| |
ปธานิยังคะ ๕   |  

ปธานิยังคะ หมายถึง คุณสมบัติของบุคคลผู้บำเพ็ญเพียรทางจิต อันมีวิริยเจตสิกเป็นประธาน มี ๕ ประการ คือ

๑. สัทโธ เป็นผู้มีศรัทธา คือ เชื่อในปัญญาตรัสรู้ของพระตถาคตว่า แม้เพราะเหตุนี้ ๆ พระพุทธเจ้าพระองค์นั้น ทรงเป็นพระอรหันต์ ตรัสรู้ชอบได้โดยพระองค์เอง ถึงพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ เสด็จไปดีแล้ว ทรงรู้แจ้งโลก ทรงเป็นสารถีฝึกบุรุษที่สมควรฝึกได้อย่างไม่มีผู้อื่นยิ่งกว่า ทรงเป็นศาสดาของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เป็นผู้รู้ผู้ตื่นผู้เบิกบานด้วยธรรม เป็นผู้จำแนกแจกจ่ายธรรม

๒. อัปปาพาโธ เป็นผู้มีอาพาธน้อย คือ เป็นผู้มีความลำบากน้อยเพราะเป็นผู้ประกอบด้วยไฟธาตุสำหรับย่อยอาหารเป็นปกติดี ไม่เย็นนัก ไม่ร้อนนัก เป็นไปอย่างกลาง ๆ ควรแก่การบำเพ็ญความเพียร

๓. อสโฐ อมายาวี เป็นผู้ไม่โอ้อวด ไม่มีมายา คือ เป็นผู้เปิดเผยตนเองตามความเป็นจริงในพระศาสดา หรือในเพื่อนพรหมจารีที่เป็นวิญญูชนทั้งหลาย โดยไม่ปิดบังอำพราง หรือมีลับลมคมใน

๔. อารัทธวีริโย เป็นผู้ปรารภความเพียรเพื่อละอกุศลธรรมทั้งหลาย เพื่อยังกุศลธรรมทั้งหลายให้เกิดขึ้น เป็นผู้มีกำลัง มีความบากบั่นมั่นคง ไม่ทอดธุระในกุศลธรรมทั้งหลาย

๕. ปัญญวา เป็นผู้มีปัญญา คือ เป็นผู้ประกอบด้วยปัญญาที่ตามเห็นความเกิดและความดับ ซึ่งเป็นปัญญาอันประเสริฐ เป็นไปเพื่อความรู้แจ้งแทงตลอด เป็นหนทางจะให้ถึงความสิ้นทุกข์โดยชอบ


เกี่ยวกับตำราอภิธรรม ออนไลน์ (Disclaimer)
ตำราอภิธรรมออนไลน์ พัฒนาขึ้นโดยความร่วมมือของอภิธรรมมหาวิทยาลัย วัดระฆังฯ วัดญาณเวศกวัน และ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ เพื่อนำเสนอสื่อธรรมสำหรับการศึกษาค้นคว้า โดยได้รับอนุญาต และเอกสารต้นฉบับจากผู้เขียน ดังนี้
(๑) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๒), จิตปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๑, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๒) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๖), เจตสิกปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๒, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๓) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๖๓), รูปปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๖, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
ผู้สนใจศึกษาสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับหนังสือ และหลักสูตรการศึกษาได้ที่ สำนักงานอภิธรรมมหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย วัดระฆังโฆษิตารามวรมหาวิหาร (คณะ ๗) แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ ๑๐๗๐๐ โทร ๐๒ ๔๑๑ ๔๕๔๖, ๑๒ ๔๑๒ ๑๐๘๔, ๐๘๖ ๐๓๘ ๒๙๓๓


  |