ไปยังหน้า : |
ลักษณะของการคบมิตร มี ๗ ประการ คือ
๑. อุปสังกมนะ การไปมาหาสู่ หมายถึง การเข้าไปเกี่ยวข้อง การนึกถึง การถามถึง การติดต่อพูดคุย อ่าน หรือฟังประวัติส่วนตัวของบุคคลนั้นอยู่เสมอ
๒. ปยิรุปาสนะ การเข้าไปนั่งใกล้ หมายถึง การเข้าไปทำความคุ้นเคยสนิทสนมโดยวิธีการต่าง ๆ มีการกินร่วม นั่งร่วม นอนร่วม อยู่ร่วม ทำงานร่วม เป็นต้น
๓. สัมปิยะ การจงรัก หมายถึง การสร้างความรักใคร่ในบุคคลนั้นอย่างจริงใจ พยายามปรับตัวให้เข้ากับบุคคลนั้นให้ได้ หรือพยายามทำตัวให้บุคคลนั้นรักใคร่ชอบใจ
๔. ภัตติ ความภักดี หมายถึง การนับถือและซื่อตรงต่อบุคคลที่ตนคบหาสมาคมด้วย การพยายามทำตัวเปิดเผยกับบุคคลนั้น โดยไม่ปิดบังอำพรางในสิ่งต่างๆ ที่เกี่ยวกับตนเอง พร้อมทั้งมอบความรักความไว้วางให้บุคคลที่ตนคบนั้นอย่างจริงใจ
๕. สันทิฏฐิ เป็นเพื่อนร่วม หมายความว่า ร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมแสดงความคิดเห็นต่าง ๆ กับบุคคลที่ตนคบหาสมาคมนั้นด้วยใจจริง
๖. สัมภัตตะ เป็นเพื่อนกิน หมายถึง การทำตัวเป็นคนสนิทสนมกับบุคคลนั้น ด้วยการร่วมกิน ร่วมนอน ร่วมอยู่ ร่วมงาน เป็นต้น
๗. ทิฏฐานุคติ ดำเนินตามอย่าง หมายความว่า การพยายามทำตามเยี่ยงอย่างบุคคลที่ตนคบ ทั้งกิริยาท่าทาง การแต่งตัว การทำงาน ความนิยมชมชอบ เป็นต้น เรียกว่า การเลียนแบบ หรือ การถือเอาเป็นเยี่ยงย่าง
กิริยาอาการทั้ง ๗ ประการนี้ ชื่อว่า การคบหาสมาคมกับมิตร ถ้าบุคคลใดคบคนไม่ดีเป็นมิตรด้วยอาการเหล่านี้ บุคคลนั้น ชื่อว่า คบปาปมิตร คือ การคบมิตรชั่ว ย่อมนำพาไปสู่สิ่งที่ไม่ดีไม่งาม แต่ถ้าบุคคลใดคบคนดีเป็นมิตรด้วยอาการเหล่านี้ บุคคลนั้น ชื่อว่า คบกัลยาณมิตร ย่อมนำไปสู่สิ่งที่ดีงาม
การคบมิตรเป็นปัจจัยสำคัญส่วนหนึ่งของชีวิต บุคคลผู้ไม่มีมิตรสหายหรือไม่มีคนคบ ย่อมเป็นอยู่ลำบากหรือโดดเดี่ยวเดียวดาย บุคคลจะดีจะชั่วนั้น ปัจจัยสำคัญอย่างหนึ่งจึงอยู่ที่มิตร เรียกว่า ปรโตโฆสะ ถ้าบุคคลใดมีมิตรดี ก็ถือว่า เป็นความโชคดีของชีวิต ส่วนบุคคลใดมีมิตรชั่ว ก็ถือว่า เป็นความโชคร้ายของชีวิต เช่นเดียวกัน