ไปยังหน้า : |
อวิชชา เป็นสภาพของโมหเจตสิกที่แสดงบทบาทในสภาวะต่าง ๆ มี ๘ ประการ ดังมีอธิบายรายละเอียดต่อไปนี้
๑. ทุกเข อะญาณัง ความไม่รู้ในทุกข์ หมายความว่า ความไม่รู้ไม่เข้าใจในอัตภาพร่างกาย ชีวิตความเป็นไป วิบากที่ประสบพบเห็นทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ในชีวิตประจำวัน ซึ่งสิ่งเหล่านี้สักแต่ว่า เป็นสภาวธรรมที่เกิดขึ้นเพราะมีเหตุปัจจัยทำให้เกิดขึ้นมา เป็นผลที่สำเร็จสุกงอมแล้ว ไม่สามารถแก้ไขได้ เป็นสิ่งที่ควรกำหนดรู้ตามความเป็นจริงว่า สิ่งนี้เกิดแล้ว เพราะมีเหตุปัจจัยให้เกิดขึ้น เปลี่ยนแปลงไปเพราะเหตุปัจจัยแปรเปลี่ยน และดับไปเพราะหมดเหตุปัจจัย ล้วนตกอยู่ใต้กฎเกณฑ์แห่งไตรลักษณ์ทั้งสิ้น ดังนี้เป็นต้น แต่เพราะอำนาจอวิชชาปกปิดไว้ จึงทำให้สัตว์ บุคคลทั้งหลายไม่รู้ตามความเป็นจริง จึงต่างก็ดิ้นรนขวนขวายแสวงหาสิ่งที่น่าปรารถนาน่าชอบใจ และสลัดสิ่งที่ไม่น่าปรารถนาไม่น่าชอบใจออกไปจากชีวิตและจิตใจ ต้องเศร้าโศกเสียใจ เมื่อพลัดพรากจากสิ่งที่รักที่ปรารถนา และชอกช้ำกล้ำกลืน เมื่อประสบกับสิ่งที่ไม่เป็นที่รัก ไม่เป็นที่ชอบใจ ต้องฝืนทนเก็บกด ทำให้เป็นทุกข์อยู่ร่ำไป
๒. ทุกขะสะมุทะเย อะญาณัง ความไม่รู้ในเหตุให้เกิดทุกข์ หมายความว่า อัตภาพร่างกาย และวิบากสมบัติ ที่สัตว์ทั้งหลายได้รับอยู่นั้น มีต้นเหตุมาจากสมุทัย คือ ตัวตัณหา ความทะยานอยาก ความกระหาย ความดิ้นรนทะเยอทะยานต่าง ๆ ได้แก่
๑] กามตัณหา ความยินดีติดใจหลงใหลในกามคุณอารมณ์ คือ รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส อันน่าใคร่น่าปรารถนา น่าชอบใจ
๒] ภวตัณหา ความยินดีติดใจในภพภูมิต่าง ๆ หรือภาวะความมีความเป็น ยศถาบรรดาศักดิ์ต่าง ๆ คิดว่า เป็นสาระแก่นสาร ด้วยอำนาจสัสสตทิฏฐิ ความเห็นว่าเที่ยง
๓] วิภวตัณหา ความทะยานอยากดิ้นรนให้พ้นจากสภาพที่ตนไม่ปรารถนาไม่ชอบใจ หรือเพราะประสบกับความผิดหวังในสิ่งที่เคยหวังไว้นั้น ไม่เป็นไปดังที่คาดคิดไว้ จึงอยากสลัดอยากหนีให้พ้นจากสภาพเช่นนั้น หรือเกิดความทะยานอยาก อยากเข้าถึงสภาพสูญเปล่า ไม่มีรูปนามขันธ์ ๕ อยู่เลย เพราะความยึดมั่นที่ผิด ๆ ด้วยอำนาจอุจเฉททิฏฐิ ความเห็นว่า โลกและสิ่งทั้งปวงขาดสูญ สัตว์ทั้งหลายตายแล้วก็สูญไม่มีเกิดอีกต่อไป
