| |
สรุปอัญญสมานเจตสิก   |  

อัญญสมานเจตสิก เป็นเจตสิกที่มีสภาพเป็นกลาง สามารถเกิดร่วมกับสภาวธรรมอื่นได้ คือ

ว่าโดยชาติ มี ๔ ชาติ อัญญสมานเจตสิกสามารถเกิดร่วมกับธรรมที่เป็นอกุศลชาติก็ได้ ธรรมที่เป็นกุศลชาติก็ได้ ธรรมที่เป็นวิปากชาติก็ได้ และธรรมที่เป็นกิริยาชาติก็ได้

ว่าโดยภูมิ มี ๔ ภูมิ อัญญสมานเจตสิกสามารถเกิดร่วมกับธรรมที่เป็นกามาวจรภูมิ ธรรมที่เป็นรูปาวจรภูมิ ธรรมที่เป็นอรูปาวจรภูมิ และธรรมที่เป็นโลกุตตรภูมิก็ได้

ว่าโดยโสภณะและอโสภณะ อัญญสมานเจตสิกสามารถเกิดร่วมกับธรรมที่เป็นอโสภณะก็ได้ และธรรมที่เป็นโสภณะก็ได้

ว่าโดยโลกียะและโลกุตตระ อัญญสมานเจตสิกสามารถเกิดร่วมกับธรรมที่เป็นโลกียะก็ได้ และธรรมที่เป็นโลกุตตระก็ได้

ว่าโดยเหตุ อัญญสมานเจตสิกสามารถเกิดร่วมกับธรรมที่เป็นอเหตุกะก็ได้ และ สเหตุกะก็ได้ ตามสมควรที่จะเกิดร่วมด้วยได้

ว่าโดยประเภทแห่งฌาน อัญญสมานเจตสิกสามารถเกิดร่วมกับธรรมที่ไม่เข้าถึงความเป็นฌาน เรียกว่า อฌานะก็ได้ และธรรมที่เข้าถึงความเป็นฌาน ที่เรียกว่า ฌานะ ก็ได้

ว่าโดยประเภทแห่งเวทนา ๕ อัญญสมานเจตสิกที่สามารถเกิดร่วมกับสุขเวทนาและทุกขเวทนาได้ มี ๗ ดวง คือ สัพพจิตตสาธารณเจตสิก ๗ อัญญสมานเจตสิกที่สามารถเกิดร่วมกับโสมนัสสเวทนาได้ มี ๑๓ ดวงทั้งหมด อัญญสมานเจตสิกที่สามารถเกิดร่วมกับโทมนัสสเวทนาและอุเบกขาเวทนาได้มี ๑๒ ดวง เว้นปีติเจตสิก

ว่าโดยประเภทแห่งสัมปโยคะ อัญญสมานเจตสิกสามารถเกิดร่วมกับธรรมที่เป็นสัมปยุตต์ก็ได้ และธรรมที่เป็นวิปปยุตต์ก็ได้

ว่าโดยประเภทแห่งสังขาร อัญญสมานเจตสิกสามารถเกิดร่วมกับธรรมที่เป็นอสังขาริกก็ได้ และสสังขาริกก็ได้

ด้วยเหตุนี้ จึงกล่าวได้ว่า อัญญสมานเจตสิกนี้มีสภาพเหมือนกับธรรมอื่น คือ สามารถเข้ากับธรรมอื่น ๆ ได้ตามสมควรที่จะเข้าได้ โดยไม่ขัดแย้งกัน หมายความว่า อัญญสมานเจตสิกที่เป็นจำพวกสัพพจิตตสาธารณเจตสิก ๗ สามารถเกิดร่วมกับธรรมอื่นที่เป็นจิตและเจตสิกได้ทุกประเภทโดยไม่มียกเว้น ส่วนอัญญสมานเจตสิกที่เป็นจำพวกปกิณณกเจตสิก ๖ นั้น สามารถเกิดร่วมกับจิตและเจตสิกได้ทุกประเภทแต่ไม่ทั้งหมด มีบางดวงที่ไม่สามารถเกิดร่วมด้วยได้ เนื่องมาจากสภาพขัดกันบ้าง เวทนาขัดกันบ้าง หรืออารมณ์ขัดกันบ้าง ตามที่ได้พรรณนามาแล้วข้างต้นนั้น


เกี่ยวกับตำราอภิธรรม ออนไลน์ (Disclaimer)
ตำราอภิธรรมออนไลน์ พัฒนาขึ้นโดยความร่วมมือของอภิธรรมมหาวิทยาลัย วัดระฆังฯ วัดญาณเวศกวัน และ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ เพื่อนำเสนอสื่อธรรมสำหรับการศึกษาค้นคว้า โดยได้รับอนุญาต และเอกสารต้นฉบับจากผู้เขียน ดังนี้
(๑) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๒), จิตปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๑, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๒) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๖), เจตสิกปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๒, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๓) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๖๓), รูปปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๖, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
ผู้สนใจศึกษาสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับหนังสือ และหลักสูตรการศึกษาได้ที่ สำนักงานอภิธรรมมหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย วัดระฆังโฆษิตารามวรมหาวิหาร (คณะ ๗) แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ ๑๐๗๐๐ โทร ๐๒ ๔๑๑ ๔๕๔๖, ๑๒ ๔๑๒ ๑๐๘๔, ๐๘๖ ๐๓๘ ๒๙๓๓


  |