| |
ลักขณาทิจตุกะของวิรตีเจตสิก   |  

บัณฑิตผู้มีปัญญาเป็นเครื่องพิจารณาโดยอุบายอันแยบคายแล้ว ย่อมสามารถกำหนดพิจารณาเรียนรู้สภาวะของวิรตีเจตสิก อันเป็นปรมัตถธรรมอย่างหนึ่ง ซึ่งนับเนื่องในสังขารขันธ์ เพราะเป็นสภาวธรรมที่ปรุงแต่งจิตให้เกิดการรับรู้อารมณ์เป็นพิเศษออกไปจากเวทนาขันธ์และสัญญาขันธ์ โดยอาศัยคุณสมบัติพิเศษเฉพาะตน ที่ไม่เหมือนกับสภาวธรรมเหล่าอื่น ๔ ประการ ที่เรียว่า วิเสสลักขณะ หรือ ลักขณาทิจตุกะ ดังต่อไปนี้

๑. กายะทุจจะริตาทิวัตถูนัง อะวีติกกะมะลักขะณา มีการไม่ก้าวล่วงกายทุจริต เป็นต้น เป็นลักษณะ หมายความว่า วิรตีเจตสิก ๓ ดวงนี้ เป็นสภาวธรรมที่มีสภาพตรงกันข้ามหรือเป็นปฏิปักษ์กับทุจริตกรรมทั้งหลาย เพราะฉะนั้น เมื่อวิรตีเจตสิกเกิดขึ้นแล้ว ย่อมทำหน้าที่ก้าวล่วงจากทุจริตต่าง ๆ คือ ไม่กระทำทุจริตต่าง ๆ ที่เป็นไปทางกาย ทางวาจา และทางใจ

๒. ตะโต สังโกจะนะระสา มีการถดถอยจากกายทุจริต เป็นต้น เป็นกิจ หมายความว่า วีรติเจตสิกเป็นสภาวธรรมที่เป็นปฏิปักษ์ต่อทุจริตและทุราชีพต่าง ๆ เพราะฉะนั้น เมื่อวิรตีเจตสิกเกิดขึ้นแล้ว ย่อมทำหน้าที่งดเว้นจากทุจริตทุราชีพซึ่งกำลังกระทำอยู่ และค่อย ๆ เปลี่ยนความคิดที่จะกระทำทุจริตหรือทุราชีพที่เคยประพฤติมานั้นจนสามารถเลิกล้มความคิดที่จะทำทุจริตได้ตลอดไป ในขณะที่ยังมีความรู้สึกนึกคิดที่เป็นไปด้วยอำนาจกัมมัสสกตาปัญญา คือ การสำนึกในเรื่องกฎแห่งกรรม ทำให้ไม่กล้ากระทำบาป หรือเมื่อวีรตีเจตสิกทั้ง ๓ ดวงมีกำลังแก่กล้าเข้าถึงความเป็นองค์มรรค ย่อมสามารถละกิเลสที่เป็นเหตุให้กระทำทุจริตทุราชีพทั้งหลายได้โดยเด็ดขาด ด้วยอำนาจแห่งมัคคญาณ

๓. อะก๎ริยะปัจจุปปัฏฐานา มีการไม่กระทำทุจริตเป็นอาการปรากฏ หมาย ความว่า สภาวะของวิรตีเจตสิกทั้ง ๓ ดวงนี้ ย่อมมีการงดเว้นจากทุจริตกรรมทั้งปวง เพราะฉะนั้น เมื่อวิรตีเจตสิกอย่างใดอย่างหนึ่งเกิดขึ้นแล้ว [ในขณะที่ประกอบกับมหากุศลจิต] ย่อมเป็นเหตุให้บุคคลงดเว้นจากทุจริตทุราชีพได้ หรือทำให้บุคคลหยุดยั้งการกระทำทุจริตที่กำลังกระทำอยู่ หรือล้มเลิกความคิดที่จะกระทำทุจริตที่เคยทำมาแล้ว นี้เป็นสภาพปรากฏของวิรตีเจตสิก คือ เป็นสภาวธรรมที่ควบคุมกาย วาจา ไม่ให้กระทำทุจริตนั่นเอง