เมื่อมีความคิดความเห็นเช่นนี้แล้ว ย่อมทำให้ดิ้นรนขวนขวายในการสร้างกรรมต่าง ๆ ที่เป็นไปตามอำนาจของตัณหาแต่ละอย่าง ทั้งกรรมดีบ้าง กรรมชั่วบ้าง อันเป็นปัจจัยส่งผลเป็นวิบาก ให้เกิดเป็นตัวทุกข์ คือ อัตภาพร่างกาย และการรับรู้อารมณ์ทางทวาร ๖ อีกต่อไป ที่เป็นดังนี้เพราะอำนาจแห่งอวิชชาปกปิดความจริงไว้ จึงทำให้สัตว์ทั้งหลาย ไม่รู้เท่าทันความเป็นจริง ตกอยู่ใต้อำนาจแห่งตัณหาอยู่ร่ำไป
๓. ทุกขะนิโรเธ อะญาณัง ความไม่รู้ในความดับแห่งทุกข์ หมายความว่า ความทุกข์ความทรมานต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นนั้น มีการดับสนิทได้โดยไม่เหลือเชื้อไว้ ได้แก่ พระนิพพาน ซึ่งแปลว่า สภาพที่พ้นจากตัณหาเครื่องร้อยรัดทั้งปวง หรือสภาพที่ดับไม่เหลือเชื้อแห่งทุกข์ทั้งปวง เป็นสภาวธรรมที่สงบจากกิเลสและขันธ์ ๕ ไม่มีความทุกข์ ไม่มีความแปรปรวนเปลี่ยนแปลงแต่อย่างใด มีสภาพคงที่ สงบเยือกเย็น เป็นบรมสุข สูญสิ้นจากตัณหาและกองทุกข์ทั้งปวง เป็นสภาวธรรมที่ไม่มีรูปร่างสัณฐานสีสันวรรณะที่จะรับรู้ทางทวารตา หู จมูก ลิ้น กายได้ เป็นแต่เพียงสภาวะอารมณ์ที่สามารถรับรู้ได้ทางมโนวิญญาณที่พัฒนาศักยภาพทางด้านสติปัญญาจนเต็มที่แล้วเท่านั้น และเป็นสภาวะที่ไม่ใช่ภพภูมิใด ๆ ไม่ใช่สถานที่ไหน ๆ ไม่มีรูปร่างสัณฐาน ไม่มีสีสันวรรณะ ที่จะกระทบสัมผัสได้โดยตา หู จมูก ลิ้น กาย เพราะสิ่งเหล่านี้ล้วนตกอยู่ภายใต้กฎเกณฑ์แห่งอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ทั้งสิ้น ส่วนสภาพของพระนิพพานนั้น มีเพียงสภาพความเป็นอนัตตา คือ สภาวะที่ไม่มีรูปร่างสัณฐาน ไม่มีสีสันวรรณะ เท่านั้น แต่เป็นสภาวะที่เที่ยง มีความคงที่ เป็นบรมสุขอย่างแท้จริง แต่เพราะความไม่รู้ด้วยอำนาจอวิชชา จึงทำให้สัตว์ทั้งหลายไม่รู้ว่า มีสภาวธรรมนั้นอยู่ หรือเข้าใจสภาวะของพระนิพพานไปโดยประการอื่น คือเห็นว่า เป็นภพภูมิหรือดินแดนสุขาวดี มีชีวิตนิรันดร ไม่มีความแก่ ความเจ็บ ความตาย จึงปรารถนาไปเกิด ณ สถานที่นั้น ด้วยอำนาจภวตัณหา หรือมีความเห็นว่า ความว่างเปล่าไม่มีอะไรเลย เป็นสภาพของพระนิพพาน แล้วก็ปรารถนาให้ถึงสภาพเช่นนั้น เรียกว่า วิภวตัณหา
๔. ทุกขะนิโรธะคามินีปะฏิปะทายะ อะญาณัง ความไม่รู้ในข้อปฏิบัติให้ถึงความดับแห่งทุกข์ หมายความว่า พระนิพพานนั้นไม่สามารถไปถึงได้ด้วยยานพาหนะใด ๆ หรือไม่สามารถรับรู้ได้ด้วยการตรึกนึกคิด การคาดคะเนเอาแต่อย่างใด หนทางที่จะสามารถเข้าถึงหรือรับรู้สภาพของพระนิพพานอย่างแท้จริงได้นั้น ต้องประพฤติปฏิบัติในแนวทางที่จะนำให้ถึงพระนิพพาน ซึ่งประกอบด้วยองค์ ๘ ประการ คือ
