| |
มหากัมมวิภังคสูตร   |  

พระพุทธเจ้าตรัสว่า ข้อที่เรากล่าวว่า

“ดูกรภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายพึงทราบกรรม เหตุเกิดแห่งกรรม ความต่างแห่งกรรม วิบากแห่งกรรม ความดับแห่งกรรม ปฏิปทาที่ให้ถึงความดับแห่งกรรม ดังนี้ เราอาศัยอะไรจึงกล่าวเช่นนั้น

ดูกรภิกษุทั้งหลาย เรากล่าวเจตนาว่า เป็นกรรม บุคคลคิดแล้วจึงกระทำกรรมด้วยกาย ด้วยวาจา ด้วยใจ เหตุเกิดแห่งกรรมเป็นไฉน คือ ผัสสะเป็นเหตุเกิดแห่งกรรม ความต่างแห่งกรรมเป็นไฉน คือ กรรมที่ให้วิบากในนรกก็มี ที่ให้วิบากในกำเนิดสัตว์ดิรัจฉานก็มี ที่ให้วิบากในเปรตวิสัยก็มี ที่ให้วิบากในมนุษย์โลกก็มี ที่ให้วิบากในเทวโลกก็มี นี้เรียกว่า ความต่างแห่งกรรม วิบากแห่งกรรมเป็นไฉน คือ เราย่อมกล่าววิบากแห่งกรรมว่า มี ๓ ประการ คือ ทิฏฐธัมมเวทนียกรรม กรรมที่ให้ผลในปัจจุบัน ๑ อุปปัชชเวทนียกรรม กรรมที่ให้ผลในภพที่เกิด ๑ อปราปริยเวทนียกรรม กรรมที่ให้ผลในภพต่อ ๆ ไป ๑ นี้เรียกว่า วิบากแห่งกรรม ความดับแห่งกรรมเป็นไฉน คือ ความดับแห่งกรรมย่อมเกิดขึ้นเพราะความดับแห่งผัสสะ อริยมรรคอันประกอบด้วยองค์ ๘ ประการนี้แล คือ สัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปปะ สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ สัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ เป็นปฏิปทาให้ถึงความดับแห่งกรรม

ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่อใดอริยสาวกย่อมทราบชัดซึ่งกรรม เหตุเกิดแห่งกรรม ความต่างแห่งวิบากของกรรม ความดับแห่งกรรม ปฏิปทาที่ให้ถึงความดับแห่งกรรม อย่างนี้ ๆ เมื่อนั้น อริยสาวกนั้นย่อมทราบชัดพรหมจรรย์อันเป็นไปในส่วนแห่งความชำแรกกิเลส อันเป็นที่ดับแห่งกรรม ข้อที่เรากล่าวว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายพึงทราบกรรม ฯลฯ ปฏิปทาที่ให้ถึงความดับแห่งกรรมนั้น เราอาศัยข้อนี้จึงกล่าว

[กรรม ๔ ประการ]

พระพุทธเจ้าได้ตรัสพระพุทธพจน์นี้ว่า ดูกรปุณณะ กรรม ๔ ประการนี้ เราทำให้แจ้งชัดด้วยปัญญาอันยิ่งเองแล้ว สอนผู้อื่นให้รู้ตาม กรรม ๔ ประการนั้นเป็นไฉน ดูกรปุณณะ กรรมดำมีวิบากดำมีอยู่ ๑ กรรมขาวมีวิบากขาวมีอยู่ ๑ กรรมทั้งดำทั้งขาว มีวิบากทั้งดำทั้งขาวมีอยู่ ๑ กรรมไม่ดำไม่ขาว มีวิบากไม่ดำไม่ขาว เป็นไปเพื่อความสิ้นกรรมมีอยู่ ๑

[กรรมดำ มีวิบากดำ]

