ไปยังหน้า : |
ถีนมิทธเจตสิกทั้ง ๒ ดวงนี้ อยู่ในกลุ่ม อกุศลเจตสิก จำพวก ถีทุกเจตสิก ซึ่งประกอบกับอกุศลจิตที่เป็นสสังขาริกจิต คือ จิตที่เกิดขึ้นโดยต้องอาศัยการกระตุ้นเตือนชักชวน ๕ ดวง
ถีนมิทธเจตสิก เป็น อนิยตโยคีเจตสิก คือ เจตสิกที่ประกอบกับจิตไม่แน่นอน คือ แม้จะระบุว่า ประกอบกับอกุศลสสังขาริกจิต ๕ ดวง แต่เมื่ออกุศลสสังขาริกจิตดวงใดดวงหนึ่งเกิดขึ้นแล้ว อาจจะมีถีนมิทธเจตสิกประกอบร่วมด้วยก็มี ไม่ประกอบร่วมด้วยก็มี ขึ้นอยู่กับสภาพของจิตในขณะนั้น ถ้าสภาพจิตของบุคคลนั้นท้อถอยจากคุณงามความดีแล้วหันเหไปหาสิ่งที่เป็นอกุศลโดยอาศัยเหตุปัจจัยภายนอก เช่น อาหาร อากาศ ฤทธิ์ยา ฤทธิ์เหล้า เป็นต้น ในขณะนั้น ถีนมิทธเจตสิกย่อมไม่เข้าประกอบ แต่ถ้าจิตยังเข้มแข็งในคุณงามความดีอยู่ เมื่อถูกยั่วยุจากบุคคลหรืออารมณ์ต่าง ๆ แล้วเกิดอาการคล้อยตามด้วยการกระตุ้นเตือนตนเองหรือถูกบุคคลอื่นกระตุ้นในขณะนั้นถีนมิทธเจตสิกย่อมเข้าประกอบพร้อมกันทั้ง ๒ ดวง เพราะฉะนั้น เจตสิกทั้ง ๒ ดวง จึงมีชื่อว่า สหกทาจิ แปลว่า เจตสิกที่ประกอบกับจิตเป็นบางครั้งบางคราว แต่เวลาประกอบ ย่อมประกอบพร้อมกันเสมอ
ถีนเจตสิกและมิทธเจตสิกย่อมประกอบกับอกุศลจิตที่เป็นสสังขาริก ๕ ดวงเท่านั้น ได้แก่ โลภมูลจิตดวงที่ ๒ โลภมูลจิตดวงที่ ๔ โลภมูลจิตดวงที่ ๖ โลภมูลจิตดวงที่ ๘ และโทสมูลจิตดวงที่ ๒ ซึ่งเป็นการประกอบร่วมกับจิตเป็นบางครั้งบางคราว แต่เวลาประกอบต้องประกอบพร้อมกันทั้ง ๒ ดวงเสมอ
ถีนมิทธเจตสิก ๒ ดวงนี้ บุคคลย่อมละได้ด้วยปัญญาในอรหัตตมรรค จึงแสดงว่า พระอรหันต์ทั้งหลาย ไม่ได้หลับนอนด้วยกิเลส แต่หลับนอนด้วยความอ่อนเพลียแห่งกรัชกาย [คือสรีระร่างกาย] เท่านั้น