| |
เหตุให้เกิดโลกุตตรปัญญา   |  

เหตุให้เกิดโกลุตตรปัญญานั้น ได้แก่ การเกิดขึ้นของวิปัสสนาญาณตามลำดับ

วิปัสสนาญาณ หมายถึง ปัญญาที่กำหนดรู้เห็นรูปนามขันธ์ ๕ โดยความเป็น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา คือ เห็นประจักษ์แจ้ง ซึ่งไตรลักษณ์แห่งรูปนาม เรียกว่า ปัจจักขสิทธิญาณ ตามลำดับ คือ

๑. นามรูปปริจเฉทญาณ คือ ปัญญาญาณที่กำหนดรู้เห็นรูปนามว่า เป็นคนละสิ่ง คนละส่วน ไม่ได้ระคนปนกันจนแยกกันไม่ได้เลย

๒. ปัจจยปริคคหญาณ คือ ปัญญาที่กำหนดรู้เห็นปัจจัยที่ทำให้เกิดรูปนามขึ้น

๓. สัมมสนญาณ คือ ปัญญาที่กำหนดรู้เห็นรูปนามโดยความเป็นไตรลักษณ์

๔. อุทยัพพยญาณ คือ ปัญญาญาณที่กำหนดรู้เห็นทั้งความเกิดและความดับของรูปนาม ทำให้เห็นรูปนามโดยความเป็นไตรลักษณ์อย่างชัดเจน อุทยัพพยญาณนี้จำแนกเป็น ๒ อย่าง คือ

๔.๑ ตรุณอุทยัพพยญาณ เป็นอุทยัพพยญาณที่ยังอ่อนอยู่ ซึ่งกำลังอยู่ในช่วงที่วิปัสสนูปกิเลส ๑๐ ยังเกิดขึ้นรบกวนอยู่

๔.๒ พลวอุทยัพพยญาณ เป็นอุทยัพพยญาณที่แก่กล้า สามารถข้ามพ้นจากวิปัสสนูปกิเลสได้แล้ว

๕. ภังคญาณ คือ ปัญญาญาณที่กำหนดพิจารณาใส่ใจถึงแต่ความดับไปแห่งรูปนามอย่างเดียว

๖. ภยญาณ หรือ ภยตูปัฏฐานญาณ คือ ปัญญาญาณที่กำหนดรู้เห็นรูปนามโดยความเป็นภัยอันน่ากลัว

๗. อาทีนวญาณ คือ ปัญญาญาณที่กำหนดพิจารณาเห็นว่า รูปนามนี้เป็นโทษ

๘. นิพพิทาญาณ คือ ปัญญาญาณที่กำหนดพิจารณาเห็นว่า นามรูปเป็นสิ่งที่น่าเบื่อหน่าย

๙. มุญจิตุกัมยตาญาณ คือ ปัญญาญาณที่ปรารถนาจะพ้นไปจากรูปนาม

๑๐. ปฏิสังขาญาณ คือ ปัญญาญาณที่กำหนดพิจารณาหาทางที่จะหนีให้พ้นไปจากรูปนาม

๑๑. สังขารุเปกขาญาณ คือ ปัญญาที่กำหนดพิจารณาวางเฉยในรูปนาม

๑๒. อนุโลมญาณ คือ ปัญญาญาณที่กำหนดพิจารณาเห็นรูปนามให้คล้อยไปตามอริยสัจจญาณ

๑๓. โคตรภูญาณ คือ ปัญญาญาณที่กำหนดพิจารณาข้ามพ้นจากรูปนามไปสู่สภาพของพระนิพพาน

๑๔. มัคคญาณ คือ ปัญญาญาณที่รับรู้สภาพของพระนิพพานอย่างแจ่มแจ้ง พร้อมกับทำการประหาณอนุสัยกิเลสเป็นสมุจเฉทปหาน ไปในขณะเดียวกันนั้นด้วย

๑๕. ผลญาณ คือ ปัญญาญาณที่กำหนดรับรู้พระนิพพานเป็นอารมณ์ต่อจากมรรคญาณ

๑๖. ปัจจเวกขณญาณ คือ ปัญญาญาณที่กำหนดพิจารณาสภาพธรรมต่าง ๆ หลังจากผลญาณดับลงแล้วเจ.๒๙


เกี่ยวกับตำราอภิธรรม ออนไลน์ (Disclaimer)
ตำราอภิธรรมออนไลน์ พัฒนาขึ้นโดยความร่วมมือของอภิธรรมมหาวิทยาลัย วัดระฆังฯ วัดญาณเวศกวัน และ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ เพื่อนำเสนอสื่อธรรมสำหรับการศึกษาค้นคว้า โดยได้รับอนุญาต และเอกสารต้นฉบับจากผู้เขียน ดังนี้
(๑) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๒), จิตปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๑, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๒) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๖), เจตสิกปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๒, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๓) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๖๓), รูปปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๖, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
ผู้สนใจศึกษาสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับหนังสือ และหลักสูตรการศึกษาได้ที่ สำนักงานอภิธรรมมหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย วัดระฆังโฆษิตารามวรมหาวิหาร (คณะ ๗) แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ ๑๐๗๐๐ โทร ๐๒ ๔๑๑ ๔๕๔๖, ๑๒ ๔๑๒ ๑๐๘๔, ๐๘๖ ๐๓๘ ๒๙๓๓


  |