ไปยังหน้า : |
การที่บุคคลจะเกิดอุทธัจจะ คือ ความฟุ้งซ่านซัดส่ายไปในอารมณ์ต่าง ๆ จนไม่สามารถสงบระงับอยู่ในอารมณ์อันเป็นกุศลได้นั้น มีเหตุปัจจัยสนับสนุน ๗ ประการ อย่างใดอย่างหนึ่ง หรือหลายอย่างรวมกัน กล่าวคือ
๑. อัปปะสุตะตา เป็นบุคคลผู้มีการศึกษาน้อย หมายความว่า เมื่อบุคคลเป็นผู้มีการศึกษาน้อย ทำให้สะสมความไม่รู้และหมักหมมความไม่เข้าใจไว้ ทำให้คิดฟุ้งซ่านไปในสิ่งที่ตนไม่รู้ไม่เข้าใจนั้น โดยไม่รู้จะตัดสินใจทำอะไรดี จึงมักปล่อยวันเวลาให้ล่วงเลยไปโดยเปล่าประโยชน์ ความดีความงามหรือประโยชน์ต่าง ๆ ไม่ค่อยได้ทำให้เกิดขึ้น เพราะถูกความฟุ้งซ่านขวางกั้น ทำให้ขาดความมั่นใจ ที่จะริเริ่มทำสิ่งต่าง ๆ ลงไป ถ้ายังไม่สามารถคลายหรือบรรเทาให้เบาบางลงได้แล้ว ย่อมทำให้หมักหมมความฟุ้งซ่าน จนบางคนกลายเป็นคนบ้าเสียสติ หรือจิตวิปปลาสไปก็มี
๒. อะปะริปุจฉะตา เป็นบุคคลที่ไม่ชอบสอบสวนทวนถามท่านผู้รู้ หมายความว่า เมื่อตนเองไม่มีความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง ก็มักเก็บกดความไม่รู้ไม่เข้าใจนั้นไว้ ไม่กล้าซักถามท่านผู้รู้ หรือชอบถามแต่ผู้ไม่รู้จริง ยิ่งสะสมความไม่รู้ให้เพิ่มพูนขึ้นไปอีก เพราะไม่ได้รับรู้ข้อมูลที่ถูกต้องตามความเป็นจริง ทำให้คิดคาดคะเนเอาเองและเกิดความฟุ้งซ่านหนักขึ้นไปอีก
๓. อะวินะเย ปะกะตัญญุตา เป็นบุคคลที่ไม่รอบรู้และไม่เคร่งครัดในระเบียบวินัย หมายความว่า บุคคลที่ไม่ค่อยมีระเบียบวินัย และไม่ได้ศึกษาเรียนรู้เรื่องระเบียบวินัยให้ถูกต้อง ย่อมเป็นเหตุให้เป็นคนขาดระเบียบวินัยกับตนเองและสังคม ทำให้คนอื่นไม่ปรารถนาจะคบหาสมาคมด้วย และไม่ได้รับความเชื่อถือไว้วางใจจากบุคคลในสังคม ทำให้เกิดปมด้อยของชีวิต และบางคนก็ไม่รู้สึกตัวว่าตนเองทำอะไรผิดไป สังคมจึงไม่ให้ความสำคัญ หรือทั้งที่รู้อยู่ แต่ด้วยอำนาจมานะทิฏฐิจึงไม่ยอมปรับปรุงตัวเอง มักปล่อยตัวปล่อยใจไปตามอำนาจกิเลส ประพฤติผิดศีลธรรมของศาสนา และขนบธรรมเนียมประเพณีอันดีงามของสังคม จนทำให้เป็นที่รังเกียจของสังคม เมื่อหมักหมมนานเข้า ย่อมเกิดความคิดฟุ้งซ่านไปในหนทางชีวิตที่ผิดพลาดของตนเองที่ดำเนินผ่านมาแล้ว และที่จะก้าวต่อไปข้างหน้าว่า ควรจะทำอย่างไรดี ที่เคยดำเนินมานั้นถูกหรือผิด ดังนี้เป็นต้น จึงทำให้ขาดความมั่นใจในหนทางชีวิตและเกิดความท้อแท้เบื่อหน่าย ไม่ขวนขวายในการแสวงหาความรู้และการสร้างคุณงามความดีต่อไป ได้แต่ครุ่นคิดฟุ้งซ่านอยู่ร่ำไป จนบางครั้งต้องคิดสร้างวิมานในอากาศ เช่น คิดให้ตนเป็นวีรบุรุษ ผู้ประสบผลสำเร็จทุกอย่าง เป็นต้น เพื่อเป็นการกลบเกลื่อนความรู้สึกหดหู่ใจในความผิดพลาดของชีวิตจริง กลายเป็นบุคคลผู้มีปมด้อยในชีวิต จนยากที่จะแก้ไขได้
