| |
ลักขณาทิจตุกะของอุทธัจจเจตสิก   |  

บัณฑิตผู้มีปัญญาเป็นเครื่องพิจารณาโดยอุบายอันแยบคายแล้ว ย่อมสามารถกำหนดพิจารณาเรียนรู้สภาพของอุทธัจจเจตสิก อันเป็นปรมัตถธรรมอย่างหนึ่ง ซึ่งนับเนื่องในสังขารขันธ์ เพราะเป็นสภาวธรรมที่ปรุงแต่งจิตให้รู้อารมณ์เป็นพิเศษออกไปจากเวทนาขันธ์และสัญญาขันธ์ โดยอาศัยคุณสมบัติพิเศษเฉพาะตน ที่ไม่เหมือนสภาวธรรมเหล่าอื่น ๔ ประการ ที่เรียกว่า วิเสสลักษณะหรือ ลักขณาทิจตุกะ ดังต่อไปนี้

๑. อะวูปะสะมะลักขะณัง มีความไม่สงบ เป็นลักษณะ หมายความว่า สภาพของอุทธัจจเจตสิกนี้ย่อมมีสภาพที่ซัดส่ายไปในอารมณ์ต่าง ๆ อยู่เสมอ ไม่สามารถสงบตั้งมั่นอยู่ในอารมณ์เดียวได้ เปรียบเหมือนน้ำที่กระเพื่อมเพราะถูกแรงลมพัด ฉันนั้น ความคิดของบุคคลที่ถูกอุทธัจจะกำลังครอบงำอยู่ ย่อมซัดส่ายอยู่ตลอดเวลา เมื่อยั้งไม่อยู่ ย่อมปล่อยความคิดให้ไหลไปเรื่อย ๆ ร้อยแปดพันเรื่องไม่มีสิ้นสุด

๒. อะนะวัฏฐานะระสัง มีความไม่ตั้งมั่น เป็นกิจ หมายความว่า สภาพของอุทธัจจเจตสิกนี้ ย่อมไม่ตั้งมั่นอยู่ในอารมณ์อย่างใดอย่างหนึ่งโดยความหนักแน่นมั่นคงได้ มักซัดส่ายไปในอารมณ์ต่าง ๆ อยู่ตลอดเวลา เปรียบเหมือนธงชัย และธงแผ่นผ้าที่พริ้วไปตามแรงลม ด้วยเหตุนี้ เมื่ออุทธัจจะเกิดขึ้นครอบงำจิตใจของบุคคลใดแล้ว จิตของบุคคลนั้นย่อมไม่สามารถตั้งมั่นอยู่ในอารมณ์หนึ่งอารมณ์ใดได้

๓. ภันตะภาวะปัจจุปปัฏฐานัง มีความพล่านไป เป็นอาการปรากฏ หมาย ความว่า สภาพของอุทธัจจเจตสิกย่อมฟุ้งซ่านไปในอารมณ์ต่าง ๆ อยู่ตลอดเวลา ไม่สามารถสงบตั้งมั่นเป็นหนึ่งได้ เปรียบเหมือนขี้เถ้าที่ฟุ้งขึ้นเพราะถูกหินทุ่ม ด้วยเหตุนี้ บุคคลที่กำลังคิดฟุ้งซ่านอยู่ จึงไม่มีความสงบ คือ ไม่สามารถหยุดยั้งความคิดได้

๔. อะโยนิโสมะนะสิการะปะทัฏฐานัง มีการกระทำไว้ในใจโดยอุบายอันไม่แยบคาย เป็นเหตุใกล้ให้เกิด หมายความว่า การที่บุคคลถูกอุทธัจจะเข้าครอบงำ จนหยุดยั้งความคิดของตนไม่อยู่นั้น เป็นเพราะบุคคลนั้นขาดโยนิโสมนสิการ คือ การไม่พิจารณาสรรพสิ่งทั้งปวงที่ประสบพบเห็นโดยอุบายอันแยบคาย หรือไม่ใช้ปัญญาในการดำเนินชีวิต มักปล่อยจิตให้ไหลไปตามกระแสกิเลสและอารมณ์ที่มาปรากฏต่าง ๆ ซึ่งยั่วยุให้เป็นไป เมื่อถูกกิเลสครอบงำมากแล้ว ย่อมทำให้บุคคลนั้นขาดความยั้งคิดและขาดความรู้สึกตัว จึงทำให้อกุศลเกิดขึ้นอยู่เสมอ โดยมีความฟุ้งซ่านเป็นต้นเหตุ


เกี่ยวกับตำราอภิธรรม ออนไลน์ (Disclaimer)
ตำราอภิธรรมออนไลน์ พัฒนาขึ้นโดยความร่วมมือของอภิธรรมมหาวิทยาลัย วัดระฆังฯ วัดญาณเวศกวัน และ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ เพื่อนำเสนอสื่อธรรมสำหรับการศึกษาค้นคว้า โดยได้รับอนุญาต และเอกสารต้นฉบับจากผู้เขียน ดังนี้
(๑) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๒), จิตปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๑, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๒) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๖), เจตสิกปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๒, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๓) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๖๓), รูปปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๖, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
ผู้สนใจศึกษาสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับหนังสือ และหลักสูตรการศึกษาได้ที่ สำนักงานอภิธรรมมหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย วัดระฆังโฆษิตารามวรมหาวิหาร (คณะ ๗) แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ ๑๐๗๐๐ โทร ๐๒ ๔๑๑ ๔๕๔๖, ๑๒ ๔๑๒ ๑๐๘๔, ๐๘๖ ๐๓๘ ๒๙๓๓


  |