๑] สัมมาทิฏฐิ ความเห็นชอบ ได้แก่ การมีความเห็นชอบตามทำนองคลองธรรม หรือ ตามหลักคำสอนของพระพุทธศาสนาที่ถูกต้อง เช่น เห็นว่าทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว บาป บุญ มีจริง โลกนี้ โลกหน้ามีจริง เป็นต้น
๒] สัมมาสังกัปปะ ความดำริชอบ ได้แก่ ดำริในการหลีกออกจากกาม แสวงหาความหลุดพ้น ดำริในความไม่พยาบาท ดำริในความไม่คิดเบียดเบียน ดำริในทางให้เกิดสันติภาพสันติสุข เป็นต้น
๓] สัมมาวาจา การพูดชอบ คือ การเว้นจากวจีทุจริต ๔ ได้แก่ การเว้นจากการพูดเท็จ พูดส่อเสียด พูดคำหยาบ พูดเพ้อเจ้อเหลวไหล และประพฤติอยู่ในวจีสุจริต ๔ อันตรงกันข้ามกับวจีทุจริตนั้น เช่น พูดแต่สิ่งที่เป็นความจริง พูดให้เกิดความรักความสามัคคีปรองดองกัน พูดแต่วาจาที่อ่อนหวานผูกไมตรีจิต พูดแต่สิ่งที่เป็นสาระแก่นสาร เป็นต้น เพื่อมิให้เกิดโทษทางวาจา อันจะก่อให้เกิดความวุ่นวายเดือดร้อนไม่มีที่สิ้นสุด เพราะวาจาเป็นเหตุ
๔] สัมมากัมมันตะ การทำการงานชอบ คือ การเว้นกายทุจริต ๓ ได้แก่ เว้นจากการฆ่าสัตว์เบียดเบียนสัตว์ [รวมทั้งมนุษย์ด้วย] เว้นจากการลักทรัพย์ที่เจ้าของหวงแหน เว้นจากการประพฤติผิดในกาม แล้วทำแต่กรรมที่ดี ไม่ทำกรรมชั่ว ทำแต่สิ่งที่ไม่เป็นโทษ หรือ สร้างแต่สิ่งที่เป็นประโยชน์แก่ตนเองและสังคมรอบข้าง
๕] สัมมาอาชีวะ การหาเลี้ยงชีพชอบ ได้แก่ การหาเลี้ยงชีพในทางที่ชอบ ด้วยการเว้นจากการหาเลี้ยงชีพด้วยกายทุจริต ๓ และวจีทุจริต ๔ ประกอบแต่สัมมาอาชีวะ ที่ไม่ทำตนและบุคคลอื่นให้เดือดร้อน ดำเนินชีวิตอยู่ภายใต้กรอบแห่งศีลธรรม และวัฒนธรรมประเพณีอันดีงามของศาสนาและของสังคมประเทศชาติ
๖] สัมมาวายามะ ความเพียรพยายามชอบ ได้แก่ ความเพียรในสถานทั้ง ๔ คือ เพียรละอกุศลที่เกิดขึ้นแล้วให้หมดไป เรียกว่า ปหานปธาน เพียรระวังอกุศลใหม่ไม่ให้เกิดขึ้น เรียกว่า สังวรปธาน เพียรทำกุศลความดีที่ยังไม่เกิดให้เกิดขึ้น เรียกว่า ภาวนาปธาน เพียรรักษากุศลความดีที่เคยเกิดขึ้นแล้วให้คงอยู่และเจริญงอกงามยิ่งขึ้นไป เรียกว่า อนุรักขนาปธาน
๗] สัมมาสติ ความระลึกชอบ ได้แก่ การระลึกรู้เท่าทันไม่ให้อกุศลธรรมที่ยังไม่เกิดหมดโอกาสเกิดขึ้น หรือทำอกุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้วให้หมดไป กุศลธรรมที่ยังไม่เกิด ย่อมมีโอกาสได้เกิดขึ้น ส่วนกุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้ว ย่อมเจริญงอกงามยิ่งขึ้นไป หรือระลึกไปในสติปัฏฐานทั้ง ๔ คือ กาย เวทนา จิต ธรรม ให้เห็นสักแต่ว่า รูปนามขันธ์ ๕ ไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัวตน เราเขา เพื่อทำลายอภิชฌา ความยินดี และโทมนัส ความยินร้าย แล้วปลูกสติปัญญาให้แก่กล้า เพื่อทำลายอนุสัยกิเลสให้หมดไปในที่สุด