๔. พุทธาเสริตา เป็นบุคคลผู้ไม่ได้ฟังธรรมของพระพุทธเจ้า หมายความว่า เป็นบุคคลที่ไม่ได้ฟัง หรือไม่ค่อยได้พระฟังสัทธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า จากกัลยาณมิตร หรือไม่ได้อ่านหนังสือตำหรับตำราต่าง ๆ ที่ถูกต้อง แต่มักได้ฟังเรื่องราวต่าง ๆ ที่ไร้สาระไม่เป็นแก่นสาร จึงไม่ได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง ทำให้เกิดความคิดฟุ้งซ่าน ไม่มั่นใจในเรื่องราวที่ตนเองรู้มา ถ้ายังไม่ได้แก้ไขให้ถูกต้อง ย่อมสะสมพอกพูนยิ่งขึ้น กลายเป็นปมด้อยของชีวิตไป
๕. ปาปะมิตตะตา เป็นบุคคลที่ชอบคบคนชั่วเป็นมิตร หมายความว่า เป็นบุคคลที่ชอบคบหาสมาคมกับบุคคลผู้มีความคิดความเห็นที่ไม่ถูกต้องตามทำนองคลองธรรม และมีพฤติกรรมไปในทางที่ไม่ดี ทั้งชอบแนะนำบุคคลอื่นไปในทางที่เสื่อมเสีย ก่อทุจริตต่าง ๆ อยู่เป็นนิตย์ เมื่อบุคคลเข้าไปคบหาสมาคมบุคคลเช่นนี้อยู่เสมอ ๆ ย่อมชักนำไปในทางฉิบหาย ชวนให้กระทำทุจริตกรรมต่าง ๆ ไปด้วย เมื่อบุคคลได้กระทำทุจริตลงไปแล้ว ครั้นเกิดจิตสำนึกได้ภายหลัง ความผิดพลาดบางอย่างนั้นอาจเป็นการสายเกินไปที่จะแก้ไขได้ ทำให้หนทางชีวิตของบุคคลนั้นมืดมน เป็นเหตุให้เกิดความคิดฟุ้งซ่านไปในเหตุการณ์ที่ผ่านมาและความผิดพลาดที่ได้เคยก่อขึ้น จนทำให้ไม่มั่นใจที่จะตัดสินใจกระทำความดีต่าง ๆ โดยคิดว่า ตนเองมีความผิดพลาดหรือเป็นคนชั่วไปแล้วจะสามารถสร้างคุณงามความดีได้อีกหรือไม่หนอ หรือว่าหนทางไหนเป็นหนทางผิด หนทางไหนเป็นหนทางที่ถูกต้องกันหนอ ดังนี้เป็นต้น เพราะขาดความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องนั่นเอง
๖. อะสัปปายะกะตา เป็นบุคคลที่ไม่ได้ฟังสิ่งที่เป็นสัปปายะ หมายความว่า เป็นผู้ที่ไม่เคยได้รับฟังข้อมูลที่ถูกต้องให้คลายความฟุ้งซ่าน ได้ฟังแต่ข้อมูลที่ทำให้เกิดความฟุ้งซ่านหมักหมมอยู่ในใจ เนื่องจากขาดเหตุปัจจัย คือ ไม่ได้คบหาสมาคมกับสัตบุรุษ และไม่ได้ฟังธรรมคำสอนจากสัตบุรุษ จึงทำให้เก็บกดความไม่รู้นั้นไว้ จนกลายเป็นความมืดมิด จิตใจไม่ปลอดโปร่ง ทำให้เกิดความฟุ้งซ่านอยู่เรื่อยไป
๗. กิเลสาวิทูระกะตา เป็นบุคคลที่หมักหมมเรื่องอาสวะ หมายความว่า เป็นบุคคลที่ถูกกิเลสรุมเร้า หรือชอบหมักหมมในกองกิเลส จนปิดกั้นใจไม่ให้รู้ไม่ให้เข้าใจอย่างถูกต้องตามความเป็นจริง ทำให้เกิดความคิดฟุ้งซ่าน เพราะความไม่รู้ไม่เข้าใจในสิ่งต่าง ๆ ที่ประสบพบเห็น จึงคิดคาดคะเนเดาเอาตามความคิดความเห็นของตน เป็นเหตุให้หมักหมมความไม่รู้ สั่งสมความไม่เข้าใจไว้ อันเป็นเหตุให้ฟุ้งซ่านหนักขึ้นไปอีก
เหตุปัจจัยแต่ละอย่างเหล่านี้ ทำให้เกิดความฟุ้งซ่าน ที่เรียกว่า อุทธัจจะ เพราะฉะนั้น ผู้ศึกษาพึงพิจารณาให้เข้าใจอย่างถี่ถ้วนและกำหนดให้รู้เท่าทันแล้วหาวิธีป้องกันและแก้ไขเหตุปัจจัยของอุทธัจจะไม่ให้เกิดขึ้น หรือเมื่อเกิดขึ้นแล้วย่อมสามารถทำให้บรรเทาเบาบางลงไปได้