มหากุศลจิต ดวงที่ ๑
โสมนัสสสหคตัง ญาณสัมปยุตตัง อสังขาริกัง
จิตที่เกิดขึ้นโดยไม่มีการชักชวน พร้อมด้วยความดีใจ ประกอบด้วยปัญญา
มหากุศลจิตดวงที่ ๑ นี้เป็นจิตที่เกิดขึ้นในขณะที่รับรู้อารมณ์ ๖ ทางทวาร ๖ อย่างใดอย่างหนึ่ง ที่มีสภาพเป็นบุญกิริยาวัตถุ ๑๐ ก็ดี กุศลกรรมบถ ๑๐ ก็ดี อย่างใดอย่างหนึ่ง ที่เรียกว่า มหากุศลวัตถุจิ.๑๒ ในขณะที่รับอารมณ์อยู่นั้นย่อมเกิดความปลาบปลื้มยินดี พร้อมทั้งมีความรู้ความเข้าใจในสภาพของอารมณ์นั้น ๆ อย่างถูกต้องตามที่เป็นจริง ซึ่งสภาพความรู้สึกที่เป็นองค์รวมเหล่านี้เกิดขึ้นมาเองโดยไม่ต้องมีการกระตุ้นเตือนหรือชักชวน เนื่องจากเป็นผู้มีประสบการณ์ หรือมีความถนัดเจนจัดและชำนาญในวิธีการนั้น ๆ เป็นอย่างดี ตัวอย่างเช่น นายปัญญา เป็นคนฉลาดและอารมณ์ดี เป็นคนมีความรู้ในเรื่องธรรมะเป็นอย่างดี วันหนึ่ง นายปัญญาได้เดินผ่านวัดไป พอมองเห็นพระพุทธรูปในพระวิหาร ก็ยกมือไหว้ ด้วยจิตที่เลื่อมใสในพระพุทธคุณ และมีความปลาบปลื้มยินดี น้อมนึกถึงพระพุทธคุณทั้ง ๙ ประการ ด้วยอาศัยประสบการณ์ความรู้ที่ได้ยินได้ฟังและได้เรียนมาเป็นอย่างดีแล้วนั้น ดังนี้เป็นตัวอย่าง หรืออีกกรณีหนึ่ง เป็นจิตที่เกิดขึ้นในขณะที่พระเสกขบุคคลทั้งหลาย กระทำกิจที่เป็นกุศลต่าง ๆ ที่ต้องใช้ปัญญาในการพิจารณาใคร่ครวญ เช่น การแสดงธรรม การบอกธรรม เป็นต้น ที่เป็นการปรารภขึ้นมาเอง เมื่อเห็นบุคคลผู้สามารถที่จะรับฟังธรรมได้มาปรากฏอยู่เฉพาะหน้า หรือตนเองปรารภเดินเข้าไปหาบุคคลนั้น เพื่อต้องการที่จะบอกธรรมแสดงธรรมให้ฟัง ในขณะที่แสดงธรรมหรือบอกธรรมอยู่นั้น ก็มีความปลาบปลื้มยินดี เพราะมีศรัทธาที่มั่นคงในพระพุทธศาสนาอย่างไม่หวั่นไหว และมีความพึงพอใจในการทำหน้าที่ของตน พร้อมด้วยสติปัญญาที่ตนมีอยู่ จึงสามารถแสดงธรรมได้อย่างละเอียดลึกซึ้ง อีกกรณีหนึ่ง เป็นจิตที่เกิดกับอบายสัตว์ คือ สัตว์นรก เปรต อสุรกาย หรือเดรัจฉาน บางจำพวก ที่มีอุปนิสัยในกุศลบารมีมาแต่ชาติปางก่อน มีพระโพธิสัตว์ เป็นต้น เมื่อได้ประสบกับอารมณ์อย่างใดอย่างหนึ่ง อันเป็นมหากุศลวัตถุนั้น ซึ่งตนเองมีความคุ้นเคย หรือจำความหลังในชาติปางก่อนได้ ก็ทำให้เกิดมหากุศลจิตขึ้นมา หรือทำมหากุศลเช่นนั้นลงไป พร้อมด้วยความปลาบปลื้มยินดี และมีความรู้ความเข้าใจในอารมณ์อันเป็นมหากุศลวัตถุนั้น ด้วยอดีตสัญญาที่เคยสั่งสมมานั่นเอง
มหากุศลจิต ดวงที่ ๒
โสมนัสสสหคตัง ญาณสัมปยุตตัง สสังขาริกัง
จิตที่เกิดขึ้นโดยมีการชักชวน พร้อมด้วยความดีใจ ประกอบด้วยปัญญา
มหากุศลจิตดวงที่ ๒ นี้เป็นจิตที่เกิดขึ้นในขณะที่รับรู้อารมณ์ ๖ ทางทวาร ๖ อย่างใดอย่างหนึ่ง ที่มีสภาพเป็นบุญกิริยาวัตถุ ๑๐ ก็ดี กุศลกรรมบถ ๑๐ ก็ดี อย่างใดอย่างหนึ่ง ที่เรียกว่า มหากุศลวัตถุ โดยอาศัยการกระตุ้นเตือนหรือชักชวนให้เกิดการรับรู้และตอบสนองต่ออารมณ์นั้น แต่ในขณะที่รับรู้อารมณ์นั้นอยู่ก็มีความปลาบปลื้มยินดี พร้อมกับมีความรู้ความเข้าใจในสภาพของอารมณ์นั้น ๆ อย่างถูกต้องตามที่เป็นจริง ฉะนั้น จิตดวงนี้จึงต่างจากมหากุศลจิตดวงที่ ๑ ตรงที่ต้องอาศัยการกระตุ้นเตือนหรือชักชวนก่อนแล้ว จึงเกิดความรู้สึกที่เป็นองค์รวมทั้งหมดได้ ตัวอย่างเช่น นายเฉลียว เป็นคนอารมณ์ดี มีความฉลาด แต่เนื่องจากเป็นคนไม่ค่อยเข้าวัดฟังธรรม ไม่ค่อยมีความรู้เรื่องธรรมะสักเท่าใดนัก วันหนึ่ง เพื่อนได้ชักชวนนายเฉลียวให้ร่วมทำบุญทอดกฐิน โดยการพรรณนาอานิสงส์แห่งการทอดกฐินว่า มีมากมายมหาศาล และถือว่า เป็นการรักษาสืบทอดวัฒนธรรมอันเป็นแบบแผนที่ดีงามของพระพุทธ ศาสนาไว้ด้วย เมื่อนายเฉลียวได้ฟังอานิสงส์ของการทอดกฐินแล้ว ย่อมเกิดความรู้ความเข้าใจและเกิดความเลื่อมใสศรัทธา จึงได้ร่วมบริจาคทรัพย์ในการทอดกฐินครั้งนั้น ด้วยความปลาบปลื้มยินดี ดังนี้เป็นตัวอย่าง หรืออีกกรณีหนึ่ง เป็นจิตที่เกิดขึ้นในขณะที่พระเสกขบุคคลทั้งหลาย คือ พระโสดาบัน พระสกทาคามี และพระอนาคามี ถูกเชื้อเชิญให้ทำกิจที่เป็นกุศลบางอย่าง เช่น ให้แสดงธรรม ให้สอนธรรม ให้บอกธรรม