๘] สัมมาสมาธิ ความตั้งใจมั่นชอบ ได้แก่ การฝึกฝนพัฒนาทางจิตให้มีกำลังเข้มแข็ง มีกำลังเด็ดเดี่ยว ไม่หวั่นไหวต่อกระแสกิเลสที่หลั่งไหลเข้ามา ทำให้มีภูมิต้านทานกระแสกิเลสได้เป็นอย่างดี และประคับประคองตนให้อยู่ในหนทางแห่งสัมมาทิฏฐิ ไม่ตกไปเป็นมิจฉาสมาธิ ย่อมเป็นกำลังในการต่อต้านและประหาณอนุสัยกิเลสได้
ข้อวัตรปฏิบัติเหล่านี้ เป็นหนทาง หรือเป็นเครื่องมือในการพัฒนาศักยภาพทางด้านสติปัญญาให้แก่กล้า เพื่อเข้าถึง หรือรับรู้สภาวะของพระนิพพานได้อย่างถูกต้อง แต่เพราะสัตว์ทั้งหลายไม่รู้ จึงหันเหชีวิต หรือดำเนินชีวิตไปในหนทางอื่น อันรกชัฏและมืดมิด ทำให้หลงติดอยู่ในทางกันดาร คือ สังสารวัฏ อันยาวไกลต่อไป
๕. ปุพพันเต อะญาณัง ความไม่รู้ในขันธ์ อายตนะ ธาตุที่เกิดแล้ว หมาย ความว่า เป็นผู้ที่ไม่มีความรู้ความเข้าใจว่า ในอดีตชาติ ตนเองและสัตว์ทั้งหลาย เคยเกิดมาแล้วนับภพนับชาติไม่ถ้วน มีอัตภาพที่แตกต่างออกไปมากมาย เป็นสัตว์นรก เปรต อสุรกาย เดรัจฉานบ้าง เพราะอำนาจแห่งอกุศลกรรม หรือมีอัตภาพเป็นมนุษย์ เทวดา หรือพรหมบ้าง เพราะอำนาจแห่งกุศลกรรมแต่ละอย่าง แต่เพราะมีความเห็นว่า มนุษย์และสัตว์ทั้งหลายเกิดมาจากพ่อแม่ มีแต่พ่อแม่เท่านั้นที่ทำให้เกิด ไม่มีใครรู้ว่าตนเองเกิดมาจากไหน จากภพภูมิใด จึงทำให้ไม่รู้ความเป็นไปของรูปนามขันธ์ ๕ ในอดีตที่ล่วงมาแล้ว เนื่องจากระลึกชาติไม่ได้ หรือขาดสติปัญญาในการพิจารณาเหตุผลความวนเวียนแห่งวัฏฏจักร เพราะถูกอวิชชาปิดบังไว้นั่นเอง
๖. อะปะรันเต อะญาณัง ความไม่รู้ในขันธ์ อายตนะ ธาตุ ที่จะเกิดข้างหน้า หมายความว่า เป็นผู้ที่ไม่รู้ว่า ในอนาคตชาติข้างหน้าตนเองและสัตว์ทั้งหลายจะต้องเกิดอีก เพราะยังมีกิเลสอยู่ ยังไม่สามารถหลุดพ้นจากการเวียนว่ายตายเกิดไปได้ อัตภาพที่จะปรากฏเกิดขึ้นในภพชาติหน้าเมื่อตายไปแล้วนั้น จะต้องมีอีกแน่นอน แต่เพราะมีความเห็นว่า อัตภาพร่างกายเกิดจากพ่อแม่ พ่อแม่เป็นผู้ทำให้เกิดขึ้นมา เมื่อตายแล้ว ก็เอาไปเผาไฟ หรือฝังดินสูญสลายกลายเป็นธาตุดิน น้ำ ลม ไฟ ไม่เห็นมีใครกลับมาบอกว่าไปเกิดที่ไหนเลย เพราะไม่มีอนาคตังสญาณ คือ ความรู้เหตุในอนาคต หรือขาดสติปัญญาในการพิจารณาเหตุผลความวนเวียนแห่งวัฏฏจักร จึงไม่เชื่อในเรื่องภพภูมิข้างหน้าว่ามี ทำให้ไม่สนใจที่จะทำความดี เพื่อภพภูมิข้างหน้าจะได้ไปดี ทั้งนี้ เพราะถูกอวิชชา ความไม่รู้ปกปิดไว้ ทำให้ไม่รู้ความจริงของสังสารวัฏนั่นเอง