ดูกรปุณณะ กรรมดำมีวิบากดำ เป็นไฉน ดูกรปุณณะ บุคคลบางคนในโลกนี้ ประมวลกายสังขารอันมีความทุกข์ ประมวลวจีสังขาร อันมีความทุกข์ ประมวลมโนสังขาร อันมีความทุกข์ ครั้นแล้ว เขาย่อมเข้าถึง โลกอันมีความทุกข์ ผัสสะอันประกอบด้วยทุกข์ ย่อมถูกต้อง เขาผู้เข้าถึงโลกอันมีความทุกข์ เขาถูกผัสสะอันประกอบด้วยทุกข์กระทบเข้าแล้ว ย่อมเสวยเวทนาอันประกอบด้วยทุกข์ อันเป็นทุกข์โดยส่วนเดียวดุจสัตว์นรก ฉันนั้น ดูกรปุณณะ เพราะกรรมมีประการดังนี้แล ความอุบัติของสัตว์จึงมี สัตว์ทำกรรมใดไว้ ย่อมเข้าถึงคติเพราะกรรมนั้น ผัสสะย่อมถูกต้องเขาผู้เข้าถึงคตินั้นแล้ว ดูกรปุณณะ แม้เพราะอย่างนี้เราจึงกล่าวว่า สัตว์มีกรรมเป็นทายาท ข้อนี้ เรากล่าวว่า กรรมดำมีวิบากดำ

[กรรมขาว มีวิบากขาว]

ดูกรปุณณะ กรรมขาวมีวิบากขาว เป็นไฉน ดูกรปุณณะ บุคคลบางคนในโลกนี้ ประมวลกายสังขาร อันไม่มีความทุกข์ ประมวลวจีสังขาร อันไม่มีความทุกข์ ประมวลมโนสังขาร อันไม่มีความทุกข์ ครั้นแล้ว เขาย่อมเข้าถึงโลกอันไม่มีความทุกข์ ผัสสะอันไม่มีความทุกข์ย่อมถูกต้อง เขาผู้เข้าถึงโลกอันไม่มีความทุกข์ เขาถูกผัสสะไม่มีความทุกข์กระทบเข้าแล้ว ย่อมเสวยเวทนาอันไม่มีความทุกข์ เป็นสุขโดยส่วนเดียว ดุจเทพชั้นสุภกิณหะ ฉันนั้น ดูกรปุณณะ เพราะกรรมมีประการดังนี้แล ความอุบัติของสัตว์จึงมี สัตว์ทำกรรมใดไว้ ย่อมเข้าถึงคติเพราะกรรมนั้น ผัสสะย่อมถูกต้องเขาผู้เข้าถึงคตินั้นแล้ว ดูกรปุณณะ แม้เพราะอย่างนี้ เราจึงกล่าว สัตว์มีกรรมเป็นทายาท ข้อนี้ เรากล่าวว่า กรรมขาว มีวิบากขาว

[กรรมทั้งดำทั้งขาว มีวิบากทั้งดำทั้งขาว]

ดูกรปุณณะ กรรมทั้งดำทั้งขาวมีวิบากทั้งดำทั้งขาว เป็นไฉน ดูกรปุณณะ บุคคลบางคนในโลกนี้ ประมวลกายสังขาร อันมีความทุกข์บ้าง ไม่มีความทุกข์บ้าง ประมวลวจีสังขารอันมีความทุกข์บ้าง ไม่มีความทุกข์บ้าง ประมวลมโนสังขาร อันมีความทุกข์บ้าง ไม่มีความทุกข์บ้าง ครั้นแล้ว เขาย่อมเข้าถึงโลกอันมีความทุกข์บ้าง ไม่มีความทุกข์บ้าง ผัสสะอันมีความทุกข์บ้าง ไม่มีความทุกข์บ้าง ย่อมถูกต้องเขาผู้เข้าถึงโลก อันมีความทุกข์บ้าง ไม่มีความทุกข์บ้าง เขาถูกผัสสะที่มีความทุกข์บ้าง ไม่มีความทุกข์บ้าง กระทบเข้าแล้ว ย่อมเสวยเวทนาอันมีความทุกข์บ้าง ไม่มีความทุกข์บ้าง มีทั้งสุขและทุกข์ระคนกัน ดุจพวกมนุษย์ เทพบางเหล่า และสัตว์วินิบาตบางจำพวก ฉันนั้น ดูกรปุณณะ เพราะกรรมมีประการดังนี้แล ความอุบัติของสัตว์จึงมี สัตว์ทำกรรมใดไว้ ย่อมเข้าถึงคติเพราะกรรมนั้น ผัสสะย่อมถูกต้องเขาผู้เข้าถึงคตินั้นแล้ว ดูกรปุณณะ แม้เพราะอย่างนี้ เราจึงกล่าว สัตว์มีกรรมเป็นทายาท ข้อนี้เรากล่าวว่า กรรมทั้งดำทั้งขาว มีวิบากทั้งดำทั้งขาว

