ในอารมณ์นั้นอย่างเดียวได้ ย่อมรวนเรหันเหไปหาอารมณ์อื่นอยู่เสมอ ทำให้จิตหลุดจากอารมณ์กรรมฐานนั้นได้ง่าย ด้วยเหตุนี้ พระโยคีบุคคลผู้เจริญสมถภาวนา จึงต้องปลูกวิจารให้เกิดขึ้น ด้วยการใส่ใจต่ออารมณ์นั้นและเคล้าคลึงอยู่ในอารมณ์นั้นบ่อย ๆ จนจิตไม่รวนเรหันเหไปสู่อารมณ์อื่น เมื่อวิจารมีกำลังแก่กล้าแล้ว ก็สามารถที่จะข่มวิจิกิจฉาให้สงบเป็นวิกขัมภนปหานได้ในที่สุด
พยาบาทนิวรณ์เป็นปฏิปักษ์ต่อปีติ เพราะพยาบาทนิวรณ์นั้น มีสภาพที่ตรงกันข้ามกับสภาพของปีติอย่างสิ้นเชิง คือ ปีตินั้น มีสภาพที่รักใคร่พอใจ ทะนุถนอมและเอิบอิ่มซึมซาบอยู่ในอารมณ์นั้น ส่วนพยาบาทนั้น มีสภาพที่ผลักไสไม่พอใจต่ออารมณ์และมักต่อต้านทำลายอารมณ์ให้ย่อยยับสูญสิ้นไป ปีติเปรียบเหมือนมารดาผู้รักใคร่ทะนุถนอมคลอเคลียต่อบุตร ส่วนพยาบาทนั้น เปรียบเหมือนมารใจหยาบผู้ต้องการที่จะทำลายบุตรนั้นให้ถึงความพินาศตายไป เพราะฉะนั้น เมื่อพยาบาทมีกำลังมากกว่า ก็จะทำให้จิตเจตสิกผละออกจากอารมณ์กรรมฐานไม่ใยดีต่ออารมณ์นั้น หรือเบือนหน้าหนีจากอารมณ์ด้วยความไม่พอใจ ด้วยเหตุนี้ โยคีบุคคลผู้เจริญสมถภาวนา จึงต้องปลูกปีติให้เกิดความรักใคร่พอใจและเอิบอาบซึมซาบแนบสนิทอยู่ในอารมณ์นั้น เพื่อทำลายกำลังของพยาบาทให้หมดไป เมื่อปีติมีกำลังแก่กล้าแล้ว ก็จะเกิดความเอิบอิ่มแช่มชื่นอยู่ในอารมณ์นั้นเพียงอย่างเดียว ย่อมสามารถข่มพยาบาทนิวรณ์ให้สงบราบคาบเป็นวิกขัมภนปหานได้ในที่สุด
อุทธัจจกุกกุจจนิวรณ์เป็นปฏิปักษ์ต่อสุขเวทนา เพราะอุทธัจจกุกกุจจนิวรณ์นั้นมีสภาพตรงกันข้ามกับสภาพของสุขเวทนาหรือโสมนัสสเวทนา คือ โสมนัสสเวทนานั้น มีความชื่นชมยินดีพอใจรักใคร่ในอารมณ์นั้น ส่วนอุทธัจจะนั้นมีสภาพฟุ้งซ่านซัดส่ายไปในอารมณ์อื่นอยู่เสมอ โดยไม่ยึดอยู่ในอารมณ์อย่างใดอย่างหนึ่ง ฝ่ายกุกกุจจะนั้น มีความรำคาญเบื่อหน่ายต่ออารมณ์ต่างๆได้ง่าย ไม่ยึดอยู่ในอารมณ์อย่างใดอย่างหนึ่งได้นานเช่นเดียวกัน ฉะนั้น สภาพของอุทธัจจะและกุกกุจจะนี้จึงเป็นไปในทำนองเดียวกัน