๔. สัทธาสะติหิริโอตตัปปะพาหุสัจจะวิริยะปัญญาปะทัฏฐานา วา อัปปิจฉะตาทิคุณะปะทัฏฐานา มีคุณสมบัติของสัปปุรุษ คือ ศรัทธา สติ หิริ โอตตัปปะ พาหุสัจจะ วิริยะ ปัญญา เป็นเหตุใกล้ให้เกิด หรือ มีคุณธรรมมีความมักน้อย เป็นต้น เป็นเหตุใกล้ให้เกิด หมายความว่า วีรติเจตสิกจะเกิดขึ้นกับบุคคลใดได้ บุคคลนั้นต้องเป็นผู้ที่มีคุณธรรมเป็นเครื่องรองรับ คือ การเป็นผู้มีจิตสำนึกรู้สึกผิดชอบชั่วดี จึงจะสามารถเกิดความคิดงดเว้นจากสิ่งที่ไม่ดีได้ ถ้าหากว่า เป็นบุคคลผู้มืดบอดด้วยอำนาจกิเลส ถูกอำนาจตัณหาปกคลุมไว้จนมืดมิด จนไม่รู้จักผิดชอบชั่วดีแล้ว ย่อมไม่รู้สำนึกว่า อะไรเป็นบุญ อะไรเป็นบาป เมื่อเป็นเช่นนี้ การที่จะคิดงดเว้นจากทุจริตย่อมเกิดขึ้นไม่ได้ เพราะฉะนั้น วิรตีเจตสิกจึงต้องมีคุณธรรมเป็นพื้นฐานให้เกิดขึ้น ได้แก่ สัปปุริสธรรม คือ ธรรมของสัตบุรุษหรือธรรมของกัลยาณชนคนดี มี ๗ ประการ คือ

๑] ศรัทธา ความเชื่อในสิ่งที่ควรเชื่อควรเลื่อมใส

๒] ศีล การรักษากายวาจาให้เรียบร้อย

๓] หิริ ความละอายต่อบาป

๔] โอตตัปปะ ความเกรงกลัวต่อบาป

๕] พาหุสัจจะ การได้ยินได้ฟังมาก หรือความเป็นพหูสูต

๖] จาคะ ความเสียสละ

๗] ปัญญา ความรอบรู้

หรือด้วยคุณธรรมอื่น ๆ มี อัปปิจฉตา คือ ความมักน้อยยินดีในของที่ตนได้มาโดยชอบธรรม เป็นต้น


เกี่ยวกับตำราอภิธรรม ออนไลน์ (Disclaimer)
ตำราอภิธรรมออนไลน์ พัฒนาขึ้นโดยความร่วมมือของอภิธรรมมหาวิทยาลัย วัดระฆังฯ วัดญาณเวศกวัน และ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ เพื่อนำเสนอสื่อธรรมสำหรับการศึกษาค้นคว้า โดยได้รับอนุญาต และเอกสารต้นฉบับจากผู้เขียน ดังนี้
(๑) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๒), จิตปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๑, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๒) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๖), เจตสิกปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๒, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๓) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๖๓), รูปปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๖, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
ผู้สนใจศึกษาสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับหนังสือ และหลักสูตรการศึกษาได้ที่ สำนักงานอภิธรรมมหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย วัดระฆังโฆษิตารามวรมหาวิหาร (คณะ ๗) แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ ๑๐๗๐๐ โทร ๐๒ ๔๑๑ ๔๕๔๖, ๑๒ ๔๑๒ ๑๐๘๔, ๐๘๖ ๐๓๘ ๒๙๓๓


  |