[กรรมไม่ดำไม่ขาว มีวิบากไม่ดำไม่ขาว ย่อมเป็นไปเพื่อความสิ้นกรรม]

ดูกรปุณณะ กรรมไม่ดำไม่ขาว มีวิบากไม่ดำไม่ขาว ย่อมเป็นไปเพื่อความสิ้นกรรมนั้น เป็นไฉน ดูกรปุณณะ บรรดากรรม ๓ ประการนั้น เจตนาเพื่อละกรรมดำ มีวิบากดำ เจตนาเพื่อละกรรมขาว มีวิบากขาว เจตนาเพื่อละกรรมทั้งดำทั้งขาว มีวิบากทั้งดำทั้งขาวนั้นเสีย ข้อนี้เรากล่าวว่า กรรมไม่ดำไม่ขาว มีวิบากไม่ดำไม่ขาว ย่อมเป็นไปเพื่อความสิ้นกรรม ดูกรปุณณะ กรรม ๔ ประการนี้แล เราทำให้แจ้งชัดด้วยปัญญาอันยิ่งเองแล้ว จึงสอนผู้อื่นให้รู้ตาม

[อกุศลกรรมบถ ๑๐]

๑. ปาณาติบาต การทำสัตว์มีชีวิตให้ตกล่วงไป

๒. อทินนาทาน การถือเอาสิ่งของที่เจ้าของมิได้ให้

๓. กาเมสุมิจฉาจาร การประพฤติผิดในกาม

๔. มุสาวาท การพูดเท็จ

๕. ปิสุณาวาจา การพูดส่อเสียด

๖. ผรุสวาจา การพูดคำหยาบ

๗. สัมผัปปลาป การพูดเพ้อเจ้อ

๘. อภิชฌา ความโลภอยากได้ของเขา

๙. พยาบาท ความปองร้ายเขา

๑๐. มิจฉาทิฏฐิ ความเห็นผิด

[กุศลกรรมบถ ๑๐]

๑. ปาณาติปาตา เวรมณี เจตนาเครื่องเว้นจากการทำสัตว์มีชีวิตให้ตกล่วงไป

๒. อทินนาทานา เวรมณี เจตนาเครื่องเว้นจากการถือเอาสิ่งของที่เจ้าของมิได้ให้

๓. กาเมสุมิจฉาจารา เวรมณี เจตนาเครื่องเว้นจากการประพฤติผิดในกาม

๔. มุสาวาทา เวรมณี เจตนาเครื่องเว้นจากการพูดเท็จ

๕. ปิสุณายะ วาจายะ เวรมณี เจตนาเครื่องเว้นจากการพูดส่อเสียด

๖. ผรุสายะ วาจายะ เวรมณี เจตนาเครื่องเว้นจากการพูดคำหยาบ

๗. สัมผัปปลาปา เวรมณี เจตนาเครื่องเว้นจากการพูดเพ้อเจ้อ

๘. อนภิชฌา ความไม่โลภอยากได้ของเขา

๙. อัพยาบาท ความไม่ปองร้ายเขา

๑๐. สัมมาทิฏฐิ ความเห็นชอบ

ธรรม ๑๐ ประการ ที่เป็นไปในฝ่ายเสื่อม เป็นไฉน คือ อกุศลกรรมบถ ๑๐ ได้แก่ ฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ ประพฤติผิดในกาม พูดเท็จ พูดส่อเสียด พูดคำหยาบ พูดเพ้อเจ้อ อยากได้ของเขา ปองร้ายเขา เห็นผิดจากทำนองคลองธรรม ธรรม ๑๐ อย่างเหล่านี้แล เป็นไปในส่วนข้างเสื่อม