๗. ปุพพันตาปะรันเต อะญาณัง ความไม่รู้ในขันธ์ อายตนะ ธาตุ ที่เกิดแล้วและจักเกิดต่อไปข้างหน้า กับทั้งที่กำลังเกิดอยู่ด้วย หมายความว่า เป็นผู้ที่ไม่รู้ในความเป็นไปของอัตภาพร่างกายที่เป็นอดีต อนาคต และที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน คือ ไม่รู้ว่า อดีตก็เคยเกิดมาแล้ว และอนาคตข้างหน้าก็จะต้องเกิดอีก เนื่องจากยังมีกิเลสอยู่ แม้อัตภาพที่เป็นอยู่ในปัจจุบันนี้ก็สืบเนื่องมาจากผลกรรมในอดีตส่งผลมาให้เช่นเดียวกัน จึงทำให้หลงใหลในอัตภาพ ชีวิตความเป็นอยู่ ยศถาบรรดาศักดิ์ แล้วกระทำกรรมต่าง ๆ โดยไม่คำนึงถึงภพภูมิข้างหน้าว่าจะเป็นอย่างไร และไม่คิดว่า ความเกิดเป็นทุกข์ร่ำไป ด้วยอำนาจแห่งอวิชชา คือ ความไม่รู้ปกปิดไว้นั่นเอง
๘. อิทัปปัจจะยะตา ปะฏิจจะสะมุปปันเนสุ ธัมเมสุ อะญาณัง ความไม่รู้ใน ปฏิจจสมุปบาท คือ ธรรมที่เป็นเหตุเป็นผล อาศัยกันและกันเกิดขึ้น เพราะสิ่งนี้มี สิ่งนั้นจึงได้เกิดขึ้น ประดุจลูกโซ่คล้องติดกัน หมายความว่า เป็นผู้ที่ไม่มีความรู้ความเข้าใจในความเป็นไปแห่งสังขารทั้งปวง ที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย จึงหลงใหลยึดติดอยู่ในความคิดความเห็นว่า เป็นสัตว์บุคคล ตัวตนเราเขา เป็นเรา เป็นของเรา เป็นตัวเป็นตนของเรา เป็นต้น ด้วยอำนาจสัสสตทิฏฐิ หรืออุจเฉททิฏฐิ โดยไม่รู้สภาวธรรม ที่มีความเป็นไปตามกฎเกณฑ์ของแต่ละสิ่งแต่ละอย่าง เมื่อสิ่งนี้มี สิ่งนี้จึงได้เกิดขึ้น หรือเพราะสิ่งนี้ดับ สิ่งนี้จึงได้ดับไป ตามเหตุผลของกันและกัน ซึ่งเป็นความรู้ที่ละเอียดลึกซึ้ง ต้องอาศัยสุตมยปัญญา จินตามยปัญญา และภาวนามยปัญญา อย่างลึกซึ้งจึงจะสามารถรู้และเข้าใจได้ แต่เพราะอวิชชาปิดบังไว้ จึงทำให้สัตว์ทั้งหลายไม่รู้ตามความเป็นจริง
สภาวะความไม่รู้หรือความหลงนั้น ได้แก่ ความไม่รู้หรือความหลงในธรรม ๘ ประการ ที่เรียกว่า อวิชชา ๘ ซึ่งเรียกว่า มืดแปดด้าน ส่วนการไม่รู้ในสิ่งต่าง ๆ ที่ไม่เกี่ยวธรรม ๘ ประการนี้ ไม่เรียกว่า อวิชชา เพียงแต่เป็นเพราะความอ่อนเรื่องประสบการณ์เท่านั้น
ความไม่รู้ทั้ง ๘ ประการนี้ อย่างใดอย่างหนึ่ง ย่อมทำให้โมหะ คือ อวิชชา เกิดขึ้นครอบงำสัตว์ทั้งหลาย ให้หลงมัวเมาอยู่ในสภาวะอันไม่เป็นความจริง ยึดถือในสิ่งที่ไม่ใช่สาระว่าเป็นสาระ มองเห็นสิ่งที่เป็นสาระว่าไม่เป็นสาระ จึงทำให้ต้องเวียนว่ายตายเกิดอยู่ในสังสารวัฏอันยาวนาน หาเบื้องต้นและที่สุดไม่พบว่าจะจบสิ้นเมื่อใด