| |
ลักขณาทิจตุกะของลหุตาเจตสิก   |  

บัณฑิตผู้มีปัญญาเป็นเครื่องพิจารณาโดยอุบายอันแยบคายแล้ว ย่อมสามารถกำหนดพิจารณาเรียนรู้สภาวะของลหุตาเจตสิกทั้ง ๒ อันเป็นปรมัตถธรรมอย่างหนึ่ง ซึ่งนับเนื่องในสังขารขันธ์ เพราะเป็นสภาวธรรมที่ปรุงแต่งจิตให้เกิดการรับรู้อารมณ์ที่พิเศษออกไปจากเวทนาขันธ์และสัญญาขันธ์ โดยอาศัยคุณสมบัติพิเศษเฉพาะตน ที่ไม่เหมือนกับสภาวธรรมเหล่าอื่น ๔ ประการ ที่เรียกว่า วิเสสลักษณะ หรือ ลักขณาทิจตุกะ ดังต่อไปนี้

๑. กายะจิตตะคะรุภาวะวูปะสะมะลักขะณา มีการทำให้จิตเจตสิกสงบจากความหนักอืดอาด เป็นลักษณะ หมายความว่า ลหุตาเจตสิกทั้ง ๒ ดวงนี้ย่อมมีสภาพเบาและผ่อนคลายจากอาการหนักและความอึดอัดด้วยอำนาจกิเลส เมื่อลหุตาเจตสิก ๒ ดวงนี้เกิดขึ้นแล้ว ย่อมทำให้สัมปยุตตธรรม คือ จิตและเจตสิกที่เกิดพร้อมกับตนในขณะนั้น มีความเบาสบายปลอดโปร่งโล่งใจ หายจากความหนักและความอึดอัดด้วยอำนาจกิเลส เพราะฉะนั้น เมื่อบุคคลใดมีลหุตาเจตสิกเกิดขึ้นในจิตใจแล้ว บุคคลนั้นย่อมรู้สึกเบากายและเบาใจ หายจากความอึดอัดหนักใจ มีความกระฉับกระเฉง พร้อมที่จะสร้างคุณงามความดีต่าง ๆ หรือพร้อมที่จะรับรู้สิ่งที่ดีงามต่าง ๆ ได้โดยไม่ต่อต้านคัดค้านหรือแหนงหน่ายจากคุณงามความดีนั้น

๒. กายะจิตตะคะรุภาวะนิททะมะนะระสา มีการกำจัดความหนักของจิตเจตสิก เป็นกิจ หมายความว่า ลหุตาเจตสิกทั้ง ๒ ดวงนี้ ย่อมมีสภาพที่เบาสบายปลอดโปร่ง ซึ่งเป็นปฏิปักษ์ต่อความหนักและความอึดอัดอันเกิดจากอำนาจกิเลสรุมเร้า เพราะฉะนั้น เมื่อลหุตาเจตสิกทั้ง ๒ ดวงนี้เกิดขึ้นแล้ว ย่อมกำจัดความอึดอัดหนักหน่วงของสัมปยุตตธรรมคือจิตและเจตสิกที่เกิดพร้อมกับตนในขณะนั้นให้หมดไป ทำให้สัมปยุตตธรรมทั้งหลายมีสภาพเบาสบายผ่อนคลายจากความหนักและความอึดอึดด้วยอำนาจกิเลสและมีความพร้อมที่จะกระทำคุณงามความดีต่าง ๆ หรือพร้อมที่จะรับรู้สิ่งที่ดีงามต่าง ๆ ได้เสมอ

๓. กายะจิตตานัง อะทันธะตาปัจจุปปัฏฐานา มีความไม่ชักช้าของจิตเจตสิก เป็นอาการปรากฏ หมายความว่า ลหุตาเจตสิกทั้ง ๒ ดวงนี้ เป็นสภาวธรรมที่เบาสบาย ทำให้เกิดความปลอดโปร่งโล่งใจไม่อึดอัดหนักหน่วงและไม่ติดขัดในกิจหน้าที่ต่าง ๆ เมื่อมีกำลังมากแล้วย่อมทำให้สัมปยุตตธรรมเกิดอาการกระฉับกระเฉงคล่องแคล่ว ทำลายความชักช้าอืดอาดของสัมปยุตตธรรมให้หมดไป ทำให้บุคคลนั้นมีความพร้อมทั้งทางร่างกายและจิตใจในการสร้างสรรสิ่งที่ดีงาม หรือสามารถรับรู้สิ่งที่ดีงามได้อย่างมีประสิทธิภาพ

๔. กายะจิตตะปะทัฏฐานา มีจิตเจตสิก เป็นเหตุใกล้ให้เกิด หมายความว่า ลหุตาเจตสิกทั้ง ๒ ดวงนี้ จะเกิดขึ้นเองตามลำพังไม่ได้ ต้องมีสัมปยุตตธรรม คือ จิตและเจตสิกอื่น ๆ ที่เป็นฝักฝ่ายแห่งโสภณธรรม คือ ธรรมอันดีงามเป็นบาทฐานรองรับ ลหุตาเจตสิกทั้ง ๒ ดวงนี้จึงจะเกิดขึ้นมาเพื่อทำให้สัมปยุตตธรรมเหล่านั้นมีอาการเบาสบายปลอดโปร่ง และมีความพร้อมในกิจหน้าที่อันดีงามต่อไป ถ้าไม่มีจิตและเจตสิกเหล่าอื่นเกิดร่วมด้วย ลหุตาเจตสิกทั้ง ๒ ดวงนี้ย่อมเกิดขึ้นไม่ได้เช่นเดียวกัน


เกี่ยวกับตำราอภิธรรม ออนไลน์ (Disclaimer)
ตำราอภิธรรมออนไลน์ พัฒนาขึ้นโดยความร่วมมือของอภิธรรมมหาวิทยาลัย วัดระฆังฯ วัดญาณเวศกวัน และ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ เพื่อนำเสนอสื่อธรรมสำหรับการศึกษาค้นคว้า โดยได้รับอนุญาต และเอกสารต้นฉบับจากผู้เขียน ดังนี้
(๑) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๒), จิตปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๑, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๒) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๖), เจตสิกปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๒, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๓) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๖๓), รูปปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๖, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
ผู้สนใจศึกษาสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับหนังสือ และหลักสูตรการศึกษาได้ที่ สำนักงานอภิธรรมมหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย วัดระฆังโฆษิตารามวรมหาวิหาร (คณะ ๗) แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ ๑๐๗๐๐ โทร ๐๒ ๔๑๑ ๔๕๔๖, ๑๒ ๔๑๒ ๑๐๘๔, ๐๘๖ ๐๓๘ ๒๙๓๓


  |