ธรรม ๑๐ ประการ ที่เป็นไปในฝ่ายเจริญเป็นไฉน คือ กุศลกรรมบถ ๑๐ ได้แก่ เว้นจากการฆ่าสัตว์ เว้นจากการลักทรัพย์ เว้นจากการประพฤติผิดในกาม เว้นจากการพูดเท็จ เว้นจากการพูดส่อเสียด เว้นจากการพูดคำหยาบ เว้นจากการพูดเพ้อเจ้อ ไม่อยากได้ของเขา ไม่ปองร้ายเขา มีความเห็นชอบ ธรรม ๑๐ อย่างเหล่านี้แล เป็นไปในฝ่ายเจริญ

ครั้งหนึ่ง อนาถปิณฑิกคฤหบดีได้เข้าไปเฝ้าพระพุทธเจ้าถึงที่ประทับ ถวายบังคมพระพุทธเจ้าแล้ว นั่ง ณ ที่สมควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้ว พระพุทธเจ้าได้ตรัสกะเขาว่า ดูกรคฤหบดี เมื่อบุคคลไม่รักษาจิต แม้กายกรรมก็เป็นอันไม่รักษา วจีกรรมก็เป็นอันไม่รักษา มโนกรรมก็เป็นอันไม่รักษา เมื่อเขาไม่รักษากายกรรม ไม่รักษาวจีกรรม ไม่รักษามโนกรรม แม้กายกรรมก็เป็นอันชุ่มแล้ว [ด้วยบาป] วจีกรรมก็เป็นอันชุ่มแล้ว [ด้วยบาป] มโนกรรมก็เป็นอันชุ่มแล้ว [ด้วยบาป] เมื่อเขามีกายกรรมชุ่มแล้ว มีวจีกรรมชุ่มแล้ว มีมโนกรรมชุ่มแล้ว แม้กายกรรมก็เป็นของเสีย วจีกรรมก็เป็นของเสีย มโนกรรมก็เป็นของเสีย เมื่อเขามีกายกรรมเสีย มีวจีกรรมเสีย มีมโนกรรมเสีย การตายก็ไม่ดี การทำกาละก็ไม่งดงาม ดูกรคฤหบดี เปรียบเหมือนเมื่อเรือนซึ่งมุงไว้ไม่ดี แม้ยอดเรือนก็เป็นอันไม่ได้รักษา ไม้กลอนก็เป็นอันไม่ได้รักษา ฝาเรือนก็เป็นอันไม่ได้รักษา ยอดเรือนก็เป็นอันถูกฝนรั่วรด ไม้กลอนก็เป็นอันถูกฝนรั่วรด ฝาเรือนก็เป็นอันถูกฝนรั่วรด ยอดเรือนก็เป็นของผุ ไม้กลอนก็เป็นของผุ ฝาเรือนก็เป็นของผุ ฉันใด ดูกรคฤหบดี เมื่อบุคคลไม่รักษาจิตไว้ ก็ฉันนั้นเหมือนกัน ฯลฯ ความตายก็ไม่ดี การทำกาละก็ไม่งาม ดูกรคฤหบดี เมื่อบุคคลรักษาจิตไว้ดีแล้ว แม้กายกรรมก็เป็นอันรักษา วจีกรรมก็เป็นอันรักษา มโนกรรมก็เป็นอันรักษา เมื่อเขารักษากายกรรม รักษาวจีกรรม รักษามโนกรรมแล้ว แม้กายกรรมก็เป็นอันไม่ชุ่ม [ด้วยบาป] วจีกรรมก็เป็นอันไม่ชุ่ม มโนกรรมก็เป็นอันไม่ชุ่ม เมื่อเขามีกายกรรมไม่ชุ่ม มีวจีกรรมไม่ชุ่ม มีมโนกรรมไม่ชุ่มแล้ว กายกรรมก็เป็นอันไม่เสีย วจีกรรมก็เป็นอันไม่เสีย มโนกรรมก็เป็นอันไม่เสีย เมื่อเขามีกายกรรมไม่เสีย มีวจีกรรมไม่เสีย มีมโนกรรมไม่เสียแล้ว ความตายก็ดี การทำกาละก็งดงาม ดูกรคฤหบดี เปรียบเหมือนเมื่อเรือนซึ่งมุงไว้เรียบร้อย ยอดเรือนก็เป็นอันรักษา ไม้กลอนก็เป็นอันรักษา ฝาเรือนก็เป็นอันรักษา ยอดเรือนก็ไม่ถูกฝนรั่วรด ไม้กลอนก็ไม่ถูกฝนรั่วรด ฝาเรือนก็ไม่ถูกฝนรั่วรด ยอดเรือนก็เป็นของไม่ผุ ไม้กลอนก็เป็นของไม่ผุ ฝาเรือนก็เป็นของไม่ผุ ฉันใด ดูกรคฤหบดี เมื่อบุคคลรักษาจิตไว้ดีแล้ว ก็ฉันนั้นเหมือนกัน ฯลฯ ความตายก็ดี การทำกาละก็งดงาม

