| |
ความเหมือนและความต่างกันของหิริกับโอตตัปปะ   |  

หิริและโอตตัปปะทั้ง ๒ ย่อมปรากฏขึ้นในขณะที่บุคคลคิดงดเว้นจากความชั่วความผิดหรือทุจริตกรรมต่าง ๆ หิริมีความเกลียดบาป เป็นลักษณะ ส่วนโอตตัปปะมีความสะดุ้งกลัวต่อบาป เป็นลักษณะ

หิริ เปรียบเหมือนหญิงสาวมีสกุล ผู้รังเกียจขยะแขยงต่อบาปกรรมทั้งหลาย ด้วยความเคารพตน คือ การรักศักดิ์ศรีของตนในฐานะผู้มีชาติตระกูล เพราะฉะนั้น หิริเจตสิกจึงเป็นสภาวธรรมที่อาศัยเหตุภายในเป็นสมุฏฐานเกิดขึ้น

โอตตัปปะ เปรียบเหมือนหญิงแพศยา ผู้เกรงกลัวต่อการตำหนิติเตียนจากบุคคลภายนอก ด้วยเหตุว่า ไม่มีความซื่อสัตย์ต่อบุรุษที่จองตนไว้ ดังนี้แล้ว ไม่กล้าล่วงประเวณีกับบุรุษอื่น เพราะการเคารพศักดิ์ศรีของบุคคลอื่น หรือกลัวว่า ชายอื่นจะไม่ใช้บริการตนต่อไป ชื่อว่า มีเหตุภายนอกเป็นสมุฏฐานให้เกิดขึ้น

ความละอายและความสะดุ้งกลัว อันเป็นสภาวธรรมของหิริและโอตตัปปะนี้ ไม่ใช่เป็นอกุศล เพราะเป็นการละอายและเกรงกลัวต่อบาปหรือทุจริตกรรม โดยการพิจารณาเห็นโทษแล้วว่า ไม่ควรประพฤติปฏิบัติ เปรียบเหมือนบุคคลผู้พิจารณามรณานุสสติโดยเอาความตายเป็นอารมณ์ หรือเปรียบเหมือนผู้ที่กำลังพิจารณาอสุภกรรมฐานโดยเอาซากศพเป็นอารมณ์ ซึ่งขณะจิตที่กำลังพิจารณาอยู่นั้น ย่อมไม่ตกอยู่ในอำนาจฝ่ายอกุศล แต่เป็นไปด้วยอำนาจความสังเวช คือ ความสลดใจซึ่งเป็นมูลฐานให้เกิดกุศลโดยส่วนเดียว

หิริและโอตตัปปะนี้ก็เช่นกัน เมื่อพิจารณาถึงบาปหรือทุจริตกรรมแล้วไม่กระทำความชั่วต่าง ๆ ย่อมหยุดยั้งความคิดที่เป็นอกุศลได้แล้วบริหารตนให้หมดจดด้วยคุณงามความดี ด้วยเหตุนี้ หิริและโอตตัปปะ จึงได้ชื่อว่า เป็นธรรมคุ้มครองโลก สมดังพระพุทธภาษิตที่มาในอังคุตตรนิกาย ทุกนิบาตว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย สุกกธรรม ๒ อย่างนี้ ย่อมคุ้มครองโลก สุกกธรรม ๒ อย่างเป็นไฉน คือ หิริและโอตตัปปะ ดูกรภิกษุทั้งหลาย สุกกธรรม ๒ ประการนี้แล ย่อมคุ้มครองโลก ถ้าหากสุกกธรรม ๒ ประการนี้ ไม่พึงคุ้มครองโลกไซร้ โลกนี้ก็จะไม่พึงปรากฏคำว่า บิดา มารดา พี่ น้อง ลุง ป้า น้า อา สามี ภรรยา บุตร ธิดา ครูอาจารย์ เป็นต้น ชาวโลกจักถึงความปะปนกัน [มั่วสุมสมสู่กัน] เหมือนอย่าง แพะ แกะ สุกร ไก่ และ สุนัข เป็นต้น ฉันนั้น ดูกรภิกษุทั้งหลาย สุกกธรรม ๒ ประการนี้แล คุ้มครองโลกอยู่ เพราะฉะนั้น จึงได้ปรากฏคำว่า บิดา มารดา พี่ น้อง ลุง ป้า น้า อา บุตร ธิดา ครู อาจารย์ เป็นต้น

จากพระพุทธวจนะนี้จะเห็นได้ว่า เพราะบุคคลทั้งหลายมีหิริและโอตตัปปะ จึงมีความละอายและเกรงกลัวต่อบาป ไม่ล่วงละเมิดสุกกธรรม คือ ธรรมอันขาว ได้แก่ หิริและโอตตัปปะ จึงเคารพยำเกรงกันในฐานะต่าง ๆ เช่น เป็นพ่อ แม่ พี่ น้อง ลุง ป้า น้า อา เป็นบุตรธิดา เป็นครูอาจารย์ เป็นต้น ทำให้โลกมนุษย์ต่างจากโลกแห่งสัตว์เดรัจฉาน ซึ่งสมสู่กันโดยไม่เลือกหน้า ถ้าโลกขาดหิริและโอตตัปปะเมื่อใด มนุษย์โลกก็จะไม่ต่างอะไรจากสัตว์เดรัจฉาน


เกี่ยวกับตำราอภิธรรม ออนไลน์ (Disclaimer)
ตำราอภิธรรมออนไลน์ พัฒนาขึ้นโดยความร่วมมือของอภิธรรมมหาวิทยาลัย วัดระฆังฯ วัดญาณเวศกวัน และ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ เพื่อนำเสนอสื่อธรรมสำหรับการศึกษาค้นคว้า โดยได้รับอนุญาต และเอกสารต้นฉบับจากผู้เขียน ดังนี้
(๑) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๒), จิตปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๑, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๒) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๖), เจตสิกปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๒, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๓) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๖๓), รูปปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๖, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
ผู้สนใจศึกษาสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับหนังสือ และหลักสูตรการศึกษาได้ที่ สำนักงานอภิธรรมมหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย วัดระฆังโฆษิตารามวรมหาวิหาร (คณะ ๗) แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ ๑๐๗๐๐ โทร ๐๒ ๔๑๑ ๔๕๔๖, ๑๒ ๔๑๒ ๑๐๘๔, ๐๘๖ ๐๓๘ ๒๙๓๓


  |