คือ มักซัดส่ายไปในอารมณ์ต่าง ๆ อยู่เสมอ ไม่สามารถที่จะยึดอยู่ในอารมณ์เดียวได้นาน เพราะฉะนั้น ถ้าสภาพของอุทธัจจกุกกุจจนิวรณ์มีกำลังมากกว่า ก็จะทำให้จิตเจตสิกคลายจากความชื่นชมยินดีต่ออารมณ์นั้นและเกิดความแหนงหน่ายไปสู่อารมณ์อื่นอยู่เสมอ ทำให้จิตเจตสิกไม่แนบสนิทอยู่ในอารมณ์เดียว ด้วยเหตุนี้ พระโยคีบุคคลผู้เจริญสมถภาวนา ต้องปลูกโสมนัสความยินดีพอใจและความสุขใจอยู่ในอารมณ์กรรมฐานอย่างใดอย่างหนึ่งให้เกิดขึ้นอยู่เสมอเพื่อให้จิตเกิดความพึงพอใจอยู่เฉพาะในอารมณ์นั้นเพียงอย่างเดียว ไม่ให้แหนงหน่ายไปสู่อารมณ์อื่น เมื่อโสมนัสมีกำลังแก่กล้าแล้ว ก็สามารถที่จะข่มอุทธัจจกุกกุจจนิวรณ์ให้สงบราบคาบเป็นวิกขัมภนปหานได้ในที่สุด
กามฉันทนิวรณ์เป็นปฏิปักษ์ต่อเอกัคคตา เพราะกามฉันทนิวรณ์นั้นมีสภาพที่ตรงกันข้ามกับเอกัคคตา คือ เอกัคคตานั้น มีความรักใคร่แนบสนิทอยู่กับอารมณ์อย่างใดอย่างหนึ่งเพียงอย่างเดียว ส่วนกามฉันทะนั้น มีสภาพดิ้นรนทะเยอทะยานด้วยอำนาจความใคร่ในอารมณ์ต่าง ๆ ต้องการที่จะลิ้มชิมรสของอารมณ์ใหม่ ๆ อยู่เสมอ เพราะฉะนั้น เมื่อกามฉันทนิวรณ์มีกำลังมากกว่า ก็จะทำให้เอกัคคตา คือ สมาธินั้นอ่อนกำลังลงและหลุดจากอารมณ์ที่เข้าไปแนบสนิทอยู่นั้นได้ง่าย ด้วยเหตุนี้ พระโยคีบุคคลผู้เจริญสมถภาวนา จึงต้องปลูกเอกัคคตาให้มีความรักใคร่แนบสนิทติดอยู่ในอารมณ์สมถะอย่างใดอย่างหนึ่ง เพียงอย่างเดียวเพื่อไม่ให้จิตดิ้นรนแส่ไปหาอารมณ์อื่น เมื่อเอกัคคตามีกำลังแก่กล้าแล้ว ก็สามารถข่มกามฉันทนิวรณ์ให้สงบราบคาบเป็นวิกขัมภนปหานได้ในที่สุด
เพราะฉะนั้น นิวรณ์ทั้ง ๕ จึงเป็นปฏิปักษ์ต่อปฐมฌานโดยตรงและเป็นปฏิปักษ์ต่อฌานจิตทั้งหมดโดยอ้อม เพราะเมื่อนิวรณ์กำเริบขึ้นแล้ว ย่อมทำให้ฌานจิตที่ได้แล้วนั้นอ่อนกำลังลงและเสื่อมสูญไปได้ ด้วยเหตุนี้ ฌานลาภีบุคคล จึงต้องสำรวมระวังไม่ให้นิวรณ์กำเริบขึ้นมาได้ และพยายามฝึกฝนฌานให้เป็นวสีทั้ง ๕ อยู่เสมอ เพื่อจะได้รักษาฌานให้มีกำลังแก่กล้าและคงอยู่ตลอดไป