[ลักษณะของกรรม ๖ ประการ]

๑. กัมมัสสกตา กรรมเป็นสมบัติประจำตัวของสัตว์ทั้งหลาย

๒. กัมมทายาทตา กรรมเป็นมรดกของหมู่สัตว์

๓. กัมมโยนิตา กรรมเป็นที่เกิดของหมู่สัตว์

๔. กัมมพันธุตา กรรมเป็นเผ่าพันธุ์ของหมู่สัตว์

๕. กัมมปฏิสรณตา กรรมเป็นที่พึ่งอาศัยของหมู่สัตว์

๖. สัตตวิภชิตตา กรรมเป็นเครื่องจำแนกสัตว์ให้เลวหรือประณีต

[ประโยชน์จากการพิจารณาเรื่องของกรรม]

ดูกรภิกษุทั้งหลาย เพราะอาศัยอำนาจประโยชน์อะไร สตรี บุรุษ คฤหัสถ์ หรือบรรพชิต จึงควรพิจารณาเนือง ๆ ว่า เรามีกรรมเป็นของตน เป็นทายาทแห่งกรรม มีกรรมเป็นกำเนิด มีกรรมเป็นเผ่าพันธุ์ มีกรรมเป็นที่พึ่งอาศัย เราทำกรรมใดไว้ ดีก็ตาม ชั่วก็ตาม เราจักเป็นผู้รับผลของกรรมนั้น ดูกรภิกษุทั้งหลาย กายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต มีอยู่แก่สัตว์ทั้งหลาย เมื่อเขาพิจารณาฐานะนั้นอยู่เนือง ๆ ย่อมละทุจริตได้โดยสิ้นเชิง หรือทำให้เบาบางลงได้ ดูกรภิกษุทั้งหลาย เพราะอาศัยอำนาจประโยชน์นี้แล สตรี บุรุษ คฤหัสถ์ หรือบรรพชิต จึงควรพิจารณาเนือง ๆ ว่า เรามีกรรมเป็นของตน เป็นทายาทแห่งกรรม มีกรรมเป็นกำเนิด มีกรรมเป็นเผ่าพันธุ์ มีกรรมเป็นที่พึ่งอาศัย เราทำกรรมใดไว้ ดีก็ตาม ชั่วก็ตาม เราจักเป็นผู้รับผลของกรรมนั้น

[กรรมใหม่ กรรมเก่า ความเกิดแห่งกรรม ความดับแห่งกรรม]

พระพุทธเจ้าตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราจักแสดงกรรมใหม่และกรรมเก่า ความดับกรรม และปฏิปทาที่ทำให้ถึงความดับกรรม เธอทั้งหลายจงฟังจงใส่ใจให้ดี เราจักกล่าว

กรรมเก่า เป็นอย่างไร คือ

จักขุ [ตา] อันบัณฑิตพึงเห็นว่า เป็นกรรมเก่า ถูกปัจจัยปรุงแต่ง สำเร็จด้วยเจตนา เป็นที่ตั้งแห่งเวทนา