ให้อธิบายชี้แจงข้ออรรถข้อธรรม เป็นต้น ซึ่งท่านก็ได้ทำกิจที่ได้รับอาราธนาหรือเชื้อเชิญนั้น ด้วยความปลาบปลื้มยินดี พร้อมด้วยความรู้ความเข้าใจในข้ออรรถข้อธรรมที่แสดงนั้นเป็นอย่างดี เนื่องจากเป็นพระอริยบุคคล ซึ่งเป็นผู้สามารถชำระทิฏฐิคือความเห็นผิดและวิจิกิจฉาคือลังเลสงสัยให้หมดไปจากขันธสันดานได้แล้วนั่นเอง อีกกรณีหนึ่ง เป็นจิตที่เกิดกับอบายสัตว์ คือ สัตว์นรก เปรต อสุรกาย หรือเดรัจฉาน บางจำพวก ที่มีอุปนิสัยในกุศลบารมีมาแต่ชาติปางก่อน มีพระโพธิสัตว์ เป็นต้น เมื่อถูกกระตุ้นเตือนหรือชักชวนให้เกิดการรับรู้และตอบสนองต่ออารมณ์ในทางที่เป็นกุศล และชี้แนะให้เกิดความรู้ความเข้าใจในอารมณ์อันเป็นมหากุศลวัตถุนั้นอย่างถูกต้อง หรือขณะที่ได้ประสบกับอารมณ์อันเป็นมหากุศลวัตถุนั้นอย่างใดอย่างหนึ่ง ซึ่งตนเองมีความคุ้นเคย หรือจำชาติก่อนได้ ก็คิดกระตุ้นเตือนตนเองให้เกิดมหากุศลจิตขึ้นมา หรือทำกุศลเช่นนั้นลงไป พร้อมด้วยความปลาบปลื้มยินดี
มหากุศลจิต ดวงที่ ๓
โสมนัสสสหคตัง ญาณวิปปยุตตัง อสังขาริกัง
จิตที่เกิดขึ้นโดยไม่มีการชักชวน พร้อมด้วยความดีใจ ไม่ประกอบด้วยปัญญา
มหากุศลจิตดวงที่ ๓ นี้เป็นจิตที่เกิดขึ้นในขณะที่รับรู้อารมณ์ ๖ ทางทวาร ๖ อย่างใดอย่างหนึ่ง ที่มีสภาพเป็นบุญกิริยาวัตถุ ๑๐ ก็ดี กุศลกรรมบถ ๑๐ ก็ดี อย่างใดอย่างหนึ่ง ที่เรียกว่า มหากุศลวัตถุ ซึ่งเกิดขึ้นมาเองโดยไม่ต้องมีการกระตุ้นเตือนหรือชักชวน เนื่องจากมีความถนัดเจนจัดและชำนาญต่ออารมณ์นั้น หรือในกิจการงานอันเป็นบุญกุศลที่จะทำนั้นเป็นอย่างดีแล้ว แต่ไม่มีความรู้ความเข้าใจในสภาพของอารมณ์นั้นอย่างถูกต้องตามที่เป็นจริงนัก เนื่องจากขาดประสบการณ์ความรู้ความเข้าใจในสภาพของอารมณ์นั้น หรือกิจการงานอันเป็นบุญกุศลที่ทำนั้นไม่ต้องใช้ปัญญาในการพิจารณา เพราะมีความถนัดและคุ้นเคยเป็นอย่างดีแล้ว แต่ในขณะที่เกิดความรู้สึกหรือทำบุญกุศลนั้นอยู่ ก็มีความปลาบปลื้มยินดี ฉะนั้น มหากุศลจิตดวงที่ ๓ นี้จึงต่างจากมหากุศลจิตดวงที่ ๑ ตรงที่ไม่มีปัญญาประกอบร่วมด้วย และต่างจากมหากุศลจิตดวงที่ ๒ ตรงที่เป็นอสังขาริกคือ ปรารภขึ้นมาเองโดยไม่ต้องมีการกระตุ้นเตือนหรือชักชวน จึงเกิดความรู้สึกที่เป็นองค์รวมทั้งหมดได้ ตัวอย่างเช่น นางสาวสมฤทัย เป็นคนอารมณ์ดี แต่ไม่ฉลาด ทั้งไม่มีความรู้เรื่องธรรมะ วันหนึ่ง เพื่อนชวนไปเที่ยววัดพระแก้ว เมื่อไปเห็นพระแก้วมรกตแล้ว นางสาวสมฤทัยก็เกิดความเลื่อมใสศรัทธา มีความรู้สึกปลาบปลื้มยินดี ขนลุกซู่ซ่าขึ้นมาทันที ด้วยอุปนิสัยที่เป็นคนเลื่อมใสในพระพุทธศาสนาเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว นางสาวสมฤทัยจึงได้ยกมือประนมไหว้พระแก้วมรกตทันที หรืออีกกรณีหนึ่ง เป็นจิตที่เกิดขึ้นกับพระเสกขบุคคลทั้งหลาย ในขณะที่กระทำกิจต่าง ๆ มีการปัดกวาดวิหารลานพระเจดีย์ ซึ่งเป็นกิจวัตรประจำวัน ที่ตนมีความถนัดเจนจัด และทำเป็นประจำอยู่แล้ว จึงไม่ต้องใช้ปัญญาพิจารณาว่าจะทำอย่างไร ดังนี้เป็นต้น อีกกรณีหนึ่ง เป็นจิตที่เกิดกับอบายสัตว์ คือ สัตว์นรก เปรต อสุรกาย หรือเดรัจฉาน บางจำพวก ที่มีอุปนิสัยในกุศลบารมีมาแต่ชาติปางก่อน มีพระโพธิสัตว์ เป็นต้น เมื่อได้ประสบกับอารมณ์อันเป็นมหากุศลวัตถุนั้นอย่างใดอย่างหนึ่ง ซึ่งตนเองมีความถนัดหรือคุ้นเคยเป็นอย่างดี แต่ว่าไม่มีความรู้ความเข้าใจในสิ่งที่ทำนั้น เนื่องจากขอบเขตจำกัดในประสิทธิภาพการรับรู้ของตน แล้วก็เกิดมหากุศลจิตขึ้นมา หรือทำกุศลนั้น ๆ ลงไป พร้อมด้วยความปลาบปลื้มยินดี เช่น สุนัขที่ไร้เดียงสา มีความกตัญญูต่อเจ้าของ เมื่อเหลือบเห็นเจ้าของเดินมาแต่ไกล ก็มีความปลาบปลื้มยินดี กระดิกหางวิ่งเข้าไปต้อนรับด้วยความรักและกตัญญู ดังนี้เป็นต้น
มหากุศลจิต ดวงที่ ๔
โสมนัสสสหคตัง ญาณวิปปยุตตัง สสังขาริกัง
จิตที่เกิดขึ้นโดยมีการชักชวน พร้อมด้วยความดีใจ ไม่ประกอบด้วยปัญญา
