ไปยังหน้า : |
สัตว์ทั้งหลาย ที่โลดแล่นแสดงบทบาทและลีลาชีวิตอยู่บนเวทีโลก เปรียบเหมือนตัวละครแห่งสังสารวัฏ มีปฏิกิริยาที่แสดงออกมาแตกต่างกัน บางครั้ง สดใสร่าเริง บางครั้งหงอยเหงาทุกข์ร้อน บางครั้งกำหนัดละโมบโลภมาก บางครั้งโหดร้ายทารุณ หงุดหงิดรำคาญใจ บางครั้งโง่เขลางมงาย บางครั้งเย่อหยิ่งจองหองลำพองตน บางครั้งใจดี มีศรัทธาเลื่อมใส บางครั้งผ่อนคลายความละโมบยึดถือ บางครั้งมีเมตตา กรุณา มุทิตา บางครั้งวางเฉยในสรรพสัตว์และสรรพสิ่งทั้งปวง บางครั้งเกิดปัญญารู้เข้าใจสิ่งทั้งปวงโดยถูกต้อง บทบาทและลีลาของสัตว์ทั้งหลายที่แสดงอยู่บนเวทีโลกได้นั้น สิ่งสำคัญที่อยู่เบื้องหลังของการแสดงปฏิกิริยาต่าง ๆ ออกมาได้นั้น ก็คือ สภาวธรรมที่ปรากฏขึ้นพร้อมกับจิตใจของสัตว์ทั้งหลาย เรียกว่า เจตสิก แปลว่า สภาวธรรมที่เกิดในจิตเป็นประจำ เจตสิกทั้งหลาย มีความเป็นไปเคียงคู่กับจิตโดยแยกออกจากกันไม่ได้ คือ เกิดพร้อมกับจิต รับรู้สิ่งต่าง ๆ พร้อมกับจิต อาศัยสถานที่เกิดอันเดียวกับจิต และเวลาดับก็ดับไปพร้อมกับจิตด้วย
เจตสิก เป็นสภาวธรรมที่เกิดในจิตหรือประกอบกับจิตเสมอไม่สามารถเกิดขึ้นตามลำพังโดยปราศจากจิตได้เลย ดังมีวจนัตถะว่า เจตะสิ ภะวัง = เจตะสิกัง [วา] เจตะสิ นิยุตตัง = เจตะสิกัง แปลความว่า ธรรมชาติที่เกิดในจิตหรือธรรมชาติที่มีในจิต ชื่อว่า เจตสิก [หรืออีกนัยหนึ่ง] ธรรมชาติที่ประกอบในจิตเป็นนิตย์ ชื่อว่า เจตสิก ฉะนั้น จึงสรุปได้ว่า ธรรมชาติที่ชื่อว่า เจตสิก นี้หมายถึง สภาวธรรมที่เกิดร่วมในจิต หรือสภาวธรรมที่ประกอบในจิตอยู่เป็นนิตย์ เกิดแยกจากจิตไม่ได้ จึงเรียกว่า เจโตยุตตลักษณะ แปลว่า ลักษณะของเจตสิกที่ประกอบกับจิตเป็นนิตย์ อนึ่ง จิตจะเกิดขึ้นโดยไม่มีเจตสิกประกอบร่วมด้วย ย่อมเป็นไปไม่ได้เช่นเดียวกัน ด้วยเหตุนี้ จิตกับเจตสิกทั้ง ๒ ประการนี้ จึงเรียกว่า สัมปยุตตธรรม แปลว่า สภาวธรรมที่ประกอบกันอย่างกลมกลืนโดยลักษณะ ๔ ประการ ดังที่ท่านพระอนุรุทธาจารย์ได้แสดงคาถาสังคหะไว้ว่า
เอกุปปาทะนิโรธา จะ | เอกาลัมพะณะวัตถุกา | |
เจโตยุตตา ท๎วิปัญญาสะ | ธัมมา เจตะสิกา มะตา ฯ |
แปลความว่า
นักศึกษาทั้งหลาย พึงทราบธรรมชาติของเจตสิก ซึ่งมีจำนวน ๕๒ ดวง ที่ประกอบกับจิต มีลักษณะดังนี้ คือ เกิดพร้อมกับจิต ดับพร้อมกับจิต มีอารมณ์อันเดียวกับจิต มีที่อาศัยเกิดอย่างเดียวกับจิต
พระอนุรุทธาจารย์แสดงคาถานี้ เพื่อจะขยายความของคำว่า เจตะสิกัง ที่ได้แสดงไว้ในอารัมภบทเบื้องต้นของอภิธัมมัตถสังคหะปกรณ์ [หมายเอาที่กล่าวไว้ในอารัมภบทเบื้องต้นแห่งปริจเฉทที่ ๑] ที่ว่า “จิตตัง เจตะสิกัง รูปัง นิพพานะมิติ สัพพะถา” แปลความว่า ปรมัตถธรรมนั้น เมื่อว่าโดยประการทั้งปวงแล้ว มีอยู่เพียง ๔ ประการเท่านั้น คือ จิต เจตสิก รูป นิพพาน [เรื่องจิตนั้นได้แสดงไปแล้วในปริจเฉทที่ ๑ ว่าด้วยเรื่องจิตตปรมัตถ์] และเพื่อให้นักศึกษาทั้งหลายได้ทราบถึงลักษณะอาการที่ประกอบกับจิตของเจตสิก ๕๒ ดวงเหล่านี้ ที่เรียกว่า เจโตยุตตลักษณะ ซึ่งประกอบพร้อมด้วยลักษณะ ๔ ประการ คือ เอกุปปาทะ เอกนิโรธะ เอกาลัมพนะ และ เอกวัตถุกะ ลักษณะการประกอบกันอย่างกลมกลืนด้วยลักษณะ ๔ อย่างเหล่านี้ [ถ้าในอรูปภูมิ มี ๓ อย่าง ยกเว้นเอกวัตถุกะ เพราะอรูปภูมิไม่มีวัตถุรูปเป็นที่อาศัยเกิดของจิตเจตสิกเลย] เรียกว่า สัมปยุตตธรรม