โสตะ [หู] อันบัณฑิตพึงเห็นว่า เป็นกรรมเก่า ถูกปัจจัยปรุงแต่ง สำเร็จด้วยเจตนา เป็นที่ตั้งแห่งเวทนา

ฆานะ [จมูก] อันบัณฑิตพึงเห็นว่า เป็นกรรมเก่า ถูกปัจจัยปรุงแต่ง สำเร็จด้วยเจตนา เป็นที่ตั้งแห่งเวทนา

ชิวหา [ลิ้น] อันบัณฑิตพึงเห็นว่า เป็นกรรมเก่า ถูกปัจจัยปรุงแต่ง สำเร็จด้วยเจตนา เป็นที่ตั้งแห่งเวทนา

กายะ [กาย] อันบัณฑิตพึงเห็นว่า เป็นกรรมเก่า ถูกปัจจัยปรุงแต่ง สำเร็จด้วยเจตนา เป็นที่ตั้งแห่งเวทนา

มโน [ใจ] อันบัณฑิตพึงเห็นว่า เป็นกรรมเก่า ถูกปัจจัยปรุงแต่ง สำเร็จด้วยเจตนา เป็นที่ตั้งแห่งเวทนา นี้เราเรียกว่า กรรมเก่า

กรรมใหม่ เป็นอย่างไร คือ กรรมที่บุคคลกระทำด้วย กาย วาจา ใจ ในบัดนี้ นี้เราเรียกว่า กรรมใหม่ ความดับกรรม เป็นอย่างไร คือ นิโรธที่ถูกต้องวิมุตติ เพราะดับกายกรรม วจีกรรม และมโนกรรมได้ นี้เราเรียกว่า ความดับกรรม

ปฏิปทาที่ให้ถึงความดับแห่งกรรม ๘ ประการ คือ

๑. สัมมาทิฏฐิ ความเห็นชอบ

๒. สัมมาสังกัปปะ ความดำริชอบ

๓. สัมมาวาจา การเจรจาชอบ

๔. สัมมากัมมันตะ การกระทำชอบ

๕. สัมมาอาชีวะ การเลี้ยงชีพชอบ

๖. สัมมาวายามะ การพยายามชอบ

๗. สัมมาสติ การระลึกชอบ

๘. สัมมาสมาธิ ตั้งจิตมั่นชอบ

นี้เราเรียกว่า ปฏิปทาที่เป็นเหตุให้ถึงความดับกรรม กรรมเก่าเราได้แสดงแล้ว กรรมใหม่เราได้แสดงแล้ว ความดับกรรมเราได้แสดงแล้ว และปฏิปทาที่เป็นเหตุให้ถึงความดับกรรมเราได้แสดงแล้ว ด้วยประการฉะนี้ ภิกษุทั้งหลาย กิจใดที่ศาสดาผู้แสวงหาประโยชน์เกื้อกูล ผู้อนุเคราะห์พึงอาศัยความอนุเคราะห์ กระทำแก่สาวกทั้งหลาย กิจนั้นเราก็ได้กระทำแล้วแก่เธอทั้งหลาย ภิกษุทั้งหลาย นั่นโคนไม้ นั่นเรือนว่าง เธอทั้งหลายจงเพ่งพินิจ อย่าประมาท อย่าได้มีความร้อนใจในภายหลัง นี้คือคำพร่ำสอนของเราสำหรับเธอทั้งหลาย

[อวิชชาเป็นประธานแห่งอกุศลธรรมทั้งหลาย]

ดูกรภิกษุทั้งหลาย อวิชชาเป็นประธานแห่งการเข้าถึงอกุศลธรรมทั้งหลาย ความไม่ละอายบาป ความไม่กลัวบาป เป็นของมีมาตามอวิชชา ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้มีอวิชชาไม่เห็นแจ้ง ย่อมมีความเห็นผิด ผู้มีความเห็นผิด ย่อมมีความดำริผิด ผู้มีความดำริผิดย่อมมีวาจาผิด ผู้มีวาจาผิด ย่อมมีการงานผิด ผู้มีการงานผิด ย่อมมีการเลี้ยงชีพผิด ผู้มีการเลี้ยงชีพผิด ย่อมมีความพยายามผิด ผู้มีความพยายามผิด ย่อมมีความระลึกผิด ผู้มีความระลึกผิดย่อมมีความตั้งใจผิด ผู้มีความตั้งใจผิด ย่อมมีความรู้ผิด ผู้มีความรู้ผิด ย่อมมีความหลุดพ้นผิด ฯ