มหากุศลจิตดวงที่ ๔ นี้เป็นจิตที่เกิดขึ้นในขณะที่รับรู้อารมณ์ ๖ ทางทวาร ๖ อย่างใดอย่างหนึ่ง ที่มีสภาพเป็นบุญกิริยาวัตถุ ๑๐ ก็ดี กุศลกรรมบถ ๑๐ ก็ดี อย่างใดอย่างหนึ่ง ที่เรียกว่า มหากุศลวัตถุ โดยต้องอาศัยการกระตุ้นเตือนหรือชักชวนให้เกิดการรับรู้และตอบสนองต่ออารมณ์นั้นหรือสิ่งที่เป็นมหากุศลวัตถุนั้น เนื่องจากขาดประสบการณ์หรือขาดความถนัดคุ้นเคยในอารมณ์นั้น ๆ หรือความไม่พร้อมแห่งเหตุปัจจัยอื่น ๆ เช่น เป็นคนมีนิสัยเฉื่อยชา อืดอาด ขาดความกระตือรือร้นในกิจการงานต่าง ๆ เป็นต้น แต่เมื่อถูกกระตุ้นเตือนหรือชักชวนแล้ว ก็เกิดความเลื่อมใสศรัทธาในบุญกุศลนั้นและทำบุญกุศลนั้นลงไป ด้วยความปลาบปลื้มยินดี แต่ไม่มีความรู้ความเข้าใจในสภาพอารมณ์หรือวัตถุประสงค์ของการกระทำนั้นอย่างถูกต้องตามที่เป็นจริง เนื่องจากเป็นคนไม่มีปัญญา หรือยังเล็กไร้เดียงสาอยู่ ฉะนั้น มหากุศลจิตดวงที่ ๘ นี้จึงต่างจากมหากุศลจิตดวงที่ ๑ ตรงที่ไม่มีปัญญาประกอบร่วมด้วยและเป็นสสังขาริกคือเกิดขึ้นโดยต้องมีการชักชวน ต่างจากมหากุศลจิตดวงที่ ๒ ตรงที่ไม่ประกอบด้วยปัญญา และต่างจากมหากุศลจิตดวงที่ ๓ ตรงที่เป็นสสังขาริกคือเกิดขึ้นโดยต้องอาศัยการกระตุ้นเตือนหรือชักชวน จึงเกิดความรู้สึกที่เป็นองค์รวมทั้งหมดได้ ตัวอย่างเช่น เด็กชายเก็ง ยังเล็กไร้เดียงสา วันหนึ่ง แม่ชวนไปใส่บาตรพระหน้าบ้าน เด็กชายเก็ง เห็นพระก็ดีใจ แม่บอกให้เด็กชายเก็งช่วยหยิบของใส่บาตรพระ เด็กชายเก็งก็ทำตามที่แม่บอกอย่างสนุกสนานรื่นเริง เสร็จแล้วแม่บอกให้ประนมมือไหว้พระ เด็กชายเก็งก็ทำตามทุกอย่าง ด้วยอาการยิ้มแย้มแจ่มใส ดังนี้เป็นตัวอย่าง อีกนัยหนึ่ง เป็นจิตที่เกิดขึ้นกับพระเสกขบุคคลทั้งหลาย ที่มีความถนัดเจนจัดและชำนาญในการทำกิจที่เป็นกุศลบางอย่าง แต่เป็นผู้มีความขวนขวายน้อย ชอบความสงัดและสันโดษ จึงไม่ค่อยกระตือรือร้นในการทำกิจนั้น ๆ หรือมีปัญหาอุปสรรคทางด้านร่างกายหรือด้านจิตใจบางอย่างมาบั่นทอน ทำให้ขาดความกระตือรือร้น แต่เมื่อถูกกระตุ้นเตือนหรือชักชวน เชื้อเชิญแล้ว ก็มีความเต็มใจในการทำกิจนั้น ด้วยความปลาบปลื้มใจ แต่เนื่องจากกิจนั้น ๆ ท่านมีความถนัดคุ้นเคยอยู่แล้ว เช่น การซัก การเย็บ การย้อมจีวร การปัดกวาดวิหารลานพระเจดีย์ เป็นต้น จึงไม่ต้องใช้ปัญญาในการพิจารณา หรืออีกกรณีหนึ่ง เป็นจิตที่เกิดกับอบายสัตว์ คือ สัตว์นรก เปรต อสุรกาย หรือเดรัจฉาน บางจำพวก ที่มีอุปนิสัยในกุศลบารมีมาแต่ชาติปางก่อนบ้าง มีพระโพธิสัตว์ เป็นต้น เมื่อถูกกระตุ้นเตือนหรือชักชวนให้เกิดการรับรู้และตอบสนองต่ออารมณ์ที่เป็นกุศล ในขณะที่ได้ประสบกับอารมณ์อันเป็นมหากุศลวัตถุนั้นอย่างใดอย่างหนึ่ง ซึ่งตนเองไม่ค่อยมีความถนัดหรือไม่ค่อยคุ้นเคย ทั้งไม่มีความรู้ความเข้าใจในสิ่งที่ทำนั้น เนื่องจากขอบเขตจำกัดในประสิทธิภาพการรับรู้ของตน แต่เมื่อถูกกระตุ้นเตือนหรือชักชวนแล้ว ก็ทำด้วยความปลาบปลื้มยินดี
มหากุศลจิต ดวงที่ ๕
อุเปกขาสหคตัง ญาณสัมปยุตตัง อสังขาริกัง
จิตที่เกิดขึ้นโดยไม่มีการชักชวน พร้อมด้วยความเฉย ๆ ประกอบด้วยปัญญา
มหากุศลจิตดวงที่ ๕ นี้เป็นจิตที่เกิดขึ้นในขณะที่รับรู้อารมณ์ ๖ ทางทวาร ๖ อย่างใดอย่างหนึ่ง ที่มีสภาพเป็นบุญกิริยาวัตถุ ๑๐ ก็ดี กุศลกรรมบถ ๑๐ ก็ดี อย่างใดอย่างหนึ่ง ที่เรียกว่า มหากุศลวัตถุ แต่ด้วยอุปนิสัยที่เป็นคนสุขุมหรือมีความวางเฉยเป็นปกติ หรือมีปัญหาอุปสรรคบางอย่างมาบั่นทอนความรู้สึกให้เกิดอาการวางเฉย เช่น อกหัก หลักลอย คอยงาน สังขารเสื่อม เป็นต้น ฉะนั้น ในขณะที่รับอารมณ์อยู่นั้นก็มีอาการวางเฉย แต่เป็นผู้มีความรู้ความเข้าใจในสภาพของอารมณ์นั้น ๆ อย่างถูกต้องตามที่เป็นจริง ซึ่งสภาพความรู้สึกที่เป็นองค์รวมเหล่านี้ เป็นการปรารภขึ้นมาเองโดยไม่ต้องมีการกระตุ้นเตือนหรือชักชวน เนื่องจากเป็นผู้มีประสบการณ์ หรือมีความถนัดเจนจัดและชำนาญในวิธีการนั้น ๆ เป็นอย่างดี ฉะนั้น มหากุศลจิตดวงที่ ๕ นี้จึงต่างจากมหากุศลจิตดวงที่ ๑ ตรงที่เป็นเป็นอุเบกขาเวทนาคือความวางเฉย ต่างจากมหากุศลจิตดวงที่ ๒ ตรงที่เป็นอุเบกขาเวทนาและเป็นอสังขาริกคือเกิดขึ้นโดยไม่ต้องชักชวน ต่างจากมหากุศลจิตดวงที่ ๓ ตรงที่เป็นอุเบกขาเวทนาและเป็นญาณสัมปยุตต์คือประกอบด้วยปัญญา และต่างจากมหากุศลจิตดวงที่ ๔ โดยสิ้นเชิง คือ เป็นอุเบกขาเวทนา เป็นญาณสัมปยุตต์คือประกอบด้วยปัญญา และเป็นอสังขาริกคือเกิดขึ้นโดยไม่ต้องอาศัยการกระตุ้นเตือนหรือชักชวน จึงเกิดความรู้สึกที่เป็นองค์รวมทั้งหมดได้ ตัวอย่างเช่น นางสาวฉลาด เป็นคนมีนิสัยเฉย ๆ ไม่ค่อยยินดียินร้ายกับใครนัก แต่เป็นคนฉลาดและเป็นผู้มีความรู้เรื่องธรรมะเป็นอย่างดี วันหนึ่ง นางสาวฉลาด เห็นพระสงฆ์เดินบิณฑบาตผ่านหน้าบ้าน ด้วยอุปนิสัยที่เป็นคนชอบทำบุญ จึงพิจารณาเห็นว่า บุญนี้เป็นสิ่งดีงาม นำสัตว์ให้พ้นทางกันดารคือความทุกข์ได้ ดังนี้เป็นต้นแล้ว ก็เดินไปตักข้าวใส่ภาชนะมาใส่บาตรพระทันที พร้อมกับตั้งจิตอธิษฐานอยู่ในใจว่า “ข้าวของข้าพเจ้า ขาวดังดอกบัว ยกขึ้นเหนือหัว ใส่บาตรพระสงฆ์ มีจิตจำนง มุ่งตรงต่อพระนิพพาน ขอให้ถึงเมืองแก้ว ขอให้แคล้วบ่วงมาร ขอให้ได้พบพระศรีอาริย์ ในอนาคตกาล เบื้องหน้าโน้นเทอญ” ดังนี้เป็นตัวอย่าง หรืออีกกรณีหนึ่ง เป็นจิตที่เกิดขึ้นกับพระเสกขบุคคลทั้งหลาย ในขณะที่กระทำกิจที่เป็นกุศลต่าง ๆ ที่ต้องใช้ปัญญาในการพิจารณาใคร่ครวญ เช่น การแสดงธรรม การบอกธรรม เป็นต้น ที่เป็นการปรารภขึ้นมาเอง เมื่อเห็นบุคคลผู้สามารถที่จะรับฟังธรรมได้มาปรากฏอยู่เฉพาะหน้า หรือตนเองปรารภเดินเข้าไปหาบุคคลนั้น เพื่อต้องการที่จะบอกธรรมแสดงธรรมให้ฟัง แต่เนื่องจากอุปนิสัยเป็นคนสุขุมคัมภีรภาพ มีอาการวางเฉยอยู่เป็นปกติ ฉะนั้น ในขณะที่แสดงธรรมหรือบอกธรรมอยู่นั้น ก็มีความรู้สึกเฉย ๆ เป็นผู้ประกอบพร้อมด้วยสติปัญญาที่ตนมีอยู่ จึงสามารถแสดงธรรมได้อย่างละเอียดลึกซึ้ง อีกกรณีหนึ่ง เป็นจิตที่เกิดกับอบายสัตว์ คือ สัตว์นรก เปรต อสุรกาย หรือเดรัจฉาน บางจำพวก ที่มีอุปนิสัยในกุศลบารมีมาแต่ชาติปางก่อน มีพระโพธิสัตว์ เป็นต้น เมื่อได้ประสบกับอารมณ์อย่างใดอย่างหนึ่ง อันเป็นมหากุศลวัตถุซึ่งตนเองมีความคุ้นเคย หรือจำความหลังในชาติปางก่อนได้ ก็ทำให้เกิดมหากุศลจิตขึ้นมา หรือทำมหากุศลเช่นนั้นลงไป แต่เพราะอัธยาศัยส่วนตัวเป็นผู้วางเฉยอยู่เป็นปกติ ไม่ชอบคลุกคลีกับสัตว์อื่น หรือมีปัญหาอุปสรรคทางด้านร่างกายก็ดี ทางด้านจิตใจก็ดี เข้ามาบั่นทอนให้ต้องวางเฉย เช่น เอือมระอาหมู่คณะที่วุ่นวาย เป็นต้น จึงทำให้เกิดความรู้สึกต่ออารมณ์นั้นด้วยความวางเฉย แต่มีความรู้ความเข้าใจในอารมณ์อันเป็นกุศลวัตถุนั้น ด้วยอดีตสัญญาที่เคยสั่งสมมานั่นเอง ตัวอย่างเช่น พญาช้างปาลิเลยยกะ ที่เอือมระอาต่อกิริยาของพวกช้างที่เป็นบริวารของตน คือ ในเวลาออกไปหากิน เมื่อพญาช้างปาลิเลยยกะหักกิ่งไม้ลงมาจะกินใบไม้อ่อนก็ดี พวกช้างพลาย ช้างพังและลูกช้าง ก็แย่งกินหมด เหลือไว้แต่ใบไม้แก่ๆ พญาช้างต้องกินเดนจากพวกช้างเหล่านั้น ในเวลาลงไปกินน้ำที่ท่าน้ำ พวกช้างเหล่านั้นก็เดินเสียดสีพญาช้างทั้งด้านซ้ายด้านขวา แซงหน้าลงไปกินน้ำก่อน ทำให้น้ำขุ่น พญาช้างก็ต้องทนกินน้ำขุ่น ๆ นั้น จึงทำให้พญาช้างนั้นเกิดความเอือมระอา พอทราบข่าวว่า พระพุทธองค์เสด็จมาประทับอยู่ ณ ป่ารักขิตวันเพียงลำพังพระองค์เดียว พญาช้างนั้น จึงปลีกตัวออกจากโขลงแต่ผู้เดียว เข้าไปแสดงความเคารพและแสดงเจตนารมณ์ที่จะอยู่อุปัฏฐากพระพุทธองค์ตลอดไตรมาสนั้น ดังนี้เป็นต้น
มหากุศลจิต ดวงที่ ๖
อุเปกขาสหคตัง ญาณสัมปยุตตัง สสังขาริกัง
จิตที่เกิดขึ้นโดยมีการชักชวน พร้อมด้วยความเฉย ๆ ประกอบด้วยปัญญา
มหากุศลจิตดวงที่ ๖ นี้เป็นจิตที่เกิดขึ้นในขณะที่รับรู้อารมณ์ ๖ ทางทวาร ๖ อย่างใดอย่างหนึ่ง ที่มีสภาพเป็นบุญกิริยาวัตถุ ๑๐ ก็ดี กุศลกรรมบถ ๑๐ ก็ดี อย่างใดอย่างหนึ่ง ที่เรียกว่า มหากุศลวัตถุ พร้อมด้วยความวางเฉย และต้องอาศัยการกระตุ้นเตือนหรือชักชวนก่อนแล้ว จึงเกิดความรู้สึกหรือกระทำสิ่งนั้นลงไป แต่เป็นผู้มีความรู้ความเข้าใจในอารมณ์นั้น ๆ อย่างถูกต้องตามที่เป็นจริง ฉะนั้น มหากุศลจิตดวงที่ ๖ นี้จึงต่างจากมหากุศลจิตดวงที่ ๑ ตรงที่เป็นเป็นอุเบกขาเวทนาคือความวางเฉยและเป็นสสังขาริกคือต้องอาศัยการกระตุ้นเตือนหรือชักชวน