ไปยังหน้า : |
เจตสิก หมายถึง ธรรมชาติที่อาศัยจิตเกิด คือ เมื่อจิตเกิด เจตสิกก็เกิดพร้อมด้วย ไม่มีใครเกิดก่อนหรือเกิดทีหลังกัน อนึ่ง เจตสิกนี้มีสภาพเป็นนามธรรมที่ประกอบกับจิตโดยลักษณะ ๔ ประการ เรียกว่า เจโตยุตตลักษณะ คือ เกิดพร้อมกับจิต ดับพร้อมกับจิต มีอารมณ์อันเดียวกับจิต และอาศัยสถานที่เกิดอันเดียวกับจิต ทั้งเป็นตัวปรุงแต่งจิตให้รับรู้อารมณ์ได้วิจิตรพิสดารออกไปมากมาย ตามสภาพของตน ดังกล่าวแล้วในเรื่องจิต เจตสิกทั้งหมดแบ่งเป็น ๓ จำพวก เรียกว่า ราสี ได้แก่
๑. อัญญสมานราสี หมายถึง หมวดหมู่เจตสิกที่สามารถเกิดได้กับธรรมอื่น คือ เกิดได้กับกุศลจิต อกุศลจิต วิปากจิต กิริยาจิต หรือเกิดได้กับโสภณจิตและอโสภณจิต เป็นต้น ได้ทั่วไป มี ๑๓ ดวง แบ่งเป็น ๒ กลุ่ม ได้แก่ สัพพจิตตสาธารณเจตสิก ๗ ปกิณณกเจตสิก ๖ เป็นกลุ่มเจตสิกที่เป็นพื้นฐานให้จิตรับรู้อารมณ์ได้ โดยเฉพาะสัพพจิตตสาธารณเจตสิกนั้น ต้องประกอบกับจิตทุกดวง เพราะเป็นสภาพธรรมที่เป็นพื้นฐานให้จิตรับรู้อารมณ์ได้โดยตรง ถ้าขาดสัพพจิตตสาธารณเจตสิกดวงใดดวงหนึ่งแล้ว จิตก็รับรู้อารมณ์ไม่ได้ ส่วนปกิณณกเจตสิก ๖ นั้น เป็นสภาพธรรมที่เสริมประสิทธิภาพในการรับรู้อารมณ์ของจิตบางดวงเท่าที่จำเป็น จึงประกอบกับจิตไม่ได้ทุกดวง
๒. อกุศลราสี หมายถึง หมวดหมู่อกุศลเจตสิกที่ประกอบได้กับอกุศลจิตเท่านั้น มีจำนวน ๑๔ ดวง แบ่งเป็น ๕ กลุ่มได้แก่ โมจตุกกเจตสิก ๔ โลติกเจตสิก ๓ โทจตุกกเจตสิก ๔ ถีทุกเจตสิก ๒ วิจิกิจฉาเจตสิก ๑ ซึ่งเมื่อประกอบกับจิตแล้ว ย่อมทำให้จิตนั้นกลายเป็นอกุศลจิตไปด้วย ตามสภาพหมวดหมู่ของพวกตน ซึ่งมีโมจตุกกเจตสิก ๔ เป็นพื้นฐานของอกุศลทั้งปวง หมายความว่า อกุศลจิตทุกดวงที่เกิดขึ้นนั้น ต้องมีโมจตุกกเจตสิก ๔ ดวง เข้าประกอบร่วมด้วยเสมอ ส่วนที่เหลือนอกนั้นประกอบร่วมเฉพาะกลุ่มพวกของตนตามสมควรที่จะประกอบได้เท่านั้น เช่น เมื่อกลุ่มโลติกเจตสิก ๓ เข้าไปร่วมกับโมจตุกกเจตสิก ๔ จิตก็กลายเป็นโลภมูลจิตไป เมื่อกลุ่มโทจตุกกเจตสิก ๔ เข้าไปร่วมกับโมจตุกกเจตสิก ๔ จิตย่อมกลายเป็นโทสมูลจิตไป เมื่อกลุ่มถีทุกเจตสิก ๒ เข้าไปสมทบกับอกุศลเจตสิกกลุ่มอื่น ๆ จิตก็กลายเป็นอกุศลสสังขาริกจิตไป เมื่อวิจิกิจฉาเจตสิก เข้าไปร่วมกับโมจตุกกเจตสิก ๔ จิตก็กลายเป็นโมหมูลจิตไป
๓. โสภณราสี หมายถึง หมวดหมู่แห่งโสภณเจตสิก คือ เจตสิกที่เป็นฝ่ายดีงาม มี ๒๕ ดวง แบ่งเป็น ๔ กลุ่ม ได้แก่ โสภณสาธารณเจตสิก ๑๙ วิรตีเจตสิก ๓ อัปปมัญญาเจตสิก ๒ ปัญญินทรีย์เจตสิก ๑ เมื่อเจตสิกเหล่านี้ เข้าไปประกอบกับจิตร่วมกับอัญญสมานราสี จิตก็กลายเป็นโสภณจิต คือ จิตที่ดีงาม เป็นกามาวจรโสภณจิตบ้าง รูปาวจรจิตบ้าง อรูปาวจรจิตบ้าง หรือโลกุตตรจิตบ้าง ตามสมควรแก่เหตุปัจจัยและกำลังของโสภณจิตนั้น ๆ โดยมีโสภณสาธารณเจตสิก ๑๙ เป็นพื้นฐานของโสภณจิต หมายความว่า โสภณจิตทุกดวงที่เกิดขึ้น ต้องมีโสภณสาธารณเจตสิก ๑๙ ประกอบร่วมด้วยเสมอ ขาดเสียดวงใดดวงหนึ่งนั้นไม่ได้ ส่วนวิรตีเจตสิก ๓ และอัปปมัญญาเจตสิก ๒ ประกอบกับจิตได้เป็นบางครั้งบางคราว ตามสมควรแก่สภาพของอารมณ์ของเจตสิกนั้นโดยเฉพาะ ๆ และถ้าปัญญินทรีย์เจตสิกประกอบกับโสภณจิต ร่วมกับโสภณสาธารณเจตสิก ๑๙ ด้วยแล้ว ย่อมทำให้โสภณจิตนั้นกลายเป็นญาณสัมปยุตตจิต แปลว่า จิตที่ประกอบด้วยปัญญา
เมื่อรวมความแล้ว จิตทุกดวงต้องมีสัพพจิตตสาธารณเจตสิก ๗ เข้าประกอบร่วมด้วยเสมอ และมีปกิณณกเจตสิกประกอบร่วมด้วยเป็นบางดวง ในอกุศลจิตทั้งหมดนั้น นอกจากมีสัพพจิตตสาธารณเจตสิก ๗ เป็นพื้นฐานแล้ว ก็มีโมจตุกกเจตสิกอีก ๔ ดวงเข้าร่วมสมทบด้วยเสมอ ขาดเสียมิได้เช่นกัน ส่วนในโสภณจิตทั้งหมดนั้น ก็มีโสภณสาธารณเจตสิก ๑๙ เข้าร่วมสมทบกับสัพพจิตตสาธารณเจตสิก ๗ ด้วยเช่นเดียวกัน ซึ่งจะได้กล่าวรายละเอียดในปริจเฉทที่ ๒ ตอนที่ว่าด้วยเรื่องสัมปโยคนัยและสังคหนัย ต่อไป