[วิชชาเป็นประธานแห่งกุศลธรรมทั้งหลาย]

ดูกรภิกษุทั้งหลาย วิชชาเป็นประธานแห่งการเข้าถึงกุศลธรรมทั้งหลาย หิริและโอตตัปปะเป็นของมีมาตามวิชชานั้น ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้มีวิชชาเห็นแจ้ง ย่อมมีความเห็นชอบ ผู้มีความเห็นชอบ ย่อมมีความดำริชอบ ผู้มีความดำริชอบ ย่อมมีวาจาชอบ ผู้มีวาจาชอบย่อมมีการงานชอบ ผู้มีการงานชอบ ย่อมมีการเลี้ยงชีพชอบ ผู้มีการเลี้ยงชีพชอบย่อมมีความพยายามชอบ ผู้มีความพยายามชอบ ย่อมมีความระลึกชอบ ผู้มีความระลึกชอบ ย่อมมีความตั้งใจชอบ ผู้มีความตั้งใจชอบ ย่อมมีความรู้ชอบ ผู้มีความรู้ชอบ ย่อมมีความหลุดพ้นชอบ

บัณฑิตทั้งหลายย่อมไม่ให้ทาน เพราะเหตุแห่งสุขอันก่ออุปธิ [กิเลสเครื่องก่อภพชาติ] เพื่อภพใหม่ แต่บัณฑิตเหล่านั้นย่อมให้ทานเพื่อความหมดสิ้นอุปธิ เพื่อนิพพานอันไม่มีภพใหม่บัณฑิตทั้งหลายย่อมไม่เจริญฌาน เพราะเหตุแห่งสุขอันก่ออุปธิเพื่อภพใหม่ แต่บัณฑิตเหล่านั้นย่อมเจริญฌานเพื่อความหมดสิ้นอุปธิ เพื่อนิพพานอันไม่มีภพใหม่ บัณฑิตเหล่านั้น มีใจมุ่งตรงต่อนิพพาน มีจิตโน้มไปในนิพพาน มีจิตน้อมไปในนิพพานแล้วให้ทาน บัณฑิตเหล่านั้นย่อมเป็นผู้มีนิพพานเป็นเบื้องหน้า เหมือนแม่น้ำไหลลงสู่ทะเล ฉันนั้น นรชนพึงน้อมใจไปในนิพพาน ด้วยเหตุนี้ พระพุทธเจ้าจึงตรัสว่า นรชนพึงควบคุมความหลับ ความเกียจคร้าน ความย่อท้อ ไม่พึงอยู่ด้วยความประมาท ไม่พึงตั้งอยู่ในความดูหมิ่น พึงน้อมใจไปในนิพพาน ฯ


เกี่ยวกับตำราอภิธรรม ออนไลน์ (Disclaimer)
ตำราอภิธรรมออนไลน์ พัฒนาขึ้นโดยความร่วมมือของอภิธรรมมหาวิทยาลัย วัดระฆังฯ วัดญาณเวศกวัน และ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ เพื่อนำเสนอสื่อธรรมสำหรับการศึกษาค้นคว้า โดยได้รับอนุญาต และเอกสารต้นฉบับจากผู้เขียน ดังนี้
(๑) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๒), จิตปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๑, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๒) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๖), เจตสิกปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๒, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๓) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๖๓), รูปปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๖, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
ผู้สนใจศึกษาสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับหนังสือ และหลักสูตรการศึกษาได้ที่ สำนักงานอภิธรรมมหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย วัดระฆังโฆษิตารามวรมหาวิหาร (คณะ ๗) แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ ๑๐๗๐๐ โทร ๐๒ ๔๑๑ ๔๕๔๖, ๑๒ ๔๑๒ ๑๐๘๔, ๐๘๖ ๐๓๘ ๒๙๓๓


  |