ต่างจากมหากุศลจิตดวงที่ ๒ ตรงที่เป็นอุเบกขาเวทนา ต่างจากมหากุศลจิตดวงที่ ๓ โดยสิ้นเชิง คือ เป็นอุเบกขาเวทนาเป็นญาณสัมปยุตต์คือประกอบด้วยปัญญาและเป็นสสังขาริก ต่างจากมหากุศลจิตดวงที่ ๔ ตรงที่เป็นอุเบกขาเวทนาและเป็นญาณสัมปยุตต์คือประกอบด้วยปัญญา และต่างจากมหากุศลจิตดวงที่ ๕ ตรงที่เป็นสสังขาริกคือเกิดขึ้นโดยมีการชักชวน จึงเกิดความรู้สึกที่เป็นองค์รวมทั้งหมดได้ ตัวอย่างเช่น นางสาวแฉล้ม เป็นคนฉลาด แต่กำลังอยู่ในภาวะที่เต็มไปด้วยอุปสรรคปัญหาที่ผ่านมาในชีวิต คือ คนรักก็ทิ้งห่างจากไป การงานก็ไม่มีทำ เงินทองก็ไม่ค่อยมีใช้ โรคภัยก็รุมเร้า ญาติมิตรก็ไม่มีที่จะพึ่งพิงอาศัยได้ จึงตกอยู่ในภาวะที่ว่า “อกหัก หลักลอย คอยงาน สังขารเสื่อม” หรือ “บุญไม่พา วาสนาไม่ช่วย ที่ป่วยก็หนัก ที่รักหน่าย” จึงคิดปลงไม่ตก มีความกลัดกลุ้มใจ เพื่อนเห็นว่า นางสาวแฉล้ม มีอาการซึมเซา และเก็บตัวเงียบ ไม่ค่อยไปมาหาสู่กัน วันหนึ่ง เพื่อนจึงไปเยี่ยมนางสาวแฉล้มด้วยความเป็นห่วง พร้อมกับชวนนางสาวแฉล้มว่า “พวกเราไปเที่ยววัดระฆังโฆสิตารามกันเถอะ ไปกราบพระประธานในพระอุโบสถและสมเด็จพระพุฒาจารย์ [โต พฺรหฺมรํสี] ในพระวิหาร เห็นเขาบอกว่า ศักดิ์สิทธิ์ดีนักแล ใครไปกราบไปไหว้ แล้วขอพรสิ่งใด ก็มักสำเร็จสมปรารถนาเสมอ” นางสาวแฉล้ม ก็เห็นว่าดีเหมือนกัน เผื่ออะไร ๆ จะดีขึ้นมาบ้าง ก็เลยพากันเดินทางไปวัดระฆังโฆสิตาราม เพื่อนก็พรรณนาถึงพระพุทธคุณ และคุณธรรมของสมเด็จพระพุฒาจารย์ [โต] ให้ฟัง นางสาวแฉล้มรู้สึกโล่งใจสบายใจขึ้นมาบ้าง และเกิดความรู้ความเข้าใจในพระพุทธคุณและได้รู้ประวัติและคุณธรรมของเจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ [โต] เป็นอย่างดี จึงเกิดความเลื่อมใสศรัทธาตาม และได้กราบไหว้พระประธานในพระอุโบสถและรูปเหมือนเจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ [โต] ในพระวิหารพร้อมกับเพื่อน ด้วยอาการอันสุขุมคัมภีรภาพ เพราะยังมีความรู้สึกเก็บกดความทุกข์ไว้ในใจซึ่งยังไม่สามารถเยียวยาแก้ไขได้ หรืออีกกรณีหนึ่ง เป็นจิตที่เกิดขึ้นในขณะที่พระเสกขบุคคลทั้งหลาย ที่ถูกเชื้อเชิญให้กระทำกิจต่าง ๆ ที่เป็นกุศล เช่น การแสดงธรรม การบอกธรรม เป็นต้น แต่เนื่องจากอุปนิสัยเป็นคนสุขุมคัมภีรภาพ มีอาการวางเฉยอยู่เป็นปกติและเป็นผู้มีความขวนขวายน้อย ต้องการที่จะอยู่เป็นสุขเพียงลำพัง ไม่ต้องการยุ่งเกี่ยวกับใครมากนัก ฉะนั้น ในขณะที่แสดงธรรมหรือบอกธรรมอยู่นั้น ก็มีความรู้สึกเฉย ๆ แต่เป็นผู้ประกอบพร้อมด้วยสติปัญญาที่ตนมีอยู่ จึงสามารถแสดงธรรมได้อย่างละเอียดลึกซึ้ง อีกกรณีหนึ่ง เป็นจิตที่เกิดกับอบายสัตว์ คือ สัตว์นรก เปรต อสุรกาย หรือเดรัจฉาน บางจำพวก ที่มีอุปนิสัยในกุศลบารมีมาแต่ชาติปางก่อน มีพระโพธิสัตว์ เป็นต้น เมื่อได้ประสบกับอารมณ์อย่างใดอย่างหนึ่ง อันเป็นมหากุศลวัตถุนั้น ซึ่งตนเองไม่มีความคุ้นเคย แต่เมื่อถูกกระตุ้นเตือนหรือชักชวน และชี้แนะให้เกิดความรู้ความใจในการกระทำนั้นอย่างถูกต้อง ก็ทำให้เกิดมหากุศลจิตขึ้นมา หรือทำมหากุศลเช่นนั้นลงไป แต่เพราะอัธยาศัยส่วนตัวเป็นผู้มีอาการวางเฉยอยู่เป็นปกติ ไม่ชอบคลุกคลีกับสัตว์อื่น หรือมีปัญหาอุปสรรคทางด้านร่างกายก็ดี ทางด้านจิตใจก็ดี เข้ามาบั่นทอนให้ต้องวางเฉย เช่น สัตว์นรกที่กำลังได้รับทุกขเวทนาอันแสนสาหัสจากการถูกทรมานด้วยวิธีการต่าง ๆ เมื่อมีพระสงฆ์ผู้มีฤทธิ์เดช เช่น พระโมคคัลลานะ พระมาลัย เป็นต้นไปโปรดถึงที่ และช่วยให้ไฟนรกดับลงชั่วคราวด้วยอานุภาพของตน แล้วชี้แจงแสดงธรรมให้ฟังในเรื่องกรรมและผลของกรรมที่สัตว์เหล่านั้นได้กระทำมาแล้ว ตลอดถึงการทำบุญกุศลต่าง ๆ สัตว์นรกนั้น ก็เกิดความรู้ความเข้าใจตามกระแสพระธรรมเทศนานั้น แต่ปรารภว่าตนเองจะต้องถูกทรมานในนรกไปอีกเป็นเวลานาน ก็ต้องวางอุเบกขายอมรับกับชะตากรรมนั้นต่อไป จึงเกิดอาการวางเฉยเสีย
มหากุศลจิต ดวงที่ ๗
อุเปกขาสหคตัง ญาณวิปปยุตตัง อสังขาริกัง
จิตที่เกิดขึ้นโดยไม่มีการชักชวน พร้อมด้วยความเฉย ๆ ไม่ประกอบด้วยปัญญา
มหากุศลจิตดวงที่ ๗ นี้เป็นจิตที่เกิดขึ้นในขณะที่รับรู้อารมณ์ ๖ ทางทวาร ๖ อย่างใดอย่างหนึ่ง ที่มีสภาพเป็นบุญกิริยาวัตถุ ๑๐ ก็ดี กุศลกรรมบถ ๑๐ ก็ดี อย่างใดอย่างหนึ่ง ที่เรียกว่า มหากุศลวัตถุ พร้อมด้วยความวางเฉย แต่เป็นการปรารภขึ้นมาเองและกระทำกุศลนั้นลงไป โดยไม่ต้องอาศัยการกระตุ้นเตือนหรือชักชวน แต่ไม่มีความรู้ความเข้าใจในอารมณ์นั้น ๆ อย่างถูกต้องตามที่เป็นจริง ฉะนั้น มหากุศลจิตดวงที่ ๗ นี้จึงต่างจากมหากุศลจิตดวงที่ ๑ ตรงที่เป็นเป็นอุเบกขาเวทนาและเป็นญาณวิปปยุตต์คือไม่ประกอบด้วยปัญญา ต่างจากมหากุศลจิตดวงที่ ๒ โดยสิ้นเชิงคือเป็นทั้งอุเบกขาเวทนา เป็นญาณวิปปยุตต์ และเป็นอสังขาริก ต่างจากมหากุศลจิตดวงที่ ๓ ตรงที่เป็นอุเบกขาเวทนา ต่างจากมหากุศลจิตดวงที่ ๔ ตรงที่เป็นอุเบกขาเวทนาและเป็นอสังขาริกคือเกิดขึ้นโดยไม่มีการชักชวน ต่างจากมหากุศลจิตดวงที่ ๕ ตรงที่เป็นญาณวิปปยุตต์คือไม่ประกอบด้วยปัญญา และต่างจากมหากุศลจิตดวงที่ ๖ ตรงที่เป็นอสังขาริกคือเกิดขึ้นโดยไม่มีการชักชวนและเป็นญาณวิปปยุตต์คือไม่ประกอบด้วยปัญญา จึงเกิดความรู้สึกที่เป็นองค์รวมทั้งหมดได้ ตัวอย่างเช่น นางสาวเฉื่อย กำลังตกอยู่ในภาวะคล้ายกับนางสาวแฉล้ม แต่หนักกว่านางสาวแฉล้มเสียอีก เนื่องจากไม่มีเพื่อนฝูงมาเยี่ยมเยียนปลอบใจเลย แต่เนื่องจากเป็นคนมีจิตใจเข้มแข็ง จึงสามารถอดทนต่อสู้กับปัญหาอุปสรรคเหล่านั้นได้ โดยไม่คิดสั้นตัดช่องน้อยเฉพาะตัวไป วันหนึ่ง นางสาวเฉื่อย ตื่นเช้ามาหุงหาอาหารเสร็จเรียบร้อยแล้ว ก็นั่งอยู่คนเดียว มองไปข้างหน้า หวังว่าจะมีใครสักคนหนึ่ง มาร่วมกินข้าวเช้าด้วย แต่มองไปก็ไร้วี่แวว นางสาวเฉื่อย ยังคงนั่งมองไปข้างหน้าบ้านนั้นไปอย่างไร้จุดหมายและความหวัง พอดีตาเหลือบมองไปเห็นพระสงฆ์กำลังเดินบิณฑบาตมาทางบ้านของตนเอง ด้วยอุปนิสัยที่เคยทำบุญมาบ้าง จึงคิดว่า “เราควรจะทำบุญกุศลไว้บ้าง เพื่อชีวิตจะมีอะไรดีขึ้นมา” เมื่อคิดดังนี้แล้ว จึงได้ไปตักข้าวใส่ภาชนะมารอใส่บาตรพระสงฆ์ เมื่อพระสงฆ์เดินมาถึงแล้ว จึงนิมนต์ให้หยุด แล้วบรรจงตักข้าวใส่บาตรพระสงฆ์ ด้วยคิดอธิษฐานในใจว่า “ด้วยอำนาจแห่งกุศลผลบุญนี้ ขอให้เราจงพ้นจากเคราะห์กรรมและความทุกข์ยากลำบากทั้งปวงนี้ โดยเร็วพลันเถิด” ดังนี้เป็นต้น อีกกรณีหนึ่ง เป็นจิตที่เกิดขึ้นในขณะที่พระเสกขบุคคลทั้งหลาย ที่ถูกเชื้อเชิญให้กระทำกิจต่าง ๆ ที่เป็นกุศล เช่น การปัดกวาดวิหารลานพระเจดีย์ เป็นต้น ซึ่งเป็นกิจที่ตนทำอยู่เป็นประจำ มีความถนัดและคุ้นเคยเป็นอย่างดีแล้ว จึงไม่ต้องใช้ปัญญาพิจารณาในการกระทำนั้นแต่อย่างใด แต่เนื่องจากอุปนิสัยเป็นคนสุขุมคัมภีรภาพ มีอาการวางเฉยอยู่เป็นปกติ ฉะนั้น ในขณะที่กระทำการปัดกวาดวิหารลานพระเจดีย์เป็นต้นอยู่นั้น จึงมีความรู้สึกเฉย ๆ อีกกรณีหนึ่ง เป็นจิตที่เกิดกับอบายสัตว์ คือ สัตว์นรก เปรต อสุรกาย หรือเดรัจฉาน บางจำพวก ที่มีอุปนิสัยในกุศลบารมีมาแต่ชาติปางก่อนบ้าง มีพระโพธิสัตว์ เป็นต้น เมื่อได้ประสบกับอารมณ์อย่างใดอย่างหนึ่ง ซึ่งเป็นมหากุศลวัตถุนั้น ที่ตนเองมีความคุ้นเคยมาเป็นอย่างดี ก็ทำให้เกิดมหากุศลจิตเช่นนี้ขึ้นมา หรือทำมหากุศลเช่นนั้นลงไป แต่เพราะอัธยาศัยส่วนตัวเป็นผู้มีอาการวางเฉยอยู่เป็นปกติ ไม่ชอบคลุกคลีกับสัตว์อื่น หรือมีปัญหาอุปสรรคทางด้านร่างกายก็ดี ทางด้านจิตใจก็ดี เข้ามาบั่นทอน เช่น เจ็บไข้ได้ป่วย ไม่สบาย จึงทำให้เกิดความรู้สึกเฉย ๆ ดังนี้เป็นต้น
มหากุศลจิต ดวงที่ ๘
อุเปกขาสหคตัง ญาณวิปปยุตตัง สสังขาริกัง
จิตที่เกิดขึ้นโดยมีการชักชวน พร้อมด้วยความเฉย ๆ ไม่ประกอบด้วยปัญญา
มหากุศลจิตดวงที่ ๘ นี้เป็นจิตที่เกิดขึ้นในขณะที่รับรู้อารมณ์ ๖ ทางทวาร ๖ อย่างใดอย่างหนึ่ง ที่มีสภาพเป็นบุญกิริยาวัตถุ ๑๐ ก็ดี กุศลกรรมบถ ๑๐ ก็ดี อย่างใดอย่างหนึ่ง ที่เรียกว่า มหากุศลวัตถุ เป็นจิตที่เกิดพร้อมด้วยความวางเฉย และไม่มีความรู้ความเข้าใจในสภาพอารมณ์นั้น ๆ อย่างถูกต้องตามที่เป็นจริง เนื่องจากเป็นคนไม่มีปัญญา หรือการกระทำกิจนั้น ๆ ไม่ต้องใช้ปัญญา และเป็นจิตที่เกิดขึ้นโดยต้องอาศัยการกระตุ้นเตือนหรือชักชวน เนื่องจากขาดประสบการณ์ในอารมณ์นั้น ๆ หรือเป็นเพราะความไม่พร้อมแห่งปัจจัยอื่น ๆ มาเป็นเครื่องบั่นทอนจิตใจให้เกิดความรู้สึกเช่นนั้น ฉะนั้น มหากุศลจิตดวงที่ ๘ นี้จึงต่างจากมหากุศลจิตดวงที่ ๑ โดยสิ้นเชิง คือ เป็นอุเบกขาเวทนา เป็นญาณวิปปยุตต์ และเป็นสสังขาริกด้วย ต่างจากมหากุศลจิตดวงที่ ๒ ตรงที่เป็นอุเบกขาเวทนาและเป็นญาณวิปปยุตต์ ต่างจากมหากุศลจิตดวงที่ ๓ ตรงที่เป็นอุเบกขาเวทนาและเป็นสสังขาริก ต่างจากมหากุศลจิตดวงที่ ๔ ตรงที่เป็นอุเบกขาเวทนา ต่างจากมหากุศลจิตดวงที่ ๕ ตรงที่เป็นญาณวิปปยุตต์และสสังขาริก ต่างจากมหากุศลจิตดวงที่ ๖ ตรงที่เป็นญาณวิปปยุตต์คือไม่ประกอบด้วยปัญญา และต่างจากมหากุศลจิตดวงที่ ๗ ตรงที่เป็นสสังขาริกคือเกิดขึ้นโดยมีการกระตุ้นเตือนหรือชักชวน จึงเกิดเป็นความรู้สึกที่เป็นองค์รวมทั้งหมดนี้ได้ ตัวอย่างเช่น คุณยายแสวงบุญ เป็นคนชอบทำบุญ แกจะใส่บาตรพระทุกวัน วันหนึ่ง แกได้เตรียมสำรับอาหารใส่บาตรเหมือนที่เคยทำอยู่ทุกวัน แล้วก็ยืนรอพระอยู่หน้าบ้านตามปกติ บังเอิญได้เห็นพระภิกษุรูปหนึ่งที่ประพฤติตัวไม่ดี มีศีลวิบัติ ซึ่งแกเองก็รู้เรื่องนี้ดี แกจึงไม่ต้องการใส่บาตรพระรูปนั้น จึงทำเป็นหันหน้าไปทางอื่น โดยหวังจะให้พระรูปนั้นเดินเลยไปก่อน แต่พระรูปนั้น เดินไปหยุดอยู่ตรงสำรับอาหารใส่บาตรของคุณยายแสวงบุญโดยไม่ยอมเดินเลยไป คุณยายแสวงบุญ ทำทีไม่ต้องการใส่บาตร แต่เมื่อพระรูปนั้นยังคงยืนอยู่อย่างนั้นไม่ยอมเดินเลยไป คุณยายแสวงบุญ จึงต้องทำใจใส่บาตรพระรูปนั้นไป โดยคิดว่า “ถือว่าให้ทานแก่นกกาไปก็แล้วกัน” อีกกรณีหนึ่ง เป็นจิตที่เกิดขึ้นแก่พระเสกขบุคคลทั้งหลาย ในขณะที่ถูกเชื้อเชิญให้กระทำกิจอย่างใดอย่างหนึ่งที่เป็นกุศล แต่เนื่องจากท่านไม่มีประสบการณ์หรือไม่คุ้นเคยกับกิจอย่างนั้น หรือท่านกำลังตกอยู่ในภาวะที่ไม่พร้อม เช่น เกิดอาการป่วยไข้ ร่างกายไม่สบาย หรือจิตใจมีปัญหากระทบกระเทือนอย่างรุนแรง ที่ต้องทำใจอย่างหนัก เป็นต้น แต่เมื่อได้รับเชื้อเชิญแล้วและเห็นว่ากิจโดยชอบที่สมควรทำ ท่านจึงต้องฝืนร่างกายหรือฝืนจิตใจกระทำกิจนั้น ๆ ลงไปเพื่อมิให้บกพร่อง แต่เนื่องจากกิจการงานนั้นเป็นสิ่งที่ท่านมีความถนัดเจนจัดและชำนาญเพราะทำเป็นประจำอยู่แล้วจึงไม่ต้องใช้ปัญญาคิดพิจารณาหาวิธีการที่จะทำให้ถูกต้องแต่ประการใดเลย หรืออีกกรณีหนึ่ง เป็นจิตที่เกิดแก่อบายสัตว์ คือ สัตว์นรก เปรต อสุรกาย หรือเดรัจฉานบางจำพวก ซึ่งมีอุปนิสัยเคยสั่งสมบุญมาบ้าง มีพระโพธิสัตว์เป็นต้น แต่ว่าสัตว์นั้นตกอยู่ในภาวะความลำบาก มีปัญหาอุปสรรคบางอย่างเข้ามาบีบคั้นอย่างหนัก ที่ต้องฝืนทำใจให้กุศลความดีนั้นสำเร็จไปดังที่ตนเองมุ่งหวังตั้งใจไว้ ตัวอย่างเช่น แม่นกตัวหนึ่ง มีลูกยังเล็กตัวแดง ๆ อยู่ วันหนึ่ง แม่นกนั้นก็ออกไปหากินและเพื่อหาเหยื่อมาป้อนลูกน้อยตามปกติ แต่ว่าวันนั้น แม่นกโชคร้าย ถูกนายพรานยิงได้รับบาดเจ็บ เลือดไหลโทรมกาย แต่ด้วยความรักความเป็นห่วงลูกน้อยที่นอนคอยอยู่ในรัง แม่นกนั้นก็ต้องกระเสือกกระสนฝืนใจโผผินไปสู่รัง เพื่อนำเหยื่อมาป้อนลูกน้อยให้ได้ และคิดว่า ถ้าตนเองตายก็จะได้เห็นหน้าลูกและสั่งเสียลูกเป็นครั้งสุดท้าย แม่นกนั้น จึงพยายามรวบรวมกำลังเพื่อบินโซซัดโซเซไปหาลูกจนได้ ฉะนั้น การที่แม่นกนั้น มีความรักความเป็นห่วงลูกน้อยของตนเองนั้น ย่อมจัดเป็นมหากุศลจิต ที่เกิดพร้อมด้วยเมตตาและกรุณา [เกิดคนละขณะกัน] แต่ว่าแม่นกนั้น ตกอยู่ในภาวะถูกความทุกข์บีบคั้น คือ ถูกยิงได้รับบาดเจ็บสาหัส จึงต้องวางเฉยแข็งใจบินคาบเหยื่อไปให้ลูกน้อยของตนจนได้
เพราะฉะนั้น มหากุศลจิตทั้ง ๘ ดวงที่กล่าวมานี้ จึงสามารถเกิดได้กับบุคคลทุกประเภท ที่มีจิตเกิดได้ ทั้งสัตว์นรก เปรต อสุรกาย เดรัจฉาน มนุษย์ เทวดา มาร พรหม หรือทั้งปุถุชน และพระเสกขบุคคล คือ พระโสดาบัน พระสกทาคามี และพระอนาคามี [ยกเว้นพระอรหันต์ ที่เปลี่ยนสภาพจิตจากมหากุศลจิตไปเป็นมหากิริยาจิตแล้วเท่านั้น] ด้วยการปรารภบุญกิริยาวัตถุ ๑๐ ก็ดี กุศลกรรมบถ ๑๐ ก็ดี อย่างใดอย่างหนึ่ง ที่เรียกว่า มหากุศลวัตถุ อันมีสภาพเป็นอารมณ์ ๖ อย่าง อย่างใดอย่างหนึ่ง คือ เป็นรูปารมณ์ สัททารมณ์ คันธารมณ์ รสารมณ์ โผฏฐัพพารมณ์ หรือธรรมารมณ์ ซึ่งในมหากุศลจิตแต่ละดวงนั้น อาจมีคุณภาพแตกต่างกันออกไปบ้าง ตามสมควรแก่อุปนิสัยบารมีและขอบเขตในการรับรู้ของบุคคลนั้น ๆ ที่สามารถเกิดได้ หมายความว่า ในมหากุศลจิตดวงเดียวกันนั้น [หรือประเภทเดียวกันนั้น] อาจมีคุณภาพหรือประสิทธิภาพในความรู้สึกที่แตกต่างกันได้ ตามสมควรแก่สภาพบุคคล และสภาพจิตใจที่จะรับอารมณ์นั้น ๆ ได้นั่นเอง
อนึ่ง มหากุศลจิตนี้ ที่ยกตัวอย่างมานั้น เป็นแต่เพียงกิจการงานที่เป็นไปในสภาพของสัตว์ทั่วไป แต่ถ้าจะกล่าวถึงในฐานะที่เป็นบาทเบื้องต้นให้เกิดฌาน อภิญญา มรรค ผล แล้ว มหากุศลจิตทั้ง ๘ ดวง สามารถเกิดได้กับบุคคลที่เริ่มเจริญสมถะหรือวิปัสสนา ตั้งแต่ในระดับเริ่มต้นที่เพ่งบริกรรมอารมณ์ของสมถะ หรือ การกำหนดพิจารณาสภาพธรรมทั้งปวงโดยความเป็นรูปนาม อาจเกิดพร้อมปัญญา หรือว่าทำไปตามอำนาจของสัญญาที่ครูบาอาจารย์บอกสอนให้ก็ได้ แต่เมื่อนิมิตของอารมณ์นั้นปรากฏถึงปฏิภาคนิมิต จิตเข้าไปสงบในอารมณ์ถึงขั้นอุปจารสมาธิ ปัญญาจะต้องเกิดขึ้นเพื่อรับรู้สภาพนิมิตอารมณ์และวิธีการในการปรับเปลี่ยนสภาพของจิตเพื่อรักษานิมิตของอารมณ์นั้นไว้ไม่ให้หลุดหายไปและพัฒนาสมาธิจิตให้มีความแนบแน่นยิ่งขึ้นโดยลำดับจนกว่าจะถึงอัปปนาสมาธิเกิด จึงจะเปลี่ยนจากมหากุศลจิตไปเป็นฌานกุศลจิต หรือในการเจริญวิปัสสนานั้น เมื่อกำหนดแยกรูปแยกนามได้ถูกต้องแล้วและสามารถกำหนดรู้ปัจจัยที่ทำให้เกิดรูปนาม ที่เรียกว่า นามรูปปริจเฉทญาณและปัจจยปริคคหญาณแล้ว ปัญญาต้องเกิดขึ้นเพื่อทำการรับรู้สภาพของอารมณ์นั้นด้วยความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องโดยความเป็นสภาพปรมัตถ์ และโดยความเป็นแต่เพียงสภาวธรรมเท่านั้น ไม่ใช่สัตว์ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน เราเขา ทั้งโดยสุตมยปัญญาก็ดี จินตามยปัญญาก็ดี หรือภาวนามยปัญญาก็ดี ก็ชื่อว่า เกิดพร้อมด้วยปัญญาเช่นเดียวกัน จึงจะสามารถกำหนดพิจารณารู้โดยสภาวะที่เป็นจริงได้โดยถูกต้อง ฉะนั้น จึงเรียกว่า ญาณ ซึ่งแปลว่า ความรู้หรือปัญญานั่นเอง
ด้วยเหตุนี้ มหากุศลจิต จึงเกิดขึ้นตั้งแต่เริ่มกำหนดเพ่งสมถะอารมณ์เป็นต้นไป จนกว่าจะถึงอัปปนาสมาธิเกิด แต่ในช่วงขณิกสมาธินั้น อาจมีการสลับสับเปลี่ยนสภาพของจิตไปเป็นอกุศลจิตบ้าง เนื่องจากสมาธิจิตยังมีกำลังอ่อนอยู่ แต่เมื่อถึงอุปจารสมาธิแล้ว สมาธิจิตมีกำลังแก่กล้ามากขึ้น การที่จิตจะหลุดไปเป็นอกุศลนั้นมีน้อยเต็มที จนเมื่อถึงอัปปนาสมาธิแล้ว สภาพฌานกุศลจิตมีความแนบแน่นในอารมณ์เต็มที่แล้ว สมาธิจิตจึงไม่มีการหลุดจากอารมณ์ จนกว่าจะออกจากฌาน ในส่วนของวิปัสสนานั้น ตั้งแต่เริ่มกำหนดพิจารณาสภาพของรูปนาม โดยไม่ฟุ้งซ่านซัดส่ายไปในอารมณ์อื่น จิตก็เป็นมหากุศลเรื่อยไป จนวิปัสสนาญาณเริ่มปรากฏเกิดขึ้นโดยลำดับ ตั้งแต่ญาณที่ ๑ คือ นามรูปปริจเฉทญาณ จนถึงญาณที่ ๑๑ คือ สังขารุเปกขาญาณ นั้น วิถีจิตยังเป็นกามวิถีทั่วไปอยู่ ซึ่งชวนจิตมีแต่มหากุศลชวนะเท่านั้นเกิดขึ้น จนถึงญาณที่ ๑๒ คือ อนุโลมญาณ ญาณที่ ๑๓ คือ โคตรภูญาณ ซึ่งเป็นญาณที่อยู่ในอัปปนาวิถีคือมรรควิถีแล้ว แต่ว่าญาณทั้ง ๒ นี้ จัดเป็นปัญญาในมหากุศลญาณสัมปยุตตจิต เช่นเดียวกัน ต่อเมื่อมรรคญาณเกิดขึ้นต่อจากโคตรภูญาณแล้ว จึงเปลี่ยนจากมหากุศลญาณสัมปยุตตจิต ไปเป็นมรรคจิต หรือ โลกุตตรกุศลจิต และผลญาณ คือโลกุตตรวิปากจิตต่อไป เมื่อสิ้นสุดมัคควิถีแล้ว ปัจจเวกขณวิถีที่เกิดขึ้นทำการพิจารณากิเลสที่ละแล้ว กิเลสที่ยังเหลืออยู่ มรรค ผล นิพพาน ก็เป็นมหากุศลญาณสัมปยุตตจิตอีก [ส่วนพระอรหันต์นั้นเป็นมหากิริยาญาณสัมปยตตจิต] ฉะนั้น จึงกล่าวว่า มหากุศลจิตนั้น เป็นกุศลจิตที่มีความกว้างขวางในฐานะเป็นบาทเบื้องต้นแห่งฌาน อภิญญา มรรค